วัดราชาธิวาสเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ใกล้ท่าวาสุกรี สามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ตามประวัติกล่าวว่า วัดราชาธิวาส เดิมชื่อว่า “วัดสมอราย” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงละโว้ ราวปี พ.ศ. 1820 หรือก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และมาผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2310
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามขึ้นใหม่ และได้มีการปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 3 ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชาธิวาส” มีความหมายว่า “วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา” ด้วยทรงเห็นว่า วัดแห่งนี้เป็นที่ประทับระหว่างทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้เป็นพระบรมชนกนาถของพระองค์
พระอารามแห่งนี้เป็นวัดนอกกำแพงพระนคร และเป็นวัดฝ่ายอรัญญวาสี หรือวัดป่า มีสภาพร่มรื่น เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม พระสงฆ์มีความเชี่ยวชาญในการวิปัสสนาธุระ กอปรกับมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด จึงเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไป
ดังนั้น เมื่อรัชกาลที่ 4 สมัยที่ทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงผนวช ได้ทรงจำพรรษาที่วัดมหาธาตุฯ และย้ายมาจำพรรษา ณ วัดราชาอย่างถาวร โดยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ได้ปลูกพระตำหนักถวาย เป็นพระตำหนักช่อฟ้าใบระกา 5 ห้อง มีเฉลียงรอบ
ณ อารามสถานแห่งนี้ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎได้ทรงปรารภเหตุที่พระสงฆ์ในสมัยนั้นปฏิบัติพระวินัยย่อหย่อน คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามพุทธบัญญัติที่พระองค์ได้ทรงศึกษามา จึงทรงเห็นควรปรับปรุงใหม่ และเมื่อทรงเปรียบเทียบการปฏิบัติธรรมวินัยของพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์มอญ ก็เห็นว่า พระมอญปฏิบัติพระธรรมวินัยเคร่งครัดกว่า และปฏิบัติตรงตามพุทธบัญญัติมากกว่า
โดยหลังจากที่ได้ทรงสนทนาธรรมกับพระสงฆ์ในรามัญนิกาย คือพระสุเมธมุนี(ซาย พุทฺธวํโส) แห่งวัดบวรมงคล(วัดลิงขบ) ซึ่งได้อธิบายหลักปฏิบัติตามหลักพระวินัยได้ชัดเจนเป็นที่พอพระทัย จึงได้ทรงอุปสมบทซ้ำ โดยมีพระสุเมธมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับพระมอญ โดยทรงให้สร้างโบสถ์แพรูปศาลาในน้ำไว้หน้าวัด เพื่อทำสังฆกรรม
เมื่อ พ.ศ. 2372 ภายหลังที่ทรงแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ให้ถูกต้องตรงตามพระวินัยแล้ว ก็ได้มีพระภิกษุเลื่อมใสเข้ามาขอศึกษาด้วยเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีผู้เคารพนับถือมากขึ้น ก็ทรงประกาศตั้งคณะสงฆ์ใหม่ขึ้นเรียกว่า “คณะธรรมยุติกนิกาย” ดังนั้น วัดราชาธิวาสจึงถือเป็นวัดที่ให้กำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
ภายในวัดราชาธิวาส มีถาวรวัตถุที่สำคัญและโดดเด่น ได้แก่
ศาลาโบสถ์แพ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวชและประทับอยู่ที่วัดราชาฯ โปรดให้สร้างขึ้นในแม่น้ำ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำสังฆกรรม เรียกว่า “อุทกุกเขปสีมา” แต่เลิกใช้เป็นโบสถ์เมื่อมีการสถาปนาพระอุโบสถใหม่แล้ว
ต่อมาใน พ.ศ. 2466 พระธรรมวโรดม(เซ่ง อุตตมเถระ) เจ้าอาวาสในขณะนั้น เห็นว่าศาลาโบสถ์แพเป็นศาสนสถานสำคัญ แต่อยู่ในแม่น้ำคงจะไม่เหมาะในกาลข้างหน้า ประกอบกับโบสถ์แพชำรุดทรุดโทรมไปมาก จึงได้สร้างโบสถ์แพจำลองขึ้นใหม่ตั้งไว้ภายในวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์
พระอุโบสถ : เป็นทรงขอมคล้ายนครวัด แต่เป็นลวดลายปูนปั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ มีห้องสามตอนคือ ห้องหน้าเป็นระเบียง ห้องกลางเป็นห้องพิธี มีพระสัมพุทธพรรณี (รัชกาลที่ 5 ทรงหล่อพระราชทาน) เป็นพระประธาน มีเศวตฉัตร 9 ชั้น หลังพระประธานเป็นซุ้มเรือนแก้ว เป็นลายฝรั่งผสมกับเสาแบบสุโขทัย มีตราพระราชลัญจกร ของรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 5 ประดับไว้อย่างงดงาม
ส่วนฝาผนังทั้ง 3 ด้าน เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง “เวสสันดรชาดก” 13 กัณฑ์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ.ซี.ริโกลี (C.Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน (ผู้เขียนภาพบนเพดานโดมในพระที่นั่งอนันตสมาคม) เป็นผู้เขียน โดยใช้รูปแบบตะวันตก รวมกับเทคนิคฝรั่ง คือการใช้สีปูนเปียก (Fresco) จึงทำให้ดูงดงามแปลกตาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดอื่นๆที่ช่างไทยเป็นผู้เขียนขึ้น
ศาลาการเปรียญ : เป็นศาลา 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง หลังคาเป็นช่อฟ้าใบระกา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงให้สร้างเลียนแบบจากศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นศาลาการเปรียญไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พระเจดีย์ทรงชวา : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น และพระราชทานพระพุทธรูปศิลาแบบมหายาน ที่ทรงนำมาจากประเทศอินโดนีเซีย มาประดิษฐานไว้ในซุ้มคูหาทั้ง 4 ทิศ ส่วนฐานพระเจดีย์เป็นรูปปั้นสิงห์เรียงรายอยู่โดยรอบ
พระพุทธไสยาสน์ : พระนิพพานทรงญาณ เป็นพระพุทธรูปโลหะสำริดลงรักปิดทอง ปางทรงพระสุบิน ศิลปะประยุกต์แบบกรีก ซึ่งมีความงดงามโดดเด่น มีลักษณะเหมือนสามัญมนุษย์ที่งามที่สุด ถ้ามองดูไกลๆ จะเหมือนคนนอนจริงๆ ห่มจีวรพลิ้วไหวเป็นริ้วบางเบาคล้ายผ้าจริง พระเนตรหลับพริ้ม แม้กระทั่งลักษณะการวางพระบาท ก็เป็นไปในลักษณะสมจริงเช่นคนนอนหลับทั่วไป เป็นผลงานการออกแบบของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประดิษฐาน ณ ห้องประชุมตึกไชยันต์ โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัด
ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เกือบทั้งวัด และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพพระเวสสันดรชาดกที่ฝาผนังโบสถ์ พร้อมกับสร้างพระวิหารสมเด็จพระอัยยิกา กุฏิเจ้าอาวาส และอื่นๆ
สมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักพญาไทมาประดิษฐานไว้ในวัด และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างกุฏิตึกแถว 3 หลัง และบูรณปฏิสังขรณ์อื่นๆ
ล่าสุด ในปี พ.ศ. 2554 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชาธิวาส โดยเริ่มจากพระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง อาคารหอสมุด พระตำหนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หอพระไตรปิฎก ศาลาโบสถ์แพ ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถ
ความสง่างามสมนาม “ราชาธิวาส” จึงกลับคืนสู่พระอารามหลวงแห่งนี้อีกวาระหนึ่ง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 158 กุมภาพันธ์ 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)