ถ้าเอ่ยถึงชื่อ "วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร" คุณผู้อ่านจะนึกถึงอะไรครับ?
นึกถึงวัดต้นตระกูล "บุนนาค" ที่ก่อสร้างวัดนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งตั้งอยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ขาเข้าพระนคร
นึกถึง "วัดรั้วเหล็ก" ดังคำเรียกขานของชาวบ้านย่านนี้ เพราะเป็นวัดที่มีรั้วทำจากเหล็กสูง ๓ ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธโบราณ คือหอก ดาบ และขวาน
นึกถึงวัดที่ปั้น "พระนักเทศน์" ชื่อดังมาแล้วมากมายหลายรูป ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(จี่) เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓
และอีกหนึ่งสิ่งที่คุณผู้อ่านจะต้องนึกถึง เมื่อเข้ามายังวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หรือวัดประยุร (บางท่านก็เรียกวัดประยูร) โดยจะเห็นเด่นเป็นสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็คือ "พระบรมธาตุมหาเจดีย์" องค์สีขาวนวลตา
เนื่องจากเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประจำประเทศไทย แจ้งว่า ยูเนสโกได้ประกาศผลการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี ๒๕๕๖ เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรภาคเอกชน หรือโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
โดยโครงการอนุรักษ์เจดีย์ประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ ๑ หรือ Award of Excellence ด้วยเหตุผลว่า มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา ที่สะท้อนความเข้าใจทางเทคนิค และเป็นโครงการอนุรักษ์ที่สร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้าง
นายทิม เคอร์ติส ประธานคณะกรรมการตัดสินและหัวหน้าแผนกวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่คณะกรรมการได้พิจารณารางวัลยอดเยี่ยม อันดับที่ ๑ ให้กับเจดีย์ประธานของวัดประยุรวงศาวาส ว่า
"โครงการดังกล่าวได้ธำรงรักษาปูชนียสถานที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของกรุงเทพมหานคร ผสานความศรัทธาทางศาสนากับความท้าทายทางวิศวกรรม นอกจากนี้ โครงการได้ส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาทางสังคมในย่านกะฎีจีน ย่านประวัติศาสตร์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจลึกซึ้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัวของยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยการเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างภายใน ขณะที่ยังคงรูปลักษณ์ภายนอกของเจดีย์ที่ทรุดเอียงนี้
อีกทั้งยังมีการบูรณะซ่อมแซมที่บูรณาการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และวิถีการก่อสร้างแบบดั้งเดิมได้สื่อสารขนบโบราณและสุนทรีย์แห่งยุคเก่า ความร่วมมือร่วมใจที่น่ายกย่องระหว่างพระสงฆ์ ผู้เชี่ยวชาญ และชาวบ้าน เป็นประจักษ์พยานถึงความสัมพันธ์อันยั่งยืนระหว่างวัดและชุมชน ในการธำรงรักษาพุทธศาสนสถานให้ดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชุมชนตราบจนทุกวันนี้"
พระครูโสภณปริยัติยานุกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้ให้สัมภาษณ์กับ "ธรรมาภิวัตน์" ว่า ๒ สิ่งที่ทำให้เรียกคะแนนจากคณะกรรมการได้ คือเรื่องความเก่าแก่อันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม และความร่วมมือร่วมใจกันของวัด ชุมชน ภาควิชาการ ประวัติศาตร์ ในการบูรณปฏิสังขรณ์
โดยเฉพาะชาวบ้านย่านนี้ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทางความแตกต่างหลากหลายในพหุวัฒนธรรม ในการดำเนินวิถีชีวิตทั้ง ไทย จีน ฝรั่ง อย่าง "ชุมชนกุฎีจีน" ทว่า ผู้คนในชุมชนต่างยึดเอาวัดประยุรวงศาวาส เป็นแกนกลางในการยึดเหนี่ยวจิตใจทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน
"สาเหตุที่ได้รับรางวัลไม่ใช่เพียงแค่การบูรณะพระบรมธาตุมหาเจดีย์เท่านั้น แต่เป็นเพราะการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเดิมอยู่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่มันเป็นสมัยใหม่ คือคงไว้ของเดิม แต่เสริมหลักความมั่นคงไว้
ยิ่งไปกว่านั้น ได้รับเพราะแรงสนับสนุนจากชุมชนที่อยู่ร่วมกัน คือชุมชนกุฎีจีน เนื่องจากชุมชนที่อยู่รายล้อมวัดประยุร มีหลายศาสนาหลายพหุวัฒนธรรม อย่างมัสยิดบางหลวง โบสถ์ซางตาครูส ตลอดจนชุมชนข้างเคียง ๖-๗ ชุมชน เราจึงเอาจุดศูนย์กลางคือพระบรมธาตุมหาเจดีย์ในการจัดงานในวันสำคัญต่างๆ ให้เขาได้มาร่วมกิจกรรมมาร่วมงานกัน และต้องขออนุโมทนาขอบคุณกรมศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมสถาปนิกสยาม และสำนักงานพระพุทธศาสนา ซึ่งผนึกกำลังกันในการดูแลตั้งแต่ต้น"
สำหรับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม สีขาว สัณฐานรูประฆังคว่ำ สูง ๖๐.๕๒๕ เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ ๑๖๒ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐ เมตร ส่วนในบริเวณพระเจดีย์องค์ใหญ่มีชานเดินได้รอบ กว้าง ๕ เมตร และมีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ ๕๔ คูหา ชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์เล็ก ๑๘ องค์ เรียงรายรอบพระองค์พระเจดีย์ใหญ่ พระบรมธาตุมหาเจดีย์ถือเป็นเจดีย์องค์ใหญ่และสูงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อสมัยแรกในการก่อสร้าง
โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เป็นผู้เริ่มสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้ขึ้น และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ได้สร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
"สมเด็จเจ้าพระยาท่านสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อเป็นการปลูกฝังว่า พระพุทธศาสนามีความเจริญในเมืองไทยและวัดนี้ก็เป็นวัดต้นตระกูลท่าน คือประยุรวงศาวาส และเจตนารมย์ในการสร้างก็คือการถวายเป็นพุทธบูชา จนกระทั่งรุ่นลูกรุ่นหลานก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เรื่อยมา" พระครูโสภณปริยัติยานุกิจ กล่าว
พระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ เมื่อคราวที่พระปรากรมมุนี(เปลี่ยน) เจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์เล็กรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ และซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ จากนั้นได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานไว้บนพระเจดีย์องค์ใหญ่
ในสมัยพระสมุห์ปุ่น (ต่อมาคือพระครูสาราณิยคุณ) ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระเครื่อง พระกรุเอาไว้ภายในและได้ให้จารึกข้อความลงในกระดานชนวน วางไว้ในห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุว่า
"พระสมุห์ปุ่น ได้จารึกพระธรรมประจุพระเจดีย์ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ปีมะแม ๑๒๖๙ พระพุทธศาสนา ๒๔๕๐ เป็นส่วนอดีต ๒๕๔๙ ส่วนอนาคต ขอให้เป็นปัจจัยแด่พระวิริยาธิกโพธิญาณ ในอนาคตกาลเทอญ"
๑๐๐ ปีต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สุด และได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนองค์พระเจดีย์ใหญ่ ซึ่งในการบูรณะครั้งนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน
พระครูโสภณปริยัติยานุกิจ เล่าว่า "คณะสงฆ์ในตอนนั้น ได้มีการประชุมคณะกรรมการ ซึ่งมีความต้องการให้พระเจดีย์ของวัดประยุรเป็นสีทองเหมือนภูเขาทองที่วัดสระเกศ เพราะสร้างในยุคเดียวกัน ท่านเจ้าพระคุณก็ขอมติในที่ประชุมว่า ให้ทาเป็นสีทองหรือติดโมเสคสีทองที่เจดีย์ โดยกรมศิลปากรซึ่งได้เข้าร่วมประชุมนั้น ไม่เห็นด้วย และต้องการให้คงอนุรักษ์ไว้เช่นเดิม คือเป็นสีขาว มติที่ประชุมจึงให้อนุรักษ์สถาปัตยกรรมเอาไว้เช่นเดิม ไม่ทำลายของเดิม ไม่เพิ่มของใหม่"
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปชมด้านในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ พบว่า ในการเสริมโครงสร้างภายในเจดีย์สามารถนำเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ มาผสมผสานเข้ากับเทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ และยังคงรักษาเปลือกนอกของเจดีย์ที่มีความลาดเอียงไว้ได้
นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในโครงสร้างที่มีความซับซ้อนของการจำแนกประเภทของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ และยังคงอัตลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมโบราณจากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เป็นอย่างดี
โดยในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายนนี้ จะมีพิธีรับมอบรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยมจากยูเนสโกที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ซึ่งอยากจะชวนคุณผู้อ่านทุกท่าน ไปร่วมกันชื่นชมยินดี และร่วมชมตัวอย่างวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับวัด ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของไทยทุกเหล่า
ไม่ว่าจะถือกำเนิดมาจากถิ่นฐานใด ทว่าสามารถดำรงอยู่ได้แม้ในอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไปก็ตาม
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)