xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมถวายความอาลัย “สมเด็จพระสังฆราช” ร่วมรำลึกสถานที่สถิต “วัดบวรนิเวศฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ภายหลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ล่าสุดนี้ ได้มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า

แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่อง พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ 9

วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา 19.30 นาฬิกา ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

ในการนี้ “ทีมข่าวท่องเที่ยว-อาหาร” จึงขอร่วมถวายความอาลัย โดยการรำลึกถึงพระกรณียกิจต่างๆ ที่สำคัญ รวมถึงทำความรู้จักกับ “วัดบวรนิเวศวิหาร” สถานที่สถิตจำพรรษาของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ดังนี้

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรคนโตของครอบครัวคชวัตร ในขณะทรงพระเยาว์นั้นทรงเจ็บป่วยออดแอดเสมอ และมีครั้งหนึ่งที่ทรงป่วยหนักมาก ญาติๆ จึงได้บนไว้ว่าถ้าหายป่วยจะให้บวชแก้บน จากนั้นก็ทรงหายดี และเมื่อเรียนจบชั้นประถม 5 ขณะมีพระชันษาได้ 14 ปี ก็ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บน ในปี พ.ศ. 2469 ที่วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี
พระพุทธชินสีห์ ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ
หลังจากนั้นได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร จนกระทั่งพระชันษาครบอุปสมบทจึงทรงเดินทางกลับไปยังวัดเทวสังฆาราม เพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. 2476 และทรงเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป และที่วัดบวรนิเวศวิหารนี่เอง ได้ทรงเข้าพิธีอุปสมบทซ้ำอีกครั้งเป็นธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ในปี พ.ศ. 2484 หลังจากที่พระองค์สอบได้เปรียญธรรม 9 แล้ว พระองค์ทรงเริ่มงานที่เกี่ยวเนื่องกับคณะสงฆ์มากมาย ซึ่งนอกเหนือจากเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเศวิหารอีกด้วย

เมื่อมีพระชันษา 34 ปี ทรงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญที่ พระโศภนคณาภรณ์ (เป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นรูปแรก) โดยพระองค์ได้รับเลือกให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในระหว่างที่ผนวชเป็นพระภิกษุและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” (ราชทินนามเดิม “สมเด็จพระญาณสังวร” ได้รับพระราชทานเมื่อทรงเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งเป็นตำแหน่งพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น) โดยประทับ ณ พระตำหนักคอยท่าปราโมช วัดบวรนิเวศวิหาร
ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็น 1 ใน 6 พระองค์ ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส นับตั้งแต่ใช้ชื่อวัดว่าวัดบวรนิเวศวิหาร อีกด้วย

สำหรับ “วัดบวรนิเวศวิหาร” หรือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ) ได้มีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น

วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างขึ้นด้วยศิลปะที่ผสมผสานระหว่างไทย จีน และตะวันตก สังเกตได้จากศิลปกรรมต่างๆ ทั้งในเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส ซึ่งทั้งสองเขตนี้จะถูกแบ่งโดยกำแพงและคูน้ำ มีสะพานเดินเชื่อมถึงกันไปมาได้สะดวก
เจดีย์ทรงกลม
ในเขตพุทธาวาสนั้นมีสิ่งสำคัญก็คือ พระอุโบสถ ที่สร้างขึ้นตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 มีมุขหน้ายื่นออกมา ภายนอกบุผนังด้วยหินอ่อนทั้งหมด เสาด้านหน้าเป็นเสาเหลี่ยมมีบัว หัวเสาเป็นลายฝรั่ง แต่ที่เห็นทั้งหมดในปัจจุบันนี้ จะเป็นพระอุโบสถที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง กลายเป็นพระอุโบสถที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีการผสมผสานศิลปกรรมแบบจีน ตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ศิลปะแบบตะวันตก ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของศิลปะไทย

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ด้วยฝีมือของขรัวอินโข่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เขียนขึ้น เพื่อแสดงปริศนาเนื่องด้วยคุณของพระรัตนตรัย และมีจิตรกรรมฝาผนังตอนล่างของพระอุโบสถที่จะเขียนแสดงเหตุการณ์สำคัญของขนบธรรมเนียมไทย และประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ส่วนพระพุทธรูปที่สำคัญที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถมี 2 องค์ คือ “พระพุทธชินสีห์” พระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของหัวเมืองเหนือ ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรฯ แห่งนี้ พระพุทธรูปอีกองค์คือ “พระสุวรรณเขต (พระโต)” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณ ลักษณะแบบขอม กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงอัญเชิญมาจากสระตะพาน จ.เพชรบุรี มาประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถ

ถัดจากพระอุโบสถออกไป จะเป็นเจดีย์กลมขนาดใหญ่หุ้มกระเบื้องสีทอง รอบฐานเจดีย์มีศาลาจีนและซุ้มจีน ด้านหลังเจดีย์เป็นวิหารเก๋งจีน จากนั้นเป็นวิหารพระศาสดา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ห้อง ด้านหน้าประดิษฐานพระศาสดา ที่รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดสุทัศน์ ส่วนด้านหลังประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ สมัยสุโขทัย
พระตำหนักเพ็ชร
ส่วนในเขตสังฆาวาส ศิลปกรรมส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 เพื่อเป็นตำหนักที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่ผนวชในวัดนี้ ไม่ว่าจะเป็น พระตำหนักเพ็ชร เป็นพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเพ็ชร ถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โดยเคยเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งทรงครองวัดนี้ พระตำหนักปั้นหยา เป็นตึก 3 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรป เดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่ทรงผนวช และยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวชและเสด็จมาประทับที่วัดนี้

พระตำหนักทรงพรต เป็นสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลจากทางตะวันตก พระตำหนักแห่งนี้ก็ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังจากประทับที่พระตำหนักปั้นหยา 1 คืน ตามพระราชประเพณี รวมไปถึงเคยเป็นตำหนักที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งที่ทรงพระผนวชด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่า วัดบวรนิเวศวิหาร นั้น เป็นพระอารามที่มีความสำคัญทั้งในด้านศาสนาและในทางบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเป็นจุดกำเนิดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยเป็นที่กำเนิดของมหามกุฏราชวิทยาลัย เคยเป็นกองบัญชาการศึกษาหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ 5

ที่สำคัญคือ เป็นที่เสด็จสถิตของสมเด็จพระสังฆราช ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งท่านได้สิ้นพระชนม์ด้วยการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ในเวลา 19.30 น. วันที่ 24 ต.ค. 56

จึงนับเนื่องได้ว่า วัดบวรนิเวศวิหาร นั้นมีความสำคัญต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
กำลังโหลดความคิดเห็น