"วัดบวรนิเวศวิหาร" เป็นวัดสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ หรือวังหน้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่ในสมัยของพระองค์ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฏ (สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งผนวชเป็นพระภิกษุอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เสด็จมาครอง เมื่อ พ.ศ.2375 พระองค์จึงได้ทรงบูรณะสิ่งต่างๆ เพิ่มเติม
ปัจจุบันภายวัดบวรนิเวศวิหารมีสถานที่สำคัญ อาทิ พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 คือ พระพุทธชินสีห์ และพระสุวรรณเขต (พระโต) พระเจดีย์สีทองทรงกลมขนาดใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระเจดีย์ อีกทั้งยังมีวิหารพระศาสดา พระพุทธบาทจำลอง ให้พุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาได้มากราบไหว้กัน และตำหนักปั้นหย่า อาคารสถาปัตยกรรมแบบยุโรปอันงดงามสมส่วน
วัดบวรนิเวศวิหารเเห่งนี้ นอกจากจะมีความงดงามแล้ว ยังเป็นที่สถิตขององค์สมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺคโต)พระสังฆราชองค์ที่ 8 , สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) พระสังฆราชองค์ที่ 10,สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต)พระสังฆราชองค์ที่13 และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทุกพระองค์เป็นสมเด็จองค์พระสังฆราชองค์ที่ 19
และเพื่อเป็นการถวายอาลัยต่อการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เราจึงนำเรื่องราวของพระตำหนักแห่งสมเด็จพระสังพระสังฆราช(สมเด็จพระญาณสังวร) มาบอกเล่าสู่กันฟัง
พระตำหนักแรกคือ "ตำหนักคอยท่า ปราโมช" ซึ่งมีที่มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีพระราชดำริว่าวัดรังษีสุทธาวาสซึ่งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศวิหารนั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดบวรฯ และเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสเดิมว่า "คณะรังษี" และต่อมาในปี พ.ศ. 2478 หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมชได้สร้างกุฏิคอนกรีต เป็นตึก 3 ชั้น ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ครั้งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ) จึงเรียกชื่อตำหนักแห่งนี้ว่า "ตำหนักคอยท่า ปราโมช"
ตำหนักคอยท่า ปราโมช มีความสำคัญคือเป็นสถานที่ทรงงานของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชฯ จึงมีหลายคนนิยมเรียกว่า “ตำหนักพระสังฆราช”
สำหรับพระตำหนักสำคัญอีกหนึ่งหลังคือ "ตำหนักเพ็ชร" ซึ่งเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายเป็นท้องพระโรงแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2457
ตำหนักเพ็ชร เคยเป็นที่ตั้งของโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์บทสวดมนต์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น โดยลักษณะของพระตำหนักนั้นเป็นพระตำหนักชั้นเดียวสร้างด้วยคอนกรีต มุงกระเบื้องเคลือบ ประดับสันหลังคาด้วยด้วยปูนปั้นลายกระจัง ปูพื้นด้วยหินอ่อน หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระล้อมด้วยเครือเถา ถัดลงมาจารึกชื่อพระตำหนักเพ็ชร
ตำหนักแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคม อีกทั้งยังเคยใช้เป็นที่ประชุมคณะธรรมยุติวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างพระมหานิกายและธรรมยุติ และพระตำหนักเพ็ชรยังได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2539 อีกด้วย
ปัจจุบันหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช พระตำหนักเพ็ชรแห่งนี้ ได้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช(เจริญ สุวฑฺฒโน) สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งพระองค์ได้ทรงสิ้นพระชนม์เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ไปเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยได้มีการจัดพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเปิดให้พุทธศาสนิกชนสามารถเข้ามาร่วมสักการะได้ โดยบรรยากาศบริเวณตำหนักเพ็ชรแห่งนี้ต่างเนืองแน่นไปด้วยเหล่าพุทธศาสนิกชน ที่เดินทางมาเพื่อสักการะพระศพองค์สมเด็จพระสังฆราช โดยมีการโปรดเกล้าฯให้ไว้ทุกข์นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม-23 พฤศจิกายน 2556