xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดหงส์รัตนาราม พระอารามประจำพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ตามประวัติกล่าวว่า เดิมชื่อ “วัดเจ้าขรัวหง” เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเศรษฐีชาวจีนชื่อนายหง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ได้กำหนดเขตพระราชฐานขึ้น วัดหงส์ฯจึงเป็นวัดที่ติดกับพระบรมราชวัง ใน พ.ศ. 2319 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระราชศรัทธาขยายพระอารามให้ใหญ่โตขึ้น ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ ศาลาการเปรียญ และกุฏิเสนาสนะทั้งวัด และทรงยกย่องให้เป็นพระอารามหลวงสำคัญ พร้อมถวายสร้อยนามวัดอย่างเป็นทางการว่า “วัดหงษ์อาวาสวิหาร”

พระอารามแห่งนี้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มาตลอดรัชสมัยของพระองค์ และพระองค์มักเสด็จมานั่งวิปัสสนากรรมฐานในพระอุโบสถเสมอ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงชักชวนสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์วัดหงส์ เนื่องจากอยู่ใกล้พระราชวังของพระองค์ แต่การยังไม่แล้วเสร็จ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีก็สิ้นพระชนม์ก่อน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับพระราชภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อ จนกระทั่งการเสร็จแต่ยังไม่บริบูรณ์นัก ก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปฏิสังขรณ์ต่อมาจนแล้วเสร็จสวยงาม และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดหงส์รัตนาราม”

สิ่งสำคัญในวัดหงส์รัตนารามมีมากมาย อาทิ

• พระอุโบสถ กว้าง 19.50 เมตร ยาว 42 เมตร หลังคาเป็นมุขลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันทำเป็น 2 ชั้น ชั้นบนประดับลายรูปหงส์ ชั้นล่างทำเป็นพื้นเรียบเจาะเป็นช่อง 4 เหลี่ยม 2 ช่อง ภายในช่องประดับด้วยลายปูนปั้นปิดทองรูปหงส์

ภายในพระอุโบสถมีเสาอยู่ด้านข้าง 2 ข้าง ประดับลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งเป็นรูปพันธุ์พฤกษา ฐานเสาเป็นลายเชิง ผนังพระอุโบสถด้านในเหนือระดับหน้าต่าง เป็นจิตรกรรมรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งลายดอกไม้ ภาพเขียนระหว่างช่องหน้าต่างเป็นเรื่องพุทธประวัติ ส่วนบนกรอบประตูและหน้าต่างมีกรอบไม้จำหลักมีภาพจิตรกรรมเรื่องรัตนพิมพวงศ์ (ประวัติพระแก้วมรกต) ตั้งแต่แรกสร้าง

• พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง 2.60 เมตร สูง 3.50 เมตร ไม่มีพระนามและไม่ทราบประวัติว่าสร้างขึ้นในสมัยใด

• หลวงพ่อแสน เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอกเศษ โลหะเนื้อสัมฤทธิ์สีทองต่างกันเป็น 4 ชนิด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระแสน มาประดิษฐานเบื้องหน้าพระประธานในพระอุโบสถ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ประวัติไว้ว่า “พระแสน (เมืองเชียงแตง) พระพุทธรูปองค์นี้ เชิญมาแต่เมืองเชียงแตง เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2401 ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม”

หลวงพ่อแสนเป็นที่เคารพกราบไหว้ของพุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก เพราะถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

• พระพุทธรูปทองโบราณ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ มีวรรณะสีทองอ่อนดุจทองคำแท้ แต่เดิมนั้นหุ้มปูนพอกไว้ให้มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาเมื่อ ปี 2499 พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามในขณะนั้น ได้พบรอยกะเทาะของปูนหุ้มที่พระอุระหลุดออก เห็นเนื้อในเป็นทองสีสุกปลั่ง เป็นทองโบราณสมัยสุโขทัย รุ่นเดียวกับหลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรวิทยาราม

• พระวิหาร ตั้งหันหน้าขวางเข้าหาพระอุโบสถ มีประตูเข้าออกได้ด้านเดียวทางพระอุโบสถ วิหารหลังนี้ได้สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารเดิมที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสร้างไว้

โดยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปทองโบราณ ทอดพระเนตรเห็นพระวิหารชำรุดทรุดโทรมมาก จึงมีพระราชดำรัสแก่พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาส ว่า

“พระวิหารนี้ ถ้ามีผู้มีจิตศรัทธาจะสร้างใหม่ ต้องสร้างให้เหมือนแบบเดิมทุกกระเบียด ตลอดจนลวดลาย ตามสมัยแบบเดิมทั้งสิ้น เพื่อรักษาแบบเดิม ดำรงไว้ซึ่งแบบโบราณสมัยของวัดหงส์รัตนารามนี้ มีอายุนับเป็นร้อยปี ใกล้พระราชนิเวศน์โดยแท้จริง”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม และได้ทรงยกช่อฟ้าพระวิหารหลังนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงกัน 5 องค์ โดยมีพระพุทธรูปทองโบราณประดิษฐานอยู่ตรงกลาง

• ศาลพระเจ้าตาก ตั้งอยู่ที่ริมคลองคูวัด เชิงสะพานข้ามคลองหน้าวัด ด้านทิศตะวันตก ประชาชนในละแวกใกล้เคียง พร้อมใจกันสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์ เดิมเป็นศาลไม้ แต่ปัจจุบันสร้างใหม่เป็นศาลก่ออิฐถือปูน ภายในประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนเป็นอย่างมาก

• สระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ กว้าง 6 วา ยาว 26 วา ลึก 1.50 เมตร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะเสด็จมาสรงน้ำที่นี่เมื่อมีพิธีสำคัญของแผ่นดิน ที่กลางสระน้ำจะมีหินอาคมอยู่ เชื่อกันว่าผู้ใดที่ได้อาบดื่มกิน จะได้ผลสัมฤทธิ์ดังที่อธิษฐานไว้

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา วัดหงส์รัตนารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยลำดับ จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ล่าสุด ปี 2557 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้ามาสนับสนุนงานบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร ภูมิทัศน์เขตพุทธาวาส และงานปรับปรุงท่าน้ำ โดยในปี 2558 จะเริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเป็นเบื้องต้น

ที่สำคัญ ในหนังสือประวัติวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ได้ระบุว่า วัดหงส์รัตนารามนี้ ถือว่าเป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุที่ในการพระราชพิธีสงกรานต์นั้น เจ้าอาวาสวัดหงส์จะต้องเข้าไปในการสดับปกรณ์พระบวรอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่หอพระนาคในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำทุกปี

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
ภายในวิหาร
หลวงพ่อแสน
พระทองโบราณ
พระอุโบสถ
ศาลพระเจ้าตาก
สระน้ำศักดิ์สิทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น