xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรำลึกนิวาสสถิต สมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พระพุทธสิหังคปฏิมากร” พระประธานในพระวิหารวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พุทธศาสนากับประเทศไทยของเรานั้น ดำรงคงอยู่มาอย่างเนิ่นนานตลอดทุกยุคทุกสมัย แม้นเวลาได้ล่วงเลยมาจนถึงยุคสมัยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็ไม่เคยเสื่อมคลาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นตำแหน่งเป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์หนึ่งในพระรัตนตรัย ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนและเผยแพร่คำสอนในพุทธศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“สมเด็จพระสังฆราช” เป็นพระยศสังฆราช พระมหาเถระผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑลในแต่ละประเทศ “พระสังฆราช” ในประเทศไทยนั้นเรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช เปรียบดั่งประมุขแห่งคณะสงฆ์ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก อันหมายถึงประมุขปกครองคณะสงฆ์ทุกนิกายในประเทศไทย
“พระพุทธไสยาส” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ
และนับตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อปี  พ.ศ.2325 ได้มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช นับตั้งแต่แรกเริ่มจวบจนปัจจุบัน รวมมีสมเด็จองค์พระสังฆราชทั้งสิ้นแล้ว 19 พระองค์

โดยแต่ละพระองค์นั้นมีที่ประทับที่แตกต่าง ตามแต่ละพระองค์จะเลือกสถิต ซึ่งน้อยคนนักจะทราบว่าแต่ละพระองค์สถิต ณ ที่ใด ซึ่งแต่ละวัดที่สถิตของทุกๆพระองค์นั้น ต่างมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเเละน่าสนใจ อีกทั้งยังมีความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์ โดยรายนามวัดที่ทรงใช้เป็นที่สถิตมีดังนี้
“พระบรมสารีริกธาตุ”  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” หรือ “วัดระฆัง” วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยาเดิมชื่อ “วัดบางหว้าใหญ่” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) โดยทรงเป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
หอระฆังทั้งห้า “วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร”
“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร“ เดิมเรียกว่าวัดสลัก โดยตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร” ตามชื่อวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งวัดแห่งนี้ได้เป็นที่พระทับขององค์พระสังฆราช 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข),สมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี), สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร), สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ
“พระปรางค์” วัดราชบูรณะราชวรวิหาร
“วัดราชบูรณราชวรวิหาร” เป็นวัดเก่าแก่เดิมชื่อวัดเลียบ วัดนี้เป็นวัดหนึ่งตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศเนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนงและทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกเมื่อ พ.ศ. 2551และนับเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทยโดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวัณณรังสี) และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 และ17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
“พระศรีศากยมุนี” (พระโต) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล สถาปัตยกรรมภายในวัดเป็นแบบไทยผสมยุโรปที่งดงาม ซึ่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแห่งนี้ เป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล โดยเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 11 และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐาน เช่นที่สุโขทัย และพระนครศรีอยุธยา วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระอุโบสถ” วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร”
“วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต ) ซึ่งมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม” และทรงผูกนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญ ให้คล้องกันว่า "พระศรีศากยมุนี" "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ "พระพุทธเสรฏฐมุนี" วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร” เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้น พระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
“พระบรมบรรพต” (ภูเขาทอง) “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร”
“วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” ซึ่งแปลว่า “การชำระพระเกศา” เนื่องจากพระองค์เคยมาประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี เป็นที่ตั้งของพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) และวัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

“วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริที่จะให้มีวัดเรียงรายอยู่ตามชายคลองเหมือนที่กรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นเคียงคู่กับวัดโสมนัสวิหาร ในขั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า วัดนามบัญญัติ ครั้นเมื่อสิ้นรัชกาลจึงค่อยเรียกนามพระราชทานว่า วัดมกุฏกษัตริยาราม อันเป็นนามตามพระปรมาภิไธย วัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตโกสินทร์
พระวิหารภายใน “วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร”
“วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร" สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้มีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น เป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์ คือ พระพุทธชินสีห์ และหลวงพ่อโต ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์สีทองทรงกลมขนาดใหญ่ สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 วัดแหงนี้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต), สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ),สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต)และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทุกพระองค์เป็นสมเด็จองค์พระสังฆราชองค์ที่ 8,10,13,19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตามลำดับ

ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่19 ได้ทรงสิ้นพระชนม์ไปเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมาอันนำความโศกเศร้ามาสู่พุทธศาสนิกชน
พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ 4 และพระเจดีย์ทอง “วัดบวรนิเวศฯ”
สมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ล้วนได้บำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่เหล่าบวรพุทธศาสนา เป็นสังฆราชาที่เหล่าพุทธศาสนิกชนต่างให้ความศรัทธาและเคารพ อีกทั้งวัดต่างๆอันเป็นที่สถิตของแต่ละพระองค์ ยังเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธา เป็นที่พักกายและพักใจให้สงบของเหล่าพุทธศาสนิกชนจวบจนปัจจุบัน ซึ่งวัดวาอารามนั้นเปรียบเสมือนเป็นหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองที่ไม่เสื่อมคลายในพระพุทธศาสนาของประเทศไทยที่จะคงอยู่และสืบไปตลอดกาล
กำลังโหลดความคิดเห็น