จนถึงวันนี้เหตุการณ์ทางการเมืองยังไม่สรุป รัฐบาลยังทำมึนไม่สนใจเสียงเรียกร้องของประชาชน จึงยังมีผู้คนทยอยมาร่วมชุมนุมแสดงพลังกันอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของเล่นที่จะให้รัฐบาลจับดึงไปทางไหนก็ได้ตามใจชอบ ขณะนี้จึงยังมีประเด็นให้ต้องติดตามกันเป็นระยะๆ
สำหรับผู้ที่มาร่วมชุมนุม โดยเฉพาะผู้ที่มาจากจังหวัดต่างๆ ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่นอกจากจะมารวมพลังขับไล่อำนาจมืดในแผ่นดินแล้ว ยังจะได้มาชมวัดและมากราบพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเพื่อความเป็นสิริมงคลและยังจะได้ขอพรพระให้ช่วยคุ้มครองประเทศไทยให้ร่มเย็นเป็นสุขต่อไป
ในบริเวณถนนราชดำเนินตลอดทั้งสายนั้นมีวัดอยู่หลายแห่ง แต่มีอยู่ 5 วัดสำคัญด้วยกันที่เราขอนำมาแนะนำกันในวันนี้
ชวนไปวัดแรกที่ “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือ “วัดพระแก้ว” วัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่ตั้งอยู่บนถนนหน้าพระลาน ใกล้กับสนามหลวงและถนนราชดำเนินนอก วัดนี้มี “พระแก้วมรกต” หรือ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นจากหินสีเขียวงดงามเป็นอย่างยิ่ง องค์พระแก้วประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ ซึ่งนอกจากนั้นก็ยังมีพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ เช่นพระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยม คือไม่มีเกตุมาลา เป็นต้น และก็ยังมีพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 พระนามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น รวมทั้งพระชัยหลังช้าง ที่ใช้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างยามออกรบอีกด้วย
ไหว้พระแก้วมรกตแล้วขอแนะนำอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดชม นั่นก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์บริเวณพระระเบียงรอบๆ พระอุโบสถ ที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียนเขียนภาพเล่าเรื่องตามพระราชนิพนธ์ ซึ่งภาพเหล่านี้ก็ได้มีซ่อมและเขียนใหม่หลายครั้งด้วยกัน แต่ละภาพล้วนวิจิตรงดงามดูได้ไม่เบื่อ
วัดแห่งที่สองคือ “วัดชนะสงคราม” บนถนนจักรพงษ์ ใกล้กับถนนข้าวสารและสะพานพระปิ่นเกล้า แค่ชื่อวัดก็เป็นมงคลแล้ว โดยแต่เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดตองปุ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนะสงครามหลังจากที่สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงมีชัยชนะในสงคราม 9 ทัพ และกลับมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่
พระอุโบสถของวัดชนะสงครามก็ถือว่างดงามไม่แพ้วัดไหน เพราะเป็นฝีมือของช่างวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 1 ด้านในพระอุโบสถค่อนข้างกว้าง ภายในประดิษฐานพระประธานนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ" พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย
“วัดบวรนิเวศวิหาร” ตั้งอยู่บริเวณบางลำพูไม่ไกลจากสี่แยกคอกวัวและถนนราชดำเนินเท่าไรนัก อีกทั้งในขณะนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งพระองค์ได้ทรงสิ้นพระชนม์เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ไปเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยได้ตั้งพระศพไว้ที่ตำหนักเพชรในเขตสังฆาวาส
ภายในวัดบวรนิเวศฯ มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถซึ่งสร้างขึ้นตามแบบ พระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปถึง 2 องค์ คือ “พระพุทธชินสีห์” และ “พระสุวรรณเขต (พระโต)” เป็นพระประธานประดิษฐานคู่กัน อีกทั้งภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามฝีมือของขรัวอินโข่ง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปริศนาธรรมเนื่องด้วยคุณของพระรัตนตรัย และมีจิตรกรรมฝาผนังตอนล่างของพระอุโบสถที่เขียนแสดงเหตุการณ์สำคัญของขนบธรรมเนียมไทย และประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา
ด้านหลังพระอุโบสถเป็นเจดีย์กลมขนาดใหญ่หุ้มกระเบื้องสีทอง รอบฐานเจดีย์มีศาลาจีนและซุ้มจีน ด้านหลังเจดีย์เป็นวิหารเก๋งจีน และยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระไพรีพินาศ” พระพุทธรูปโบราณที่มีคนนำมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงพระผนวชอยู่ที่วัดบวรฯ พระองค์ทรงถวายนามให้พระพุทธรูปองค์นี้ว่าพระไพรีพินาศ เนื่องจากบรรดาอริราชศัตรูที่คิดปองร้ายพระองค์ในขณะนั้นต่างพ่ายแพ้พระองค์ไปเสียสิ้น หากใครได้ไปไหว้ก็ขอให้ช่วยกันอธิษฐานขอให้ศัตรูที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมืองจงพินาศแพ้ภัยตัวเองไปด้วยเถิด
ที่ “วัดราชนัดดา” วัดนี้อยู่ใกล้กับจุดชุมนุมมากที่สุด คืออยู่บริเวณถนนมหาไชยตัดกับถนนราชดำเนินกลาง หรือใกล้กับป้อมมหากาฬนั่นเอง สิ่งสำคัญของวัดราชนัดดาก็คือ "โลหะปราสาท" ซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย และหนึ่งเดียวในโลกด้วย
โลหะปราสาทนี้เป็นอาคารทรงไทย 7 ชั้น (มองจากด้านนอกจะเห็นเป็น 3 ชั้น) ไม่ได้สร้างจากโลหะทั้งหมด โดยส่วนที่เป็นโลหะคือส่วนของหลังคายอดปราสาททั้ง 37 ยอด แทนความหมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ อันเป็นปัจจัยให้ดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นเข้าสู่นิพพาน โดยที่ยอดปราสาทชั้นบนสุดนั้นเป็นมีบุษบกที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ประชาชนขึ้นไปกราบไหว้ แม้ขณะนี้โลหะปราสาทกำลังซ่อมแซมภายนอกอยู่ แต่ก็สามารถขึ้นไปกราบพระบรมสารีริกธาตุและไหว้พระพุทธรูปขอพรพระให้คนโกงบ้านโกงเมืองหมดอำนาจไปจากประเทศไทย
ติดกับวัดราชนัดดายังเป็นที่ตั้งของ "ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์" ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และยังมีพลับพลาที่ประทับงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงออกรับแขกบ้านแขกเมือง ลานกว้างแห่งนี้ยังใช้เป็นที่จัดกิจกรรมสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ
วัดสุดท้ายใกล้จุดชุมนุม ที่ “วัดเบญจมบพิตร” ถนนพิษณุโลก ไม่ห่างจากพระบรมรูปทรงม้ามากนัก ช่วงก่อนหน้านี้มีข่าวว่าตำรวจนำเอาแท่งปูน ลวดหนาม ฯลฯ มาปิดกั้นจราจรบริเวณหน้าวัดจนประชาชนไม่สามารถมาตักบาตรได้ ทำเอาพระเจ้าเดือดร้อนไม่สามารถทำกิจของสงฆ์ได้อย่างสะดวก
วัดเบญจมบพิตรเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาขึ้น วัดแห่งนี้ยังได้ชื่อว่าเป็น "สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบ" ซึ่งออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ได้ทรงออกแบบพระอุโบสถและพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงามด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ โดยพระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตรนั้นเป็นแบบจตุรมุข มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง ถือเป็นพระอุโบสถที่สร้างได้สัดส่วนสวยงามเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งตัวพระอุโบสถยังสร้างด้วยหินอ่อนจนเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติว่า “Marble Temple”
เข้าไปด้านในพระอุโบสถกราบพระประธานคือพระพุทธชินราช ซึ่งจำลองมาจากพระพุทธชินราชองค์จริงที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก อีกทั้งบริเวณพระระเบียงยังมีพระพุทธรูปหลากหลายปางที่รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะให้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณสมัยต่างๆ และปางต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้ประชาชนได้ชม ดังนั้นใครที่มาไหว้พระที่วัดเบญจฯ ก็อย่าลืมมาเดินชมและกราบไหว้พระพุทธรูปงดงามเหล่านี้กัน