ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คงต้องยอมรับกันว่า หลังการสิ้นพระชนม์ของ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” สิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทย ตลอดรวมถึงคณะสงฆ์เฝ้าจับตามองและให้ความสนใจมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่า “เจ้าประคุณสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ” รูปใดจะได้รับการสถาปนาให้เป็น “สกลมหาสังฆปริณายก” หรือสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ “ชั้นสุพรรณบัฏ” ในปัจจุบัน ทั้งมหานิกายและธรรมยุตินิกาย พบว่า มีทั้งหมด 7 รูปด้วยกัน ประกอบด้วย
หนึ่ง-สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ
สอง-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม
สาม-สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
สี่-สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ธรรมยุต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
ห้า-สมเด็จพระพุทธโฆษาวรวิหารจารย์ (วีระ ภทฺทจารี ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
หก-สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
และเจ็ด-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ สมเด็จพระราชาคณะองค์ไหนในจำนวนทั้งหมด 7 รูปที่มีโอกาสได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มากที่สุด?
คำตอบในเรื่องนี้จำเป็นต้องไล่เรียง “คุณสมบัติ” ที่บัญญัติเอาไว้ในกฎหมาย ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
ทั้งนี้ หมวด 1 มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวระบุเอาไว้ชัดเจนในวรรคที่ 1 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง”
จากนั้นในวรรคที่ 2 ก็ขยายความเอาไว้ว่า “ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”
คำว่าอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์นั้นหมายความว่า ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏก่อนรูปอื่นนั่นเอง
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีความอาวุโสสูงสุด เป็นลำดับที่ 1 ก็คือ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ปี 2538
ทั้งนี้ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2468 อายุ 88 ปี 68 พรรษา ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม, แม่กองงานพระธรรมทูต, ประธานคณะพระธรรมจาริก และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ (พระอารามหลวง) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือและแม่กองบาลีสนามหลวง
ลำดับที่ 2 ได้แก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2544 เกิดวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2460 อายุ 95 ปี 76 พรรษา เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ลำดับที่ 3 ได้แก่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552 เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 อายุ 86 ปี 65 พรรษา เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ลำดับที่ 4 ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ธรรมยุต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ได้โปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552 เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2479 อายุ 77 ปี 57 พรรษา เป็นกรรมการ มส. คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
ลำดับที่ 5 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชคณะเมื่อปี 2553 เกิดวันที่ 26 มกราคม 2473 อายุ 83 ปี เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการ มส.
ลำดับที่ 6 ได้แก่ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2553เกิดวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2490 อายุ 66 ปี 46 พรรษา ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1-2-3-12 และ 13 (ธรรมยุต), คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช, กรรมการ มส.และรองแม่กองธรรมสนามหลวง
และลำดับที่ 7 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2554เกิดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 อายุ 72 ปี 52 พรรษา เป็นกรรมการ มส. คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะหนใหญ่กลาง
ชัดเจนว่า สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ยังมิได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า จะต้องมีการแต่งตั้ง “ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช” เสียก่อน ซึ่งนั่นย่อมเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชก็คือผู้ที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่นั่นเอง
ทั้งนี้ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า พศ.ได้ส่งหนังสือเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีสมณศักดิ์อาวุโสสูงสุดให้ดำรงตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพื่อลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยยึดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 หมวด 1 มาตรา 10 วรรคหนึ่งและวรรคสองที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราช ให้สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถ้าสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ที่เหลืออยู่เลือกสมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่งผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
แน่นอน เมื่อไล่เรียงคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีสมศักดิ์อาวุโสสูงสุดที่ พศ.เสนอจะเป็นใครไม่ได้นอกเสียจาก “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ทั้งนี้ เนื่องจาก“สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เมื่อปี พ.ศ.2538 หรือได้รับสถาปนามาแล้วถึง 18 ปี ขณะที่สมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นล้วนแล้วแต่ได้รับการสถาปนาทีหลังทั้งสิ้น ขนาดสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์เป็นลำดับที่ 2 คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2544 นี้นี่เอง
มิพักต้องกล่าวถึงสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นๆ
และนั่นคือข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์มีคุณสมบัติที่ตรงตามที่กฎหมายปกครองคณะสงฆ์กำหนดไว้ทุกประการ
ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อครั้งที่มีการสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกก็พบว่า มีความเหมือนและแตกต่างกันบ้างในบางประการ
กล่าวคือ หลังจากที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(วาสนะมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2531 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2532 แล้ว กรมการศาสนาได้เสนอรายนามสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งมีอยู่ในขณะนั้น 6 รูปต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อพิจารณาดำเนินการนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะตามพระราชอัธยาศัย
โดยสมเด็จพระราชาคณะทั้ง 6 รูป เรียงลำดับอาวุโสทางสมณศักดิ์ ดังนี้
1.สมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร อายุ 75 พรรษา 55 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2515
2.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา อายุ 84 พรรษา 62 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2518
3.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม อายุ 82 พรรษา 60 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2518
4.สมเด็จพระวันรัต(จับ ฐิตธมฺโม) วัดโสมนัสวิหาร อายุ 83 พรรษา 62 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520
5.สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ อายุ 85 พรรษา 65 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2528
6.สมเด็จพระธีรญาณมุนี(สนิธ เขมจารี) วัดปทุมคงคา อายุ 78 พรรษา 57 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2528
และสุดท้ายสมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชก็คือ สมเด็จพระญาณสังวร
แต่จุดที่แตกต่างก็คือ หลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ “ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช” มิใช่พระราชาคณะที่มีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงสุด ซึ่งก็คือ สมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ สุวฑฺฒโน) หากแต่เป็น “สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ)” วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจก็คือ ในขณะนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้มีสังฆทัศนะเกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชว่า ควรจะเป็นสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา ได้มีลิขิตขอถอนชื่อออก ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือที่ ศธ 0406/13647 ลงนามโดย พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
สำหรับคำถามที่สำคัญถัดมาก็คือ แล้วเมื่อได้ถึงจะมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่?
ก็ต้องตอบว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มิได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน
แต่เมื่อย้อนหลังดูเหตุการณ์ในอดีตที่มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แทนองค์เดิมก็อาจทำให้เห็นเค้าลางอะไรได้บ้าง
กล่าวเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 6 รูป ตั้งแต่ลำดับที่ 14 ถึง 19 โดยมีระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แทนองค์เดิมซึ่งสิ้นพระชนม์ที่น่าสนใจ ดังนี้
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 1 ปี 5 เดือน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทโย ปธ.9)วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 10 เดือน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี ปธ.9)วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 6 เดือน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ ปธ.6) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(วาสน์ วาสโน ปธ.4) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน ปธ.9) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน
หรือหมายความว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เกิดขึ้นหลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชองค์เดิมอย่างน้อย 6 เดือนและสูงสุด 1 ปี 5 เดือน
แต่ถ้าหากย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้นก็จะพบว่า มีในบางช่วงของประวัติศาสตร์ที่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่เกิดขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดิมหลายปี ยกตัวอย่างเช่นหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(พระองค์เจ้าวาสุกรี) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2396 การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(พระองค์เจ้าฤกษ์) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 หรือทิ้งระยะเวลานานถึง 38 ปี
ขณะที่การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2453 หรือใช้เวลานานถึง 11 ปีหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(สา ปุสฺสเทโว) เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2442
“....ตั้งแต่รัชชกาลที่ 4 พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระมหาเถระที่เปนพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระองค์ ถ้าไม่มี ก็ไม่ทรงตั้ง ในรัชชกาลที่ 4 ทรงตั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เพราะทรงนับถือเปนพระอาจารย์ เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่ได้ทรงตั้งอีกเลยตลอดรัชชกาล ในรัชชกาลที่ 5 จะทรงตั้งกรมสมเด็จพระปวเรศฯ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ แต่กรมสมเด็จฯ ทรงขอผัดให้ไหว้พระสวดมนต์ไปก่อน จนจวนจะสิ้นพระชนม์จึงทรงรับมหาสมณุตฯ ทรงรับประมาณเกือบปีหรือปีกว่า ก็สิ้นพระชนม์ รัชชกาลที่ 5 ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชสา ซึ่งเปนพระกรรมวาจาจารย์(พระศพกรมสมเด็จฯ เอาไว้นานจนสมเด็จพระสังฆราชสาสิ้นพระชนม์ลงอีก เข้าพระเมรุเดียวกับเจ้านายอีกหลายพระองค์) เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสาสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่ได้ทรงตั้งอีกตลอดรัชชกาล สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงรับมหาสมณุตฯ ในรัชชกาลที่ 6 เพราะทรงเปนพระอุปัชฌาย์ในรัชชกาลที่ 6”(ตัวสะกดตามต้นฉบับ)”
นั่นคือบันทึกเกร็ดประวัติเกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบันทึกไว้จากคำบอกเล่าของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
นี่คือประวัติศาสตร์และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งพุทธศาสนิกชนคงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วสมเด็จพระราชาคณะรูปใดจะได้รับการสถาปนา และจะได้รับการสถาปนาเมื่อไหร่