ประธานที่ปรึกษาวัดกัลยาฯเมินกรมศิลป์เดินหน้าบูรณะเตรียมฉลอง 190 ปี พร้อมอ้างศาลยังไม่ชี้ชัดขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถาน
วันนี้ (19 มี.ค.) นายวัชรา พรหมเจริญ ประธานที่ปรึกษาวัดกัลยาฯ ได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าว ระบุว่า สิ่งที่วัดดำเนินการอยู่ทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยนำหลักฐานและเอกสารมาประกอบ ตั้งแต่หนังสือประกาศการขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร วันที่ 22 พ.ย. 2492 เรื่องขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัด 28 แห่ง โดยในส่วนของวัดกัลยาฯ ระบุเพียงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วัดจึงไม่ทราบว่า ขึ้นทะเบียนอะไร และกรมศิลปากรก็ไม่มีหนังสือแจ้งให้วัดทราบ ทางวัดจึงดำเนินการพัฒนาวัดเรื่อยมา
นายวัชรา กล่าวว่า ต่อมาในปี 2546 กรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจบัญชีโบราณสถานวัด พร้อมแจ้งจับวัดว่า ทำลายโบราณสถานโดยไม่ขออนุญาตกรมศิลปากร ทางวัดก็ได้ชี้แจงว่า ได้ทำหนังสือที่ทำเรื่องขออนุญาตบูรณะวัด กับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ไปเมื่อปี 2546 ปี 2550 และฉบับที่ 3 ปี 2551 ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ วัดจึงปรับปรุงโดยในปีเดียวกันนี้ กรมศิลปากรก็เข้ามาดำเนินคดีกับวัด และฟ้องดำเนินคดี แต่อัยการไม่สั่งฟ้อง เพราะทางวัดไม่มีเจตนาที่จะทำลาย ต่อมาในปี 2554 วัดจึงทำหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตพุทธาวาส” อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผ่านสำนักราชเลขาธิการ จนกระทั่งในวันที่ 2 ธ.ค. 54 ท่านผู้หญิง บุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ได้ส่งหนังสือแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระมหากรุณาให้โครงการปฏิสังขรณ์ฯ เขตพุทธวาส ได้แก่ งานบูรณปฏิสังขรณ์หอพระธรรม มณเฑียรเถลิงพระเกียรติ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง และพระวิหารน้อย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตามที่ขอพระมหากรุณา และทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ได้เข้ามาดำเนินการโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 500 - 600 ล้านบาท ซึ่งหนังสือดังกล่าวส่งไปเพราะวัดยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นโบราณสถานบ้าง
“เรื่องที่กรมศิลปากรแจ้งความทางวัด ยืนยันว่า กระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ยังอยู่ในชั้นศาลคดียังไม่สิ้นสุด และที่มาแจ้งความก็เป็นจุดที่ยังไม่ได้ระบุว่า ขึ้นทะเบียน เพราะวัดก็มีเอกสารของวัดอยู่ ส่วนในเขตโบราณสถานที่อ้างว่าวัดได้ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้มีเขต สำหรับพระอุโบสถ พระวิหารหลวง พระวิหารน้อย หอมณเฑียรธรรมเฉลิมพระเกียรติ หรือ หอไตร อยู่ในโครงการพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ปี 2554 เวลา วัดได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้โครงการอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว กรมศิลปากรต้องออกหนังสืออนุญาตให้ดำเนินการในโครงการ และต้องระบุคำที่ถูกต้อง อย่าใช้คำว่าบูรณะโบราณสถานโดยไม่ได้รับการอนุญาต เพราะโบราณสถานมีแค่พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารน้อย หอมณเฑียรธรรมเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องรอศาลตัดสิน ขณะที่รายละเอียดการบูรณะต้องถามสำนักงานทรัพย์สินฯ”
นายวัชรา กล่าวอีกว่า กรณีศาลาราย ที่กรมศิลปากรระบุว่า เป็นศาลารายสมัย ร.3 นั้น วัดมีหลักฐานว่าศาลารายพังหมดแล้ว มีการบันทึกภาพถ่ายทั้งหมดว่า พังตั้งแต่สมัย ร.5 - ร.7 เหลือเพียง 2 หลัง แต่ที่ในปัจจุบันเป็นเก๋งจีน เข้าใจว่า ทำในสมัย ร.9 ในระหว่างที่รื้อถอนยังเจอเหล็กเส้นครบถ้วน วัดจะมีภาพเก่า ทั้งนี้ หากศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีดังกล่าว ทางวัดไปฟ้องที่ศาลปกครองขอพิจารณาคดีใหม่ หากมีคำตัดสินก็ถือว่าเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม ยังคงยืนยันดำเนินการต่อไปแม้คดียังอยู่ในการพิจารณาชั้นศาล เนื่องจากวัดจะมีการจัดงานเฉลิมฉลอง ครบรอบ 190 ปี ในอีก 2 ปี จึงอยากให้แล้วเสร็จทัน และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการบูรณะเก๋งจีน ปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าน้ำให้สวยงาม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่