xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดราชผาติการาม พระอารามแห่ง “พระมหาชนก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดราชผาติการามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนราชวิถี แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

เดิมชื่อ “วัดส้มเกลี้ยง” เป็นวัดโบราณ ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง พวกญวนอพยพที่อยู่บริเวณแถบนั้น จึงได้รื้ออิฐไปก่อสร้างสถานที่ต่างๆ จนแทบไม่เหลือให้เห็นสภาพวัด

เมื่อ พ.ศ. 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ สร้างวัดใหม่ เป็นการผาติกรรมแทนวัดส้มเกลี้ยง และได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชผาติการาม” อันหมายถึงวัดที่พระราชาทรงผาติกรรม แลกเปลี่ยน ทดแทน หรือทำให้เจริญขึ้น

แต่การสร้างวัดยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 3 ก็เสด็จสวรรคต ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา จนถึงต้นรัชกาลที่ 5 โปรดให้พระยาราชสงคราม(กร) เป็นแม่งานในการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยย้ายหมู่กุฎีที่ถูกถนนราชวิถีตัดผ่าน ไปสร้างไว้ทางด้านเหนือ แล้วสร้างกำแพงล้อมรอบให้เป็นเขตวัด

สิ่งสำคัญภายในพระอารามแห่งนี้ ได้แก่

• พระอุโบสถ เป็นรูปทรงศิลปะแบบจีนผสมญวน หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นติดกระเบื้องถ้วยชามแบบจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกาประดับเช่นเดียวกับพระอุโบสถวัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นหรือปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชโอรสาราม เป็นต้น

• “หลวงพ่อสุก” พระประธานประจำพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบเชียงแสน หน้าตักกว้าง 69 ซม. สูง 165 ซม. เนื้อทองสำริดสามกษัตริย์ มีเส้นลายเงินฝังอยู่ตามชายสังฆาฏิและจีวร มีพระโอษฐ์สุกเป็นสีนาก จึงได้รับการขนานนามว่า “หลวงพ่อสุก” มีพุทธลักษณะเหมือน “หลวงพ่อใส” วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย และ “หลวงพ่อเสริม” วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

• พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เดิมเป็นกุฏิที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อดีตเจ้าอาวาส อยู่จำพรรษามาโดยตลอด แต่เมื่อท่านสิ้นแล้วทางวัดจึงได้นำมาจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์

• จิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง “พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพเขียนฝาผนังทางด้านซ้ายของพระประธาน มีการแบ่งภาพตามเนื้อหา ออกเป็น 9 กลุ่ม เขียนด้วยเทคนิควิธีการแบบอุดมคติไทย ผสมผสานกับแนวคิดปัจจุบัน โดยมีต้นแบบจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเขียนขึ้น

วัดราชผาติการามได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาทุกสมัยของเจ้าอาวาส โดนเฉพาะในสมัยของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(วิน ธมฺมสาโร) เป็นเจ้าอาวาส ได้บูรณปฏิสังขรณ์ก่อสร้างอาคารเสนาสนะต่างๆมากมาย นำความเจริญก้าวหน้าและชื่อเสียงเกียรติยศมาสู่วัดราชผาติการามวรวิหารจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีชื่อเสียงในการแสดงพระธรรมเทศนา ด้วยลีลาด้วยภาษาและอรรถรสเป็นที่พอใจของผู้ฟัง และเป็นที่ยอมรับในสังฆมณฑลตลอดถึงประชาชนโดยทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์เป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดให้เจ้าหน้าที่มาบันทึกเสียงการแสดงพระธรรมเทศนาเกือบทุกกัณฑ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระธรรมเทศนาพระราชทานในวโรกาสพิเศษ ถวายแด่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ

ในปี 2516 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และได้อัญเชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มาบรรจุไว้หลังพระอุโบสถด้วย

แม้จะมีการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องกันมา แต่กาลเวลาที่ล่วงเลย ก็ทำให้วัดราชผาติการามชำรุดทรุดโทรมไป และในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ทางวัดจึงเห็นควรให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรงสวยงาม และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมให้เป็นมรดกของชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเรื่องราวของพระมหาชนก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์

ดังนั้น จึงได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชผาติการาม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป

การบูรณะเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2553 แล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556

ที่มาของพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก”

เมื่อปี 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(วิน ธมฺมสาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม เรื่อง พระมหาชนก ตอนพระมหาชนกเสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยานในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วง 2 ต้น

ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสอันโอชา แล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลดี ถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกก็ยังคงตั้งตระหง่าน แสดงว่าสิ่งใดดีมีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่ง และจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ที่ขาดปัญญา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ 4 ภาคที่ 2) ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี ที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จนกระทั่งได้ครองราชสมบัติ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่กรุงมิถิลา ด้วยพระปรีชาสามารถ

มาถึงตอนเรื่องมะม่วง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงโมกขธรรม ยังไม่ถึงวาระอันสมควร เพราะว่าได้ทรงสร้างความเจริญแก่มิถิลายังไม่ครบถ้วน

กล่าวคือ “ข้าราชบริพาร นับแต่อุปราช และโดยเฉพาะเหล่าอำมาตย์ ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทั้งทางวิทยาการทั้งทางปัญญา ยังไม่เห็นความสำคัญของผลประโยชน์แท้แม้ของตน จึงต้องตั้งสถานอบรมให้เบ็ดเสร็จ”

อนึ่ง พระมหาชนกยังต้องทรงปรารภเรื่องการอนุบาลต้นมะม่วงตามวิธีสมัยใหม่ 9 วิธีอีกด้วย

ด้วยประการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดัดแปลงเนื้อเรื่องในมหาชนกชาดกให้เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน โดยที่พระราชดำริว่า พระมหาชนกจะบรรลุโมกขธรรมได้ง่ายกว่า หากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 156 ธันวาคม 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)





กำลังโหลดความคิดเห็น