วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเคยเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประกอบด้วยหลายตำหนัก ในบรรดาตำหนักต่างๆนั้น ตำหนักซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญในเวลานี้นั้น ได้แก่ พระตำหนักเพ็ชร ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และตำหนักคอยท่า ปราโมช ซึ่งเคยเป็นสถานที่ประทับของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมื่อครั้งยังทรงพระชนม์ชีพ
“ธรรมลีลา” จึงขอนำเรื่องราวของ 2 พระตำหนัก มาให้ได้ยลความงดงามโดยทั่วกัน
• พระตำหนักเพ็ชร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักเพ็ชร ถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗
สถานที่ตั้งพระตำหนักแห่งนี้ เคยเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร สำหรับพิมพ์บทสวดมนต์ และหนังสือพุทธศาสนาอื่นๆแทนหนังสือใบลาน โดยใช้ตัวพิมพ์เป็นอักษรอริยกะที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นใหม่
ตำหนักเพ็ชรเป็นพระตำหนักชั้นเดียว สร้างด้วยคอนกรีต มุงกระเบื้องเคลือบ ประดับสันหลังคาด้วยปูนปั้นลายกระจัง พื้นปูด้วยหินอ่อน เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมตะวันตกที่มีความงดงามลงตัว ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ยกพื้นสูงราว 1.20 เมตร
ด้านหน้าอาคารถูกออกแบบให้เป็นระเบียงยาวโดยตลอด ยื่นมุขระเบียงที่มุมอาคารด้านหน้าออกมาให้โดดเด่น เพื่อใช้เป็นทางขึ้นของตัวอาคาร รูปทรงหลังคาเป็นทรงปั้นหยา โดยมีการยกคอสองขึ้นโดยรอบ คอสองออกแบบเป็นช่องแสง และทำค้ำยันไม้แกะฉลุลายประดับอยู่โดยรอบชายคาของหลังคา
ส่วนมุขทางเข้าพระตำหนักเพ็ชร ออกแบบเป็นหลังคาจั่ว ผสมศิลปะตะวันตกเข้ากับศิลปะไทย โดยหัวเสารับหน้าจั่วเป็นลวดลายแบบตะวันตก แต่ลายหน้าบันเป็นศิลปะไทย ลายก้านดอกพุดตาน โดยกึ่งกลางหน้าบันออกเป็นรูปพระมหามงกุฎ และวชิราวุธ ปั้นลมทำเป็นลายปูนปั้นลวดลายอย่างเทศ
ขณะที่เสาระเบียงตกแต่งอย่างสวยงามด้วยซุ้มสาหร่ายรวงผึ้งลายดอกพุดตาน ผสมกับลวดลายเสาแบบศิลปะตะวันตก ส่วนการออกแบบตกแต่งซุ้มประตูและหน้าต่างทำเป็นซุ้มโค้งตามอย่างสถาปัตยกรรมตะวันตก
ภายในท้องพระโรงมีพระแท่น พระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเจ้าเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ส่วนห้องพระฉากประดิษฐานพระบรมรูปปั้นเท่าพระองค์จริง ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ พระรูปสีน้ำมัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระรูปของอดีตสมเด็จพระสังฆราช 18 พระองค์
พระตำหนักเพ็ชร เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกหนึ่งแห่ง เพราะเคยเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นที่ตั้งพระศพเมื่อสิ้นพระชนม์ รวมถึงเป็นที่ประชุมบำเพ็ญกุศลถวายทุกปี
นอกจากนี้ พระตำหนักเพ็ชรยังเคยใช้เป็นที่ประชุมมหาเถรสมาคมด้วย และในปี 2539 พระตำหนักเพ็ชรยังได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพ ณ พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร และถวายพระเกียรติตามราชประเพณีทุกประการ
• พระตำหนัก “คอยท่า ปราโมช”
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ กับ หม่อมราชวงศ์หญิงดวงใจ ได้ทรงสร้างกุฏิตึก ๓ ชั้น หลังคาเป็นดาดฟ้าเทคอนกรีต ถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ครั้งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต) ตั้งชื่อว่า "ตึกคอยท่า ปราโมช" โดยได้รื้อกุฏิไม้ที่ปลูกอยู่ในที่จะสร้างเดิมออกไปปลูกที่ใหม่
พระตำหนักคอยท่า ปราโมช เป็นตำหนักที่สวยงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมตะวันตก โดยรอบอาคารออกแบบให้มีกันสาดคอนกรีตยื่นออกโดยรอบเหนือแนวหน้าต่าง เพื่อกันแดดและฝน
พระตำหนักแห่งนี้ เป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตั้งแต่ยังเป็นพระเถระผู้น้อย และเมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงมีผู้นิยมเรียกว่า “ตำหนักพระสังฆราช”
นอกจากเป็นตำหนักที่ประทับของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ แล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเคยใช้เป็นที่ศึกษากรรมฐานให้แก่ชาวต่างประเทศผู้สนใจอีกด้วย
ภายในตำหนักชั้นล่างเป็นที่ประทับรับแขก โดยรอบห้องประดับด้วยตู้ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และตู้หนังสือ มีโต๊ะหมู่บูชาอยู่ตรงส่วนกลางและพระแท่นอาสนะอยู่มุมหนึ่งของห้อง
ถัดจากห้องรับรองเป็นห้องทรงงาน ซึ่งเป็นที่เสวยด้วย มีโต๊ะทรงงานแบบเรียบง่าย มีชั้นวางหนังสือและหนังสือพิมพ์ที่ทรงอ่านและทรงใช้ประจำวัน พร้อมทั้งเก้าอี้ไม้สำหรับประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ
ที่ผนังด้านหนึ่งของห้องนี้ ประดับภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับยืนท่ามกลางสัตว์นานาชนิด ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โปรดให้เขียนขึ้นตามนิมิตในฝัน
ชั้น 2 ของตำหนักประกอบด้วยห้องหน้ามุข ที่ทรงเคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสต่างๆ รวมทั้งบุคคลสำคัญ
ต่อจากห้องหน้ามุข เป็นห้องพระตั้งโต๊ะหมู่บูชาที่ทรงไหว้พระสวดมนต์และทรงเจริญสมาธิภาวนาประจำวัน
หน้าโต๊ะหมู่บูชามีพรมพื้นเล็กๆปูไว้ และมีอาสนะผ้าเก่าๆผืนเล็กวางซ้อนอยู่บนพรมอาสนะ
ผ้าผืนนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงอธิบายให้ศิษย์คนหนึ่งฟังว่า “นี่อาสนะของโยมแม่ ไม่ใช่เอาไว้นั่ง แต่เอาไว้กราบเวลาคิดถึงโยมแม่”
ถัดออกมาเล็กน้อย มีอาสนะอีกที่หนึ่ง วางไว้สำหรับเป็นที่ประทับนั่งทรงเจริญสมาธิภาวนา
ด้านหนึ่งของโต๊ะหมู่บูชา มีรูปของพระชนกและพระชนนี และรูปของป้ากิมเฮงที่เลี้ยงดูเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มา ตั้งแต่เล็กจนทรงบรรพชาเป็นสามเณร
ต่อจากห้องพระไปทางด้านใต้ เป็นห้องบรรทม ซึ่งแวดล้อมไปด้วยตู้หนังสือ มีเตียงบรรทมเล็กๆ เรียบง่าย ตั้งชิดผนังห้อง พร้อมโต๊ะวางไฟให้แสงสว่าง และกองหนังสือ ห้องนี้เคยเป็นที่ทรงงานค้นคว้าเรียบเรียงพระนิพนธ์ต่างๆมาก่อน ภายหลังจึงใช้เป็นห้องบรรทม
ถัดไปมีห้องเล็กๆ ที่บุด้วยผนังซับเสียง ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงประจำพระองค์ เพื่อบันทึกเทปสำหรับรายการวิทยุเทศนาต่างๆ ที่ออกอากาศทางวิทยุอส. และเรดิโอไทยแลนด์ เป็นต้น
ส่วนชั้น 3 ของตำหนักซึ่งเป็นดาดฟ้า มีห้องขนาดย่อม 1 ห้อง เป็นห้องพระและที่ทรงเจริญสมาธิภาวนา แต่เดิมทรงใช้เป็นที่บรรทมด้วย โดยบรรทมภายใต้มุ้งกลด ก่อนที่จะย้ายลงไปบรรทมที่ชั้น 2
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกตัญญุตาต่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระตำหนักคอยท่า ปราโมช เพื่อให้มีสภาพคงเดิม เหมาะสมกับการใช้งานปัจจุบัน โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้สนับสนุนงบประมาณและเป็นผู้ดูแลการบูรณะพระตำหนัก จนเสร็จเรียบร้อย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2550
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย กองบรรณาธิการ)