วัดเครือวัลย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 36 แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏชัด แต่มีข้อความกล่าวถึงวัดนี้ในหนังสือ “ตำนานพระอารามหลวงและทำเนียบสมณศักดิ์” ซึ่งเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ความว่า
“วัดเครือวัลย์วรวิหาร อยู่ในคลองมอญฝั่งใต้ เจ้าพระยาอภัยภูธร(น้อย บุณยรัตพันธุ์) สร้างในรัชกาลที่ 3 แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดเครือวัลย์วรวิหาร และวัดนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย แล้วเจ้าพระยาภูธราภัย ปฏิสังขรณ์ต่อมา ถึงรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย”
สำหรับผู้สร้างวัดเครือวัลย์ ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ อีกหลักฐานหนึ่งที่ปรากฏข้อความใน “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3” ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า
“ในคลองมอญวัด 1 เจ้าจอมเครือวัลย์ บุตรีเจ้าพระยาอภัยภูธร สร้างใหม่ การยังไม่แล้ว ก็ถึงแก่กรรมเสีย จึงโปรดให้ทำต่อไป แล้วพระราชทานชื่อ วัดเครือวัลย์วรวิหาร” ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่เจ้าจอมเครือวัลย์สร้างวัดนี้ขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดาผู้ล่วงลับไปแล้วตามคติอย่างไทย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามนี้เรื่อยมา ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นพระราชานุเคราะห์สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ และเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดผ้าพระกฐิน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2393
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างเจดีย์องค์เดี่ยว ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยทุกรัชสมัยที่ผ่านมา บรรดาญาติวงศ์ในสกุลบุณยรัตพันธุ์ และเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีต ได้ร่วมกันดูแลปฏิสังขรณ์วัดเครือวัลย์มาตลอด
ล่าสุด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับทางวัดจัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเครือวัลย์วรวิหาร โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2554 บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร งานอนุรักษ์พระประธาน ฐานชุกชี และฐานไพที งานอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาราย และงานก่อสร้างอาคารเก็บอัฐิ
ถาวรวัตถุและสิ่งสำคัญภายในวัดเครือวัลย์ ได้แก่
• พระอุโบสถ กว้าง 7.70 เมตร ยาว 16.25 เมตร หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ ระเบียงและมุขปูด้วยหินอ่อน ซุ้มประตูหน้าต่างทำด้วยปูนปั้นเป็นลายดอกไม้ ลงรักปิดทอง บานประตูด้านนอกสลักรูปต้นไม้ ดอกไม้ และรูปนก ลงรักปิดทอง ด้านในเป็นรูปฉัตร 7 ชั้น สอดสีมีทหารแบก ส่วนบานหน้าต่างด้านนอกลวดลายเช่นเดียวกับบานประตูแต่ทำด้วยปูนปั้น
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระอุโบสถหลังนี้ไว้เป็นโบราณสถาน เนื่องจากผนังภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นภาพชาดกเรื่องพระเจ้า 500 ชาติ ที่งดงามมาก ซึ่งปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่แห่งเดียวในประเทศไทย
• พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ หล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง สูงประมาณ 4 วา
• ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ มีทั้ง 4 ด้าน เป็นภาพชาดกเรื่องพระเจ้า 500ชาติ ใช้ลายกั้นเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัส กรอบเขียนลายเนื่องเป็นลายก้านต่อดอกใบเทศ แต่ละช่องเขียนเรื่องพระชาติของพระพุทธเจ้าไว้ 1 พระชาติ ภาพเขียนเหล่านี้เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 มีความวิจิตรงดงาม เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของพระอารามแห่งนี้ ซึ่งหาที่อื่นเสมอเหมือนไม่ได้ ดังปรากฏในคำกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ของนายมี มหาดเล็ก ความว่า
“วัดทั้งหลายคล้ายกันเป็นอันมาก
ไม่หนีจากอย่างเก่าเป็นอวสาน
แต่วัดเครือวัลย์ใหม่อำไพพาน
หนีบุราณแปลกเพื่อนไม่เหมือนใคร
เขียนชาดกยกเรื่องโพธิสัตว์
ทอดประทัดตีตารางสว่างไสว
เป็นห้องห้องช่องละชาติออกดาษไป
นับชาติได้ห้าร้อยสิบชาติตรา
ด้วยทรงพระศรัทธาเมตตาช่าง
ให้สินจ้างช่องละบาทดังปรารถนา
ด้วยบุญญาอานิสงส์ทรงศรัทธา
ไม่ต้องหาช่างเขียนเวียนมาเอง”
จิตรกรรมฝาผนังภาพพระเจ้า 500 ชาตินี้ ถือเป็นสมบัติสำคัญของชาติ ที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานชาดกจากพระไตรปิฎกไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
• พระวิหาร มีรูปทรงและขนาดเดียวกับพระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านขวาพระอุโบสถ ภายในไม่มีภาพเขียนใดๆ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 2 วา
• พระเจดีย์ มีจำนวน 3องค์ เป็นพระเจดีย์ทรงลังกา สูงประมาณ 10 วา องค์หน้ามีฐานก่อแยกไว้ต่างหาก ซึ่งรัชกาลที่ 4ทรงสร้างขึ้น ภายในมีพระบรมธาตุบรรจุอยู่ ส่วนพระเจดีย์อีก 2องค์ เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) เป็นผู้สร้าง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของตระกูลบุณยรัตพันธุ์
• หอระฆัง ตั้งอยู่ใกล้กับพระอุโบสถด้านทิศใต้ มีลักษณะก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ
• หอประชุมวีระนาวิน เป็นอาคาร 2 ชั้น แบบจัตุรมุข เดิมใช้เป็นอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่ปัจจุบันใช้เป็นอาคารหอสมุดของวัด
ปัจจุบัน วัดเครือวัลย์วรวิหาร อยู่ภายใต้การปกครองดูแลของพระพรหมวิสุทธาจารย์ (มนตรี คณิสฺสโร) เจ้าอาวาส
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)