วัดเทวราชกุญชร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 90 ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
พระอารามแห่งนี้ เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีนามว่า “วัดสมอแครง” เหตุที่เรียกเช่นนี้ เล่ากันว่าเพราะมีต้นสมอร่องแร่งมาก แต่บางท่านสันนิษฐานว่า “สมอ” เพี้ยนมาจากคำว่า “ถมอ” (ถะมอ) เป็นภาษาเขมรแปลว่า “หิน” วัดนี้คงเรียกกันครั้งแรกว่า “ถมอแครง” แปลว่า “หินแกร่งหรือหินแข็ง”
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ จากนั้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ หรือ “พระองค์เจ้ากุญชร” พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า “วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร” โดยทรงนำคำว่า “เทวราช” แปลว่าพระอินทร์ มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร ซึ่งแปลว่าช้าง รวมความแล้วแปลว่า “ช้างพระอินทร์”
สิ่งสำคัญในวัดเทวราชกุญชร ได้แก่
• พระอุโบสถ ขนาดใหญ่ กว้าง 17 เมตร ยาว 36 เมตร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ทรงสร้างขึ้น มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ที่มุมกำแพงแก้วมีเจดีย์ทั้ง 4 มุม
พระอุโบสถผ่านกาลเวลามายาวนาน กระทั่งในปี 2555 คณะกรรมการอนุรักษ์และทำนุบำรุงศาสนสถาน อันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และการส่งเสริมการเผยแผ่ศาสนา สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เห็นชอบให้การสนับสนุนและดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2556 พระอุโบสถจึงหวนคืนสู่ความสง่างามเคียงคู่พระอารามแห่งนี้
• พระพุทธเทวราชปฏิมากร พระประธานประจำพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อ ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 4.35 เมตร ปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยทวารวดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “พระพุทธเทวราชปฏิมากร”
พระพุทธรูปองค์นี้ มีประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบว่า กรุงศรีอยุธยาพบพระทององค์ใหญ่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพระพิทักษ์เทเวศรไปอัญเชิญลงมายังพระนคร โดยทางน้ำ ครั้นถึงปากคลองเทเวศร์ แพที่อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ฉุดเท่าไรก็ไม่มายังตำหนักแพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นที่วัดสมอแครง
การถวายเครื่องสักการะแด่องค์พระพุทธเทวราชปฏิมากร นับว่าแปลกกว่าวัดอื่นๆ เนื่องจากพุทธศาสนิกชนนิยมถวาย “ผ้าไตร” แทนดอกไม้ธูปเทียน นับเป็นวัดแรกในประเทศไทยที่มีการนำผ้าไตรมาเป็นเครื่องสักการะพระพุทธรูปที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ให้ผลสัมฤทธิ์ตามที่ปรารถนา มาจนทุกวันนี้
• จิตรกรรมฝาผนัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ นอกจากภาพชุมนุมเทพยดาแล้ว ยังมีภาพพุทธประวัติตอนโปรดพุทธมารดา ทศชาติชาดก ตอนสุวรรณสามชาดก ภาพเครื่องตั้งบูชาแบบจีน ซึ่งเป็นรูปแบบนิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 3 รวมทั้งภาพปริศนาธรรมมากมายที่แปลกไปจากวัดอื่นๆ คือ ภาพพระภิกษุปลงอสุภกรรมฐานกับซากศพในสภาพต่างๆ
• พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ทำด้วยทองเหลือง ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว สูง 43 นิ้ว จำนวน 9 องค์ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานแก่วัดเทวราชกุญชร
• มณฑปจตุรมุข เป็นสถานที่ไหว้พระ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม และทำบุญถวายสังฆทาน
• พิพิธภัณฑ์สักทอง อาคารพิพิธภัณฑ์สักทอง ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ 2 ชั้น กว้าง 16.75 เมตร ยาว 30.15 เมตร ใช้เสาไม้สักทองทั้งหลัง ขนาดเสา 2 คนโอบ มีอายุประมาณ 479 ปี ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การอนุรักษ์ไม้สักทอง และเป็นศูนย์เผยแพร่ความรู้ทางด้านพระพุทธศาสนา
และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา
ภายในจัดแสดงรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งเท่าพระองค์จริงของสมเด็จพระสังฆราช 19 พระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
• ศาลาการเปรียญ (เทวราชธรรมศาลา) ลักษณะทรงไทยตรีมุข 2 ชั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระราชทานพระพุทธรัตนโกสินทร์มหาวชิราลงกรณ์ ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว ประดิษฐานประจำพระแท่นบุษบก
• กุฏิสงฆ์ (เทวราชกุญชร) ลักษณะทรงปั้นหยา 2 ชั้น เป็นกุฏิโบราณ บูรณะขึ้นใหม่
• อาคารสงฆ์พระมงคลนาวาวุธ ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ 4 ชั้น เป็นอาคารสร้างใหม่ จำนวน 49 ห้อง
• หอพระรัตนตรัย ทรงบุษบก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร
• อาคารอเนกประสงค์ (เทวราชธรรมสถิต) ลักษณะทรงปั้นหยาประยุกต์ ขนาดกว้าง 9.50 เมตร ยาว 16 เมตร สำหรับพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนใช้ในการประกอบศาสนกิจศึกษาเล่าเรียน
• ศาลาท่าน้ำ สำหรับปล่อยปลา สะเดาะเคราะห์ และให้อาหารปลา ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อต้นปี 2557 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2557
ปัจจุบัน พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.9) รองเจ้าคณะภาค 13 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งกว่า 10 ปี ที่ท่านเข้ามารับผิดชอบปกครองดูแลวัดเทวราชกุญชร ได้นำความรุ่งเรือง สง่างาม มาสู่พระอาราม สมนาม “ช้างพระอินทร์” โดยแท้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 160 เมษายน 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)