วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตก ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี
มูลเหตุแห่งการสร้างพระอารามแห่งนี้มีกล่าวไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2367 พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชชนนี(เรียม) ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย
ต่อมาทรงพระราชดำริว่า บริเวณป้อมปราการเก่าที่ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตลาดขวัญ เมืองนนทบุรี เป็นนิวาสถานเดิมแห่งพระอัยกา(ตา) พระอัยกี(ยาย) ของพระองค์ และยังเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุลาไลย พระราชชนนีพันปีหลวง สมควรที่จะสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงสักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง
ด้วยเหตุนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น เมื่อ พ.ศ. 2390 โดยได้เสด็จฯไปทรงก่อพระฤกษ์พระอุโบสถด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2390 และโปรดให้สร้างกำแพงก่ออิฐถือปูนรอบวัด มีใบเสมา ทำนองเดียวกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง รวมทั้งสร้างป้อมปราการก่ออิฐถือปูนไว้มุมกำแพง 4 ป้อม (ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมปราการด้านหน้าเท่านั้น) ถือว่าเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีกำแพงวัด เช่นเดียวกับกำแพงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งต่อมาปรากฏว่า ที่ป้อมปราการแห่งนี้ได้เป็นที่พักกองทัพและประกอบพิธีกรรมในการยกทัพไปภาคเหนือหลายครั้ง
แต่การก่อสร้างพระอารามแห่งนี้ยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ ก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เป็นแม่กองการบูรณะจนแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2401 และได้พระราชทานนามว่า “วัดเฉลิมพระเกียรติ”
สถาปัตยกรรมของวัดเฉลิมพระเกียรติโดยรวมเป็นแบบไทยผสมจีน ความงดงามทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้าบันพระอุโบสถ พระวิหาร และการเปรียญหลวงนั้น ได้รับการกล่าวขานว่า งดงามที่สุดในบรรดาวัดที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3
วัดเฉลิมพระเกียรติประกอบด้วยปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญ ได้แก่
• พระอุโบสถ กว้าง 26 เมตร ยาว 40 เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องรางดินเผากาบกล้วยไม่เคลือบสี ถือปูนทับแนวทำเป็นลอนลูกฟูกแบบจีน หน้าจั่วหลังคาประดับรูปหัวพญานาคและครีบนาคเป็นแถวคล้ายใบระกา หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีสดจากประเทศจีน ตกแต่งเป็นรูปดอกพุดตาน ส่วนจิตรกรรมฝาผนังภายใน เขียนเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลายช่อดอกพุดตานร่วง บานประตู และบานหน้าต่างพระอุโบสถ เขียนลายรดน้ำปิดทอง ตราพระราชลัญจกรรัชกาลที่ 3
• พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดง หน้าตักกว้าง 6 ศอก สูง 8 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว
• พระวิหาร มักเรียกกันว่า วิหารพระศิลาขาว กว้าง 15 เมตร ยาว 24 เมตร เป็นสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระอุโบสถ
• พระศิลาขาว พระประธานในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 31 นิ้ว สูง 33 นิ้ว ประดิษฐานบนบุษบกไม้สัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระอารามนี้ เมื่อ พ.ศ. 2401 พร้อมด้วยพระอัครสาวก 2 องค์ เป็นพระพุทธรูปศิลา
• การเปรียญหลวง กว้าง 16 เมตร ยาว 24 เมตร สถาปัตยกรรมแบบเดียวกับพระอุโบสถและพระวิหาร ภายในประดิษฐาน “พระปฏิมาชัยวัฒน์” พระชัยประจำรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงใช้ประกอบพิธีกรรมก่อนการศึกสงครามหลายครั้ง
• พระเจดีย์ เป็นศิลปะแบบลังกา รูปทรงระฆัง มีฐาน 8 เหลี่ยม 2 ชั้น ฐานกว้าง 30 เมตร สูง 45 เมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระเจดีย์ด้วย
• พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ ริมน้ำหน้าวัด พระบรมรูปมีขนาด 2 เท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงเครื่องขัตติยภูษิตาภรณ์ ประทับยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงพระแสงดาบ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552 และปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี (วันพระราชสมภพ)
พระอารามแห่งนี้ผ่านกาลเวลามาเกือบ 160 ปีแล้ว และได้ผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์มาทุกยุคทุกสมัย โดยพยายามรักษารูปแบบเค้าโครงเดิมไว้
ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยทรงนำเจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งเคนต์ พระราชอาคันตุกะที่เสด็จฯ มาเยือนไทย เสด็จพระราชดำเนินมาทรงลอยพระประทีป ณ ท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับเจ้าอาวาส ความตอนหนึ่งว่า “ได้เคยผ่านมาหน้าวัดนี้ เห็นวัดร่มรื่นดี วันนี้ตั้งใจมาเยี่ยม นำแขกต่างประเทศมาด้วย วัดนี้เป็นวัดประวัติศาสตร์สวยงามมาก การจะบูรณะ ให้รักษาแบบของเดิมไว้...”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นแนวทางในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเฉลิมพระเกียรติเรื่อยมา จนกระทั่งได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2536 จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ โดยหลังการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เสร็จสิ้นลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีฉลองสมโภช เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2536
ล่าสุด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมกับกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนงานบูรณปฏิสังขรณ์วัดเฉลิมพระเกียรติตั้งแต่ปี 2558-2561 โดยจะเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงก่อน ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่ออนุรักษ์พระอารามหลวงแห่งนี้ ให้ดำรงความสง่างามสมนาม “เฉลิมพระเกียรติ” สืบต่อไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)