วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดมะกอก” ภายหลังเปลี่ยนเป็น “วัดมะกอกนอก” ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารค ถึงหน้าวัดมะกอกนอกเวลารุ่งอรุณพอดี ถือเป็นอุดมมงคลฤกษ์ จึงทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแจ้ง” แล้วเสด็จไปสักการบูชาพระมหาธาตุ
เมื่อตั้งราชธานีกรุงธนบุรีแล้ว เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวัง จึงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งพระนคร วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป และทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมทั้งโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ซึ่งประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม ให้ทรงดูแลและปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ จากนั้นโปรดให้มีมหรสพสมโภชในปี พ.ศ. 2363 แล้วพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” และมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม แล้วทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดอรุณราชวราราม”
ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญภายในวัดมีมากมาย อาทิ
• พระปรางค์ใหญ่ ตั้งอยู่หน้าวัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมสูง 8 วา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเพิ่มเติมตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระปรางค์ที่สร้างเสร็จเป็นพระมหาเจดีย์สูง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว ฐานวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 17 วา โดยมีพระปรางค์ทิศ 4 มุม อยู่บนมุมทักษิณชั้นล่างของพระปรางค์ใหญ่ และมีมณฑปทิศ 4 ด้าน อยู่ระหว่างปรางค์ทิศ บนฐานทักษิณชั้นที่ 2
พระปรางค์องค์นี้มีความงดงามและเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของประเทศไทยที่ชาวโลกรู้จักกันดี
• พระเจดีย์ ๔ องค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยและกระจกสีต่างๆ เป็นลวดลายดอกไม้และลายอื่นๆ งดงามมาก
• พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้สร้างขึ้น เป็นพระอุโบสถยกพื้นสูง หลังคาลด 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ผนังพระอุโบสถด้านนอกถือปูนประดับกระเบื้องจีนลายดอกไม้ร่วง ส่วนด้านในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ทั้ง 4 ด้าน พระอุโบสถหลังนี้นับเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญและสวยงามชิ้นหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2
• พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชนามว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” และที่ผ้าทิพย์บนฐานพระพุทธรูปเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
• พระวิหารหลวง ยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งขบวนไทย
พระประธานในวิหารหลวง มีนามว่า “พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักษณาอสีตยานุบพิตร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 6 ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้น มีพระบรมธาตุ 4 องค์บรรจุอยู่ในพระเศียร
บนฐานชุกชี เบื้องหน้าพระประธาน เป็นที่ประดิษฐาน “พระอรุณ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระแจ้ง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 50 ซม. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานในพระวิหาร ด้วยทรงพระราชดำริว่า มีพระนามพ้องกันกับวัด
• ประตูซุ้มยอดมงกุฎ ตั้งอยู่ทางเข้าสู่บริเวณพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น เป็นประตูจตุรมุข หลังคา 3 ชั้น เฉลียงรอบ มียอดเป็นทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี และรูปปูนปั้นยักษ์คู่ประดับกระเบื้องเคลือบสี ยืนเฝ้าประตูด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง คือ สหัสเดชะ (ตัวขาว) และทศกัณฐ์ (ตัวเขียว) รู้จักกันดีในนาม “ยักษ์วัดแจ้ง”
• โบสถ์น้อย อยู่หน้าพระปรางค์ เป็นโบสถ์เดิมของวัดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 29 องค์ และมีพระแท่นและพระบรมรูปหล่อของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
• วิหารน้อย อยู่ติดกับโบส์น้อย สร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตรงกลางวิหารประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ และพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมทั้งพระแท่นบรรทมของรัชกาลที่ 2 ด้วย
เพื่อให้วัดอรุณราชวรารามทรงคุณค่าและความสง่างามสมเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงใส่พระทัย ทำนุบำรุงสืบมาทุกยุคทุกสมัย โดยเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ได้เกิดไฟไหม้พระอุโบสถ พระองค์ได้เสด็จฯไปทรงอำนวยการดับเพลิง และโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถครั้งใหญ่ เสมือนสร้างใหม่ทั้งหมด
ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้ง ในปี 2525 เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และในปี 2555 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ล่าสุดปี 2557 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เริ่มจัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
อีกไม่นาน..พระอารามหลวงแห่งนี้ก็จะทวีความเรืองรองผ่องใส สมพระเกียรติสมพระนาม “อรุณราชวราราม วัดประจำรัชกาลที่ 2” โดยแท้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)