xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดชนะสงคราม ประกาศนามแห่งชัยชนะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดชนะสงครามเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 77 แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ตามประวัติกล่าวว่า เดิมเป็นวัดโบราณเล็กๆ เรียกว่า “วัดกลางนา” เพราะบริเวณรอบวัดเป็นทุ่งนา และเป็นที่ตั้งนิวาสถานของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังทรงรับราชการในสมัยกรุงธนบุรี

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ทรงรวบรวมชาวรามัญและพระสงฆ์รามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ให้ตั้งหลักฐานอยู่รอบวัดกลางนา ทรงปฏิสังขรณ์วัด เพื่อให้พระสงฆ์รามัญจำพรรษา แล้วทรงตั้งนามใหม่ว่า “วัดตองปุ” โดยเลียนแบบชื่อวัดและขนบธรรมเนียมของวัดในกรุงศรีอยุธยา ที่พระสงฆ์รามัญพำนักอยู่

สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงให้การอุปถัมภ์บำรุงวัดตองปุเรื่อยมา และเมื่อบ้านเมืองสงบสุขร้างศึกกับพม่าแล้ว จึงได้ทรงสถาปนาวัดตองปุใหม่ทั้งพระอาราม ทรงก่อสร้างพระอุโบสถ พระเจดีย์ กุฏิสงฆ์ และถาวรวัตถุอื่นๆ เมื่อแล้วเสร็จจึงน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่ได้ทรงชนะศึกสงครามกับพม่าถึง 3 ครั้ง และพระราชทานให้เป็นวัดสำหรับชาวรามัญ เพื่อเป็นการตอบแทนคุณและเชิดชูเกียรติทหารรามัญในกองทัพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เป็นกำลังสำคัญในการรบกับพม่า

ในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ได้โปรดให้รื้อพระที่นั่งพิมานดุสิตา ซึ่งเป็นหอพระวังหน้า นำไม้ไปสร้างเสนาสนะที่วัดชนะสงคราม

ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดชนะสงคราม โดยในปลายรัชกาลได้ทรงสร้างซุ้มประตู 2 ซุ้ม แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงเสด็จฯ ไปยกช่อฟ้า แล้วโปรดให้สร้างพระวิหารด้านข้างพระอุโบสถ สร้างกุฏิใหม่เป็นตึก

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการบูรณะซ่อมแซมกุฏิ เสนาสนะ หลังคาพระอุโบสถที่ถูกฟ้าผ่าเสียหาย และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งสร้างถนนภายในวัด

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้มีการสร้างกุฏิเพิ่มขึ้น และได้ทำการปิดทองพระประธานและพระสาวกในพระอุโบสถ นอกจากนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างที่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เฉลียงด้านหลังพระประธานในพระอุโบสถ แต่การยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงดำเนินการต่อมาจนแล้วเสร็จ และโปรดให้อัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐานที่วัดชนะสงคราม โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในการนี้ด้วย

สำหรับในรัชกาลปัจจุบัน วัดชนะสงครามได้มีการปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนปัจจุบัน พระเทพวิมลมุนี(กฤช กิตฺติวํโส) เป็นเจ้าอาวาส ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ระหว่างปี 2557-2561 บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ศาลาราย 8 หลัง รวมทั้งซุ้มประตูและพื้นลานเขตพุทธาวาส เพื่อยังความสง่างามของพระอารามหลวงให้ดำรงคงอยู่สืบไป

ปูชนียวัตถุที่สำคัญในพระอารามแห่งนี้ ได้แก่

• พระอุโบสถ มีขนาดใหญ่ กว้าง 13 วา 2 ศอก ยาว 20 วา 2 ศอก สูง 15 วาเศษ หน้าบันแกะสลักเป็นภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับฉัตร 5 ชั้น ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้วปูนปั้นเป็นลายกนกประดับด้วยกระจกสีต่างๆ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถเป็นเรื่องเวสสันดรชาดก และภาพพุทธประวัติ

• พระประธานในพระอุโบสถ มีนามว่า “พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหทธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดา อนาวรญาณ” หรือชาวบ้านเรียกขานว่า “หลวงพ่อปู่” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.50 เมตร สูง 3.50 เมตร เบื้องหลังพระประธานมีประภามณฑลโพธิพฤกษ์และภาพจินตนาการ เหนือพระประธาน มีฉัตร 7 ชั้นกางกั้น อันหมายถึงพระสัปตปฎลเศวตฉัตรของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

โดยรอบพระประธานมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 15 องค์ แต่ละองค์หน้าตักกว้าง 0.95 เมตร สูง 1.20 เมตร และหลังพระประธานมีรูปปั้นพระมหากัจจายนะ 1 องค์

สำหรับคติพระประธาน 16 องค์นี้สันนิษฐานว่า สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงนำแบบอย่างมาจากวัดชุมพลนิกายาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตามคติโบราณนับถือกันมาก ถือว่าทรงพระคุณในการประสิทธิ์ประสาทชัยชนะเหนือศัตรู ถึงกับบัญญัติอักษรย่อขึ้นแทนพระนามเรียกว่าหัวใจคือ “นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง” ผูกเป็นยันต์เรียกว่ายันต์พระเจ้า 16 พระองค์

ส่วนด้านหลังพระประธานเป็นเฉลียงกั้นห้อง ทำเป็นคูหาบรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายวังหน้า 5 รัชกาล

• พระเจดีย์ ตั้งอยู่ 4 มุม ของกำแพงแก้วอุโบสถ ด้านหน้า 2 องค์เป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ 20 ทรงจอมแห ศิลปะสมัยอยุธยา กว้าง 9 เมตร สูง 15 เมตร ด้านหลังเป็นพระเจดีย์ทรงกลม 2 องค์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร

• พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ผู้ทรงสถาปนาวัดชนะสงคราม ประดิษฐานอยู่ในศาลด้านหน้าพระอุโบสถ

• เจดีย์พระบรมธาตุ ศิลปะรัตนโกสินทร์ มี 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นหอระฆังและหอกลอง ชั้นที่สองเป็นหอพระพุทธรูป และชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

• ธรรมาสน์วอ เป็นธรรมาสน์ทรงวอไม้ จำหลักลวดลายปิดทอง และประดับกระจกสี ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีความงดงามอย่างยิ่ง ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในศาลาการเปรียญ (ศาลาชี)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 164 สิงหาคม 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)


เจดีย์พระบรมธาตุ
พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ธรรมาสน์วอ
กำลังโหลดความคิดเห็น