xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : สวยเหลือเชื่อ ‘วิหารฉางเกลือ’ วัดโมลีโลกยาราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 2 ริมคลองบางกอกใหญ่ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

พระอารามนี้เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “วัดท้ายตลาด” ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงรวมวัดท้ายตลาดกับวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) เข้าเป็นเขตพระราชวัง จึงทำให้ทั้งสองวัดไม่มีพระสงฆ์อยู่ประจำตลอดสมัยกรุงธนบุรี

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างเสนาสนะสงฆ์ขึ้นใหม่

ในการนี้โปรดให้สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระอัครมเหสี ทรงสร้างพระอุโบสถขนาดกลาง ซึ่งมีลักษณะวิจิตรงดงาม เมื่อสร้างและบูรณะเสนาสนะเสร็จแล้ว จึงโปรดให้พระสงฆ์มาอยู่จำพรรษา และได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงในเวลาต่อมา

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงขนานนามวัดใหม่ว่า “‌วัดพุทไธสวรรย์” หรือ “วัดพุทไธสวรรยาวาศวรวิหาร” ทรงมีพระราชศรัทธาในอดีตเจ้าอาวาส คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) จึงโปรดให้พระราชโอรสแทบทุกพระองค์ เสด็จมาทรงพระอักษรกับเจ้าประคุณสมเด็จ

ครั้นถึง พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม และทรงขนานนามใหม่ว่า “วัดโมลีโลกย์สุธารามอาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง” เรียกสั้นๆว่า “วัดโมลีโลกย์สุธาราม” ซึ่งภายหลังได้เรียกว่า “วัดโมลีโลกยาราม”

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญ คือ การบูรณะพระอุโบสถ ได้พระราชทานตราไอยราพรต ซึ่งเป็นตราประจำแผ่นดินสมัยนั้น ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถด้วย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงบูรณะหอพระไตรปิฎก และเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค เพื่อถวายผ้าพระกฐินเป็นเวลาหลายปี

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาวัดโมลีโลกยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายผ้าพระกฐิน พ.ศ. 2458 และใน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐิน

สำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐิน เมื่อ พ.ศ. 2521

นับได้ว่า วัดโมลีโลกยารามเป็นวัดหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

• เป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดิน 4 รัชกาลเป็นอย่างน้อย ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม

• เป็นสถานที่ศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อยังทรงพระเยาว์ และพระราชโอรสเหล่านั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

• เป็นที่สถิตของสมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงคุณธรรมสำคัญ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวช และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉุย) ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านพระบาลี

ส่วนปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัดโมลีโลกยาราม ได้แก่

พระอุโบสถ ลักษณะทรงไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หลังคามุขลด 3 ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงสร้างขึ้น

พระพุทธโมลีโลกนาถ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโบราณ หล่อด้วยสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 81 นิ้ว มีพุทธลักษณะงดงามมาก

พระวิหาร ศิลปกรรมไทย-จีน เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัด สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงใช้เป็นสถานที่เก็บเกลือ (เพราะสมัยนั้นเกลือมีความสำคัญในการถนอมอาหารในการเดินทัพ นับเป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการรบ) จึงเรียกกันว่า “พระวิหารฉางเกลือ” มีหนึ่งเดียวในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์

พระวิหารแห่งนี้มีลักษณะพิเศษที่หาดูได้ยาก เพราะภายในกั้นเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นห้องโถงใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยต่างๆ ส่วนตอนหลังเป็นห้องเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ นามว่า “พระปรเมศ” ผนังและเพดานเขียนลวดลายงดงาม ประตูและหน้าต่างทุกช่องเขียนลายรดน้ำ

หอสมเด็จ ประกอบด้วยหอสมเด็จ กว้าง 4 เมตร ยาว 8.60 เมตร และพระเจดีย์ทรงลังกา 4 องค์ พระเจดีย์นี้เป็นสถานที่บรรจุพระเมาฬีของรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้

หอสมเด็จนี้ รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ผู้เป็นพระอาจารย์ครั้งยังทรงพระเยาว์ และเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของพระองค์เมื่อผนวช

หอพระไตรปิฎก สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารไม้สักทรงไทย ใต้ถุนสูง เป็นที่ศึกษาพระไตรปิฎก ห้องสมุดขนาดย่อม และด้านล่างใช้เป็นห้องเรียนพระปริยัติธรรม

วัดโมลีโลกยารามยังคงความเรียบง่ายสง่างามมาจนปัจจุบัน ด้วยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากอดีตเจ้าอาวาสในหลายยุคหลายสมัย นอกจากนั้น ใน พ.ศ. 2549 รัฐบาลได้บูรณะพระอาราม โดยเฉพาะเขตพุทธาวาส ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร หอสมเด็จ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

และในปี 2555 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับทางวัดโมลีโลกยาราม จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยเบื้องต้นได้ดำเนินงานบูรณปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎก ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิอดีตเจ้าอาวาส ในปี 2557

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
วิหารฉางเกลือ
หอพระไตรปิฎกที่บูรณะแล้ว
หอพระไตรปิฎกที่บูรณะแล้ว
หอสมเด็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น