xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดอนงคาราม สมญานาม “วัดสมเด็จย่า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายในพระอุโบสถ
วัดอนงคาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 1455 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

พระอารามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2393 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยท่านผู้หญิงน้อย ในสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) โดยใช้พื้นที่บริเวณสวนกาแฟของท่านเอง ต่อมาเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ซึ่งเป็นหลาน เห็นว่าวัดที่ท่านผู้หญิงน้อยสร้างนั้นค้างอยู่ ประกอบกับพื้นที่วัดมีน้อยเกินไป ท่านจึงได้ยกที่ดินของท่านเองเพิ่มให้ และดำเนินการก่อสร้างวัดจนแล้วเสร็จ ถวายเป็นพระอารามหลวง

ชาวบ้านบริเวณนั้นจึงเรียกชื่อวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า “วัดน้อยขำแถม” หมายถึงวัดที่ท่านผู้หญิงน้อยสร้าง แล้วท่านขำแถมที่และสร้างจนเสร็จในภายหลัง

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่า “วัดอนงค์นิกายาราม” แต่ด้วยเป็นเพราะชาวบ้านเรียกนามนี้ยาก จึงโปรดพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอนงคาราม”

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทางราชการได้ตัดถนนผ่านกลางวัด และชุมชนโดยรอบวัด จึงทำให้วัดอนงคารามแบ่งเป็น 2 ส่วน มีลักษณะเสมือน “วัดอกแตก”

ปัจจุบัน วัดอนงคารามเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “วัดสมเด็จย่า” ด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีนิวาสถานเดิมอยู่ใกล้กับวัดอนงคาราม และเมื่อยังทรงพระเยาว์ได้เข้าเรียนที่วัดอนงคาราม ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์(นวม พุทธสโร) เจ้าอาวาสวัดในเวลานั้นได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น เรียนได้เพียงปีเดียว ก็ทรงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนศึกษานารี ซึ่งเป็นโรงเรียนในอุปการะของสมเด็จพระพุฒาจารย์เช่นกัน

สมเด็จย่าทรงผูกพันกับชุมชนวัดอนงคารามเป็นอย่างมาก เพราะสถานที่แห่งนี้ได้มีส่วนในการหล่อหลอมชีวิตของพระองค์ท่านให้ก้าวไกลเกินสตรีในยุคนั้น อันสืบเนื่องจากการศึกษาเล่าเรียนนั่นเอง

ดังนั้น ใน พ.ศ. 2536 ทางการจึงได้จัดสร้าง “อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสถานเดิมที่พระบรมราชชนนีเคยพำนักอยู่เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์ เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสารธารณะระดับชุมชน

สิ่งสำคัญในพระอาราม ประกอบด้วย

• พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนลักษณะทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรัก ประดับกระจก มีเสาพาไลรอบ หน้าบันปูนปั้นลายดอกลอย ซุ้มประตูหน้าต่างลายปูนปั้น ลงรักปิดทองประดับกระจก บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง และรูปยักษ์ ผนังภายในฝ้าเพดานทาสีปิดทองล่องชาด

• พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทองทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 40 ซม. สูง 50 ซม. ประดิษฐานอยู่ในบุษบกเหนือฐานชุกชี ประดับกระจก และมีพระพุทธรูปยืน 2 องค์ คู่กัน หล่อด้วยโลหะปิดทองอยู่หน้าบุษบก

• พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา ประดับกระจก หน้าบันลายดอกไม้ประดับกระจก หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้น บานประตูหน้าต่างสลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลงรักปิดทอง ประดับกระจกฝ้าเพดานทาสีปิดทองล่องชาด

ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน “พระจุลนาค” พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.5 เมตร สูง 3.4 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัย อัญเชิญมาจากสุโขทัย และ “พระพุทธมังคโล” พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.5 เมตร สูง 2.20 เมตร

• พระแก้ว ประดิษฐานอยู่ที่ตึกสมเด็จคณะ 2 เดิมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ต่อมาปูนได้กะเทาะออกจนเห็นเนื้อแก้วภายใน เป็นเนื้อแก้วต่างสี คือ เปลี่ยนสีได้ตามเวลาและมุมมอง ขนาดหน้าตักกว้าง 12 นิ้ว สูงประมาณ 15-18 นิ้ว พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพบูชา ถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงสักการะ และเมื่อวันที่ 6 กรากฎาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์มาทรงสักการะ

• พระเจดีย์ มี 2 องค์ทรวดทรงแบบมณฑป ตั้งอยู่ข้างพระวิหารด้านทิศเหนือ ภายในเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสรานุสรณ์” พระพุทธรูปปางไสยาสน์ อีกองค์หนึ่งอยู่ข้างพระวิหารด้านทิศใต้ ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยโลหะ

• ศาลาการเปรียญ เป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับกระจก

• ตู้พระไตรปิฎก สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นตู้ไม้เขียนลายทองรูปขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค บานประตูเขียนรูปเล่าเรื่องพระมโหสถตอนข้าศึกมาล้อมเมือง

• ห้องสมุดประชาชนอนงคาราม เดิมชื่อว่า “หอสมุดอุดมวิทยา” ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ร่วมกันสร้างเป็นอนุสรณ์สถานถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) เพื่อเป็นแหล่งความรู้ของชุมชน ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครได้จัดมุมหนึ่งภายในอาคาร เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเขตคลองสาน

วัดอนงคารามตั้งตระหง่านผ่านฤดูกาลมากว่า 160 ปีแล้ว การบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้ได้มีมาทุกยุคทุกสมัย จวบจนปัจจุบันที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้าไปบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระเจดีย์ 2 องค์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 จนแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนในปี 2558 ก็จะเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหาร

คงอีกไม่นาน “อนงคาราม” ก็จะคืนสู่ความสดใสสง่างาม สมความเป็นพระอารามหลวง และเป็นศูนย์รวมจิตใจ ศรัทธาของมหาชนอย่างไม่เสื่อมคลาย

(จากนิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
พระอุโบสถ
ประตูพระอุโบสถ
พระจุลนาค และพระพุทธมังคโล
พระแก้ววัดอนงคาราม
พระเจดีย์
รูปปั้นสมเด็จย่า ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
กำลังโหลดความคิดเห็น