วัดพิชยญาติการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 685 ถนนประชาธิปก แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ตามประวัติกล่าวว่า เดิมเป็นวัดร้าง สร้างแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน ต่อมาราว พ.ศ. 2372-2375 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือที่เรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย” ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ด้วยเหตุว่า วัดนี้อยู่ใกล้นิวาสสถานของท่าน
สถาปัตยกรรมของพระอารามแห่งนี้มีลักษณะไทยผสมจีน หรือเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อแล้วเสร็จได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานนามว่า “วัดพระยาญาติการาม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพิชยญาติการาม” เพื่อให้ต้องกับนามสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ผู้สถาปนาพระอาราม แต่นิยมเรียกกันติดปากมาจนปัจจุบันว่า “วัดพิชัยญาติ”
ภายในพระอารามมีปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุสำคัญมากมาย ได้แก่
• พระอุโบสถ เป็นแบบพระราชนิยม ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันทั้งสองข้างปั้นลายมังกรกับมังกรสอดสีประดับกระเบื้อง และลายดอกไม้ประดับกระเบื้อง ด้านนอกมีเสากลมทำด้วยศิลาเป็นเสาพาไลรองรับหลังคาด้านข้างที่สั่งมาจากเมืองจีน
ที่สำคัญคือตรงฐานของพาไล มีภาพแกะสลักหินพงศาวดารจีนเรื่อง “สามก๊ก” จำนวน 22 ภาพ แบ่งเป็นตอนๆ เฉพาะตอนที่สำคัญ สันนิษฐานว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติสั่งเข้ามาจากจีน นับว่าเป็นศิลปะชิ้นเอกที่สำคัญและมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ส่วนเสาด้านหน้าพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมเรื่องการเดินเรือค้าขายของชาวจีน และลายมังกรตามอย่างจีน ส่วนภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลายพรรณพฤกษ์พุ่มข้าวบิณฑ์
• พระสิทธารถ พระประธานในพระอุโบสถ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 1 คืบ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยรุ่นเดียวกับพระพุทธชินราช อัญเชิญมาจากวัดวิหารทอง จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐิน ได้ตรัสชมว่า พระพุทธปฏิมาองค์นี้งดงามยิ่งนัก แล้วทรงมีพระราชศรัทธาโปรดให้ทำเศวตฉัตร 5 ชั้นมากางกั้นถวายเป็นราชสักการะ
ชาวบ้านนิยมเรียกขานพระสิทธารถว่า “สมเด็จหลวงพ่อสมปรารถนา” เพราะเชื่อว่า ถ้ามากราบขอพร ท่านก็จะประทานพรให้สำเร็จสมปรารถนาทุกคน
• พระวรวินายก เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง หน้าตักกว้าง 1 ศอก สูง 1 ศอก 1 คืบเศษ ประดิษฐานด้านหน้าพระประธาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2465
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ที่เรียกขานกันว่า “หลวงพ่อดำ” คือ ตั้งแต่มีพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐาน ยังไม่เคยมีผู้ใดจมน้ำตายหน้าวัด แม้เรือจะล่มหรือพลัดตกน้ำก็ตาม เชื่อกันว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อดำนั่นเอง
• ซุ้มเสมา เป็นหินแกะสลักจากเมืองจีน บนยอดสลักเป็นทรงปรางค์ ภายในประดิษฐานใบเสมาคู่
• พระปรางค์ ตั้งอยูบนลานยกระดับด้านหลังพระอุโบสถ สร้างเลียนแบบสมัยอยุธยาแต่ได้ตกแต่งเพิ่มเติมตามคตินิยมของช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมมี 5 องค์ แต่พระปรางค์ทิศเหนือได้ถูกรื้อไป เมื่อ พ.ศ. 2457 ปัจจุบันจึงเหลือเพียง 4 องค์
พระปรางค์ประธานเป็นอาคารย่อมุม มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ถือว่าเป็นครั้งแรกที่พระปรางค์ขนาดใหญ่ของไทยมีพื้นที่ใช้สอยภายใน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หันหลังชนกัน ผินพระพักตร์ไปสู่ทิศทั้ง 4
ส่วนพระปรางค์ทิศตะวันออกประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรย พระปรางค์ทิศตะวันตกประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองจำหลักในแผ่นหิน 4 รอย
• พระเจดีย์คู่ ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดเท่ากัน สร้างขึ้นก่อนพระปรางค์ โดยถอดแบบมาจากพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช แม้พระเจดีย์ทั้งสององค์จะมีขนาดและสัดส่วนเหมือนกัน แต่มีลักษณะที่แตกต่างกัน คือ เจดีย์ด้านทิศตะวันออกทำเป็นบัวลูกแก้วอกไก่ 3 ชั้นรับองค์ระฆังบัลลังก์ 8 เหลี่ยม ภายในประดิษฐานหลวงพ่อเงิน ส่วนเจดีย์ด้านทิศตะวันตกมีบัวลูกแก้ว 2 ชั้นรับองค์ระฆัง บัลลังก์สี่เหลี่ยม ภายในประดิษฐานหลวงพ่อทอง
• พระบรมสารีริกธาตุ อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2549 โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์(ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมโมลี) รับมอบจากสมเด็จพระสังฆราช ประเทศศรีลังกา
• ศาลาราย ตั้งอยู่รายรอบพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ ด้านหลังและด้านทิศตะวันตกเป็นลักษณะเก๋งจีน ด้านทิศตะวันออกมีลักษณะผสมผสานกับศิลปะตะวันตก ทำเป็นซุ้มประตูโค้งแบบตะวันตกรองรับด้วยเสาเป็นระยะ แต่ส่วนยอดทำเป็นหลังคาและมีหน้าบันแบบพระราชนิยม
• กุฎิทรงช่วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ 10 ชั่ง สร้างเสนาสนะชื่อว่า “กุฎีทรงช่วย” เป็นอาคารทรงปั้นหยา 2 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยรอบมีกุฎีสงฆ์ 4 หลัง จึงเรียกว่า “คณะทรงช่วย”
ในปี พ.ศ. 2439 สมัยรัชกาลที่ 5 วัดพิชยญาติการามได้ทรุดโทรมอย่างหนัก พระศาสนโสภณ(อ่อน) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามเป็นการใหญ่ จากนั้นในรัชกาลต่อๆมา ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน ที่ทางวัดได้มีการทาสีพระปรางค์ทั้งสามองค์ พระเจดีย์คู่ พระอุโบสถและภาพจิตรกรรมฝาผนัง หอระฆังทรง 8 เหลี่ยม ศาลาราย ศาลาปฏิบัติธรรม อาคารสุขุมาลลัย และหมู่กุฏิ ยังคงเหลือเพียงศาลาการเปรียญและกุฏิบางส่วน
โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพิชยญาติการามไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะได้ดำเนินการการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และศาสนสถานอื่นๆที่มีความชำรุดทรุดโทรมต่อไป
เพื่อให้สมกับเป็นพระอารามหลวงที่โดดเด่นเป็นสง่า ทรงคุณค่าทั้งด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนอย่างยั่งยืนสืบไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)