xs
xsm
sm
md
lg

เชียงราย วัน“ราชรถ”มาเกย...ชมงานศิลป์งามวิจิตร ที่เที่ยวใหม่ที่หลายคน(ยัง)ไม่รู้ / ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
8 ราชรถ งานศิลป์อันทรงคุณค่า แหล่งท่องเที่ยวใหม่แห่งเชียงราย
“เชียงราย” นอกจากจะเป็นจังหวัดเหนือสุดแดนสยามที่งดงามไปด้วยธรรมชาติ ขุนเขา สายหมอกดอกไม้ วัฒนธรรมประเพณีแล้ว เชียงรายยังโดดเด่นในเรื่องของงาน “ศิลปะ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดแห่งงานศิลป์เลื่องชื่อในอันดับต้นๆ ของเมืองไทย

เชียงรายมีงานศิลป์ดีๆ ให้เสพกันมากมาย ทั้งงานศิลปะแบบล้านนาโบราณ งานศิลปะพื้นบ้าน งานศิลปะร่วมสมัย ที่มีให้ชมผ่านวัดวาอารามเก่าแก่ หอศิลป์ หรือตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
พิพิธภัณฑ์บ้านดำ แหล่งรวมงานศิลปะของสะสมของ อ.ถวัลย์ ดัชนี
นอกจากนี้เชียงรายยังมีงานศิลปะขึ้นชื่อจากงานฝีมือของศิลปินชื่อดัง โดยเฉพาะ 2 ไฮไลต์งานศิลปะจากผลงานของศิลปินนามอุโฆษ ที่หลายคนเมื่อไปเที่ยวเชียงรายมักจะไม่พลาดการเที่ยวชมด้วยประการทั้งปวง นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” (ต.นางแล อ.เมือง) ของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ที่เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งงานศิลปะพื้นบ้าน ศิลปะร่วมสมัย และงานจิตรกรรม ประติมากรรม จากการสร้างสรรค์ของ อ.ถวัลย์ ไปจนถึงของสะสมของ อ.ถวัลย์ ซึ่งถูกจัดแสดงผ่านอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นกว่า 25 หลัง

ส่วนอีกหนึ่งไฮไลต์แห่งงานศิลป์ถิ่นเชียงรายก็คือ “วัดร่องขุ่น” (ต.ป่าอ้อดอนชัย) ที่ออกแบบโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
วัดร่องขุ่น ที่วันนี้มีบางส่วนกำลังซ่อมแซมจากเหตุแผ่นดินไหว
วัดร่องขุ่นดูงดงามสมส่วน โดดเด่นไปด้วยสีขาว กระจก กับลวดลายประดับอันอ่อนช้อยสวยงาม พร้อมกับงานจิตรกรรมฝาผนัง งานศิลปะประดับตกต่างๆ อื่นๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อันมาจากผลงานการสร้างสรรค์ของ อ.เฉลิมชัย

อย่างไรก็ดีจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ทำให้วัดร่องขุ่นได้รับความเสียหายไม่น้อย ซึ่งวันนี้วัดร่องขุ่นแม้จะอยู่ในช่วงซ่อมแซม แต่ก็ยังเปิดให้ประชาชนเที่ยวชมได้ตามปกติ โดยในวันที่ 19 ก.ค.นี้ วัดร่องขุ่นจะทำพิธีสืบชะตาเมืองหลังเหตุแผ่นดินไหวใหญ่

นอกจากนี้ที่วัดร่องขุ่นนี้ยังมีการดำเนินการก่อสร้างพระพิฆเนศองค์โตสูง 4.5 เมตร ที่วันนี้กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ซึ่งจากโมเดลและแบบภาพถ่ายที่ผมเห็น พระพิฆเนศองค์นี้ดูงดงามมากหากสร้างเสร็จจะถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ทางการท่องเที่ยวของ จ.เชียงราย
พระพิฆเนศองค์จำลอง(องค์เล็ก)ที่จะใช้เป็นแบบสร้างองค์ใหญ่ สูง 4.5 เมตร
จากงานศิลปะขึ้นชื่อที่มีให้ชมกันมากหลาย วันนี้เชียงรายมีงานศิลปะชุดใหม่มาจัดแสดง ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลป์อันวิจิตรที่เพิ่งเปิดตัวให้คนรับรู้ไปเมื่อไม่นานมานี้ นั่นก็คือ “8 ราชรถ” อันสวยงามตระการตา

8 ราชรถแห่งเชียงราย ปัจจุบันตั้งจัดแสดงไว้ที่ “อาคารเทิดพระเกียรติ 90 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์” ศูนย์การเรียนรู้ เทศบาลนครเชียงราย

ราชรถทั้ง 8 คัน เป็นการจัดสร้างราชรถแห่งแปดจังหวัดล้านนาขึ้นมาจังหวัดละ 1 คัน โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของจังหวัดนั้นๆ มาสร้างสรรค์เป็นตัวราชรถ
 ราชรถทั้ง 8 ที่จัดแสดงในโรงเก็บราชรถ
เดิมราชรถทั้ง 8 คันนี้ ยามปกติจะเก็บรักษาไว้ แต่จะถูกนำมาจัดแสดงในช่วงปีใหม่ในงาน “ประเพณีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเจียงฮาย” ซึ่งล่าสุดทางเทศบาลนครเชียงรายเห็นว่าน่าจะส่งเสริมให้คนรู้จักและซาบซึ้งในคุณค่าความงามของราชรถทั้ง 8 มากยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น พร้อมกับชูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเวียงเจียงฮาย โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจเข้าชมได้ฟรี
ราชรถอย่างแพร่ โดดเด่นด้วยงานแกะสลักไม้สักทองอันเป็นไม้ขึ้นชื่อของเมืองแพร่
สำหรับราชรถทั้ง 8 คันนั้น เมื่อไล่เรียงจากซ้ายไปขวาของโรงจัดแสดง ประกอบด้วย

ราชรถอย่างแพร่ : มีขนาดกว้าง 2.55 เมตร ยาว 8.5 เมตร สูง 5 เมตร : สร้างในปี พ.ศ. 2544 : ออกแบบโดย บุญมา บุญประเสริฐ และช่างแกะสลักจังหวัดแพร่

ราชรถคันนี้เป็นงานแกะสลักไม้สักทอง ตัวราชรถประกอบด้วย พญานาค เหรา หงส์ และสิงห์ อันเป็นสัตว์ชั้นสูงในประติมากรรมหรือศิลปกรรมล้านนา โดยช่างได้แกะสลักให้พญานาคเป็นตัวเด่นมีประดับเด่นไว้หลายจุด นอกจากนี้ก็ยังมีตัวเหราคายนาค ซึ่งช่างแกะสลักด้วยซุงใหญ่ท่อนเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อจะสื่อให้เห็นความงามของเนื้อไม้สักทองที่เป็นไม้ขึ้นชื่อ ผลิตผลเชิดหน้าชูตาของเมืองแพร่
ราชรถอย่างเชียงใหม่มีเส้นสายลวดลายอ่อนช้อยจากการออกแบบของ อ.เฉลิมชัย
ราชรถอย่างเชียงใหม่ : มีขนาดกว้าง 2.75 เมตร ยาว 6.5 เมตร สูง 5.2 เมตร : สร้างในปี พ.ศ. 2545 : ออกแบบโดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ โดยใช้คณะช่างจากเชียงใหม่ ซึ่งมี สล่ารุ่ง จันตาบุญ เป็นผู้ควบคุมการสร้างทำราชรถ

ราชรถอย่างเชียงใหม่ มีลวดลายลงรักปิดทองอย่างล้านนารูปเทวดาพนมกรซึ่งได้รับอิทธิพลจากรูปปูนปั้นที่วัดเจ็ดยอดจังหวัดเชียงใหม่ ราชรถคันนี้โดดเด่นไปด้วยเส้นสายลวดลายอ่อนช้อย อ่อนหวาน อันเป็นเอกลักษณ์ของ อ.เฉลิมชัย
ราชรถอย่างเชียงราย ดูแปลกตาเพราะสร้างสรรค์งานศิลป์จากอะลูมิเนียม
ราชรถอย่างเชียงราย : มีขนาดกว้าง 2.10 เมตร ยาว 4.5 เมตร สูง 5.10 เมตร : สร้างในปี พ.ศ. 2548 : ออกแบบโดย สล่าพรหมา อินยาศรี

ราชรถอย่างเชียงราย เป็นราชรถที่มีลักษณะแปลกแตกต่างจากราชรถคันอื่นๆ เพราะใช้อะลูมิเนียมมาเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์งานศิลป์ ผ่านงานดุนและสลักลายจากฝีมือของกลุ่มหัตถศิลป์ล้านนา วัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่
ราชรถ งานศิลป์งามวิจิตรที่เปิดให้เข้าชมความงามกันฟรี
ราชรถคันนี้สร้างเป็นรูปปราสาท 8 เหลี่ยม โดยมีแรงบันดาลใจมาจากพุทธประวัติ ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์ เปิดสามโลก กับงานช่างและงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาผสมผสานมาจากพม่า ไทยใหญ่ ไทยลื้อ และไทยเขิน
ราชรถอย่างลำพูนโดดเด่นไปด้วยงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัดพระธาตุหริภุญไชย
ราชรถอย่างลำพูน : มีขนาดกว้าง 2.60 เมตร ยาว 6.7 เมตร สูง 5.65 เมตร : สร้างในปี พ.ศ. 2548 : ออกแบบโดย ช่างโชติวัฒน์ วรศิลปะสุวรรณ

ราชรถอย่างลำพูน นำลักษณะเด่นของงานศิลปะในวัดพระธาตุหริภุญไชย จ.ลำพูน มาเป็นต้นแบบ แนวทาง โดดเด่นไปด้วยนาค 5 ตัว ที่มีลักษณะครึ่งนาคครึ่งนกเพื่อทำให้ดูเบาแต่เข้มแข็งมีพลัง อันสื่อสะท้อนถึงศิลปะลำพูนที่มีความเข้มแข็งและบึกบึนของศิลปะเขมรผสมอยู่
ราชรถอย่างน่าน ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจมาจากปราสาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
ราชรถอย่างน่าน : ขนาด กว้าง 3.10 เมตร ยาว 7.3 เมตร สูง 6.50 เมตร : สร้างในปี พ.ศ. 2548 : ออกแบบโดย ช่างนิวัตร คำแปงมูล

ราชรถอย่างน่าน ได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจมาจากปราสาทในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ส่วนหลังคามีหน้าจั่วหลายอัน ทำซ้อนชั้นกันขึ้นไป มีหม้อดอกโลหะอาบทอง (หม้อบูรณฆฏะ) เป็นดังสัญลักษณ์แห่งล้านนา
นำจุดเด่นลวดลายครุฑแบกงาช้างดำมาประดับไว้ที่ราชรถแห่งน่าน
ราชรถคันนี้มีลวดลายที่แสดงถึงความเป็นน่าน อย่างลายครุฑแบกงาช้างดำ ลายสัญลักษณ์จังหวัดน่าน ซึ่งนำเสนอผ่านงานลงรักปิดทองแบบล้านนา โดยมีกลิ่นอายของศิลปะสุโขทัยเจือผสมอยู่ เพราะศิลปะเมืองน่านในอดีตนั้นมีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยร่วมอยู่อันเนื่องมาจากการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน
ราชรถอย่างแม่ฮ่องสอน กับสัตว์ในจินตนาการช่างและศิลปะอิทธิพลชาวไท(ย)ใหญ่
ราชรถอย่างแม่ฮ่องสอน : มีขนาดกว้าง 2.75 เมตร ยาว 8.8 เมตร สูง 5.50 เมตร : สร้างในปี พ.ศ. 2549 : ออกแบบโดย ช่างนิวัตร แปงคำมูล

ราชรถอย่างแม่ฮ่องสอน ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะชาวไท(ย)ใหญ่ ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีอยู่มากในแม่ฮ่องสอน ตัวราชรถประดับด้วยหงส์คู่ด้านหน้าและด้านหลัง อีกทั้งยังมีเสาหงส์ในแบบมอญประดับ ขณะที่แท่นที่สร้างซ้อนๆ กันเป็นชั้นเพื่อรองรับพระพุทธรูปนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนสวรรค์ชั้นต่างๆ พร้อมกันนี้ที่ด้านหน้ายังมีการประดับด้วยสัตว์อันเกิดจากจินตนาการของช่างผู้สร้าง ที่มีการผสม นาค ช้าง ม้า กวาง หงส์ เข้าไปด้วยกัน
ราชรถอย่างลำปาง ได้รับอิทธิพลการออกแบบจากซุ้มประตูโข่งของวัดพระธาตุลำปางหลวง
ราชรถอย่างลำปาง : มีขนาดกว้าง 2.75 เมตร ยาว 7.26 เมตร สูง 5.42 เมตร : สร้างในปี พ.ศ. 2555 : ออกแบบโดย ช่างโชติวัฒน์ วรศิลปะสุวรรณ

ราชรถอย่างลำปาง มีการนำลักษณะทางสถาปัตยกรรมของซุ้มประตูโข่งของวัดพระธาตุลำปางหลวง ที่เป็นเจดีย์กลม ทรงระฆังคว่ำ (แบบพุกามล้านนา) มาเป็นจุดเด่นของราชรถ พร้อมกับประดับลวดลายดอกไม้ติดกระจกสีโดยรวบรวมจากศิลปวัตถุที่หาชมได้ยาก เช่น สังเค็ด ธรรมมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก มาประดับตกแต่ง
ราชรถอย่างพะเยา กับงานศิลปะสกุลช่างพะเยา
ราชรถอย่างพะเยา : มีขนาดกว้าง 2.80 เมตร ยาว 7 เมตร สูง 5.33 เมตร : สร้างในปี พ.ศ. 2556 : ออกแบบโดย ช่างโชติวัฒน์ วรศิลปะสุวรรณ

ราชรถอย่างพะเยา เป็นการนำศิลปะสกุลช่างพะเยาที่ประกอบด้วยประติมากรรมหินทราย ซึ่งมีความโดดเด่น งดงาม และการประดับตกแต่งด้วยกระจกสี กระจกจีน นำมาประดับตกแต่งตามราชรถในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา
บุษบกที่ถูกนำมาร่วมจัดแสดง
นั่นก็คือ 8 ราชรถที่จัดแสดงไว้ในโรง(อาคาร)ด้านหน้า “อาคารเทิดพระเกียรติ 90 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์” ที่นอกจากราชรถแล้วก็ยังมีบุษบก จองพลา หรือ ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป และงานศิลปะในลักษณะนี้อยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งนี่นับเป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจทางการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเชียงราย เพราะน่ายลไปด้วยงานศิลปะทรงคุณค่าอันประณีตงดงามวิจิตร
 
ช่วยตอกย้ำเสน่ห์ของเชียงรายเมืองศิลป์ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
8 ราชรถมาเกย แหล่งท่องเที่ยวใหม่ของเชียงราย
*****************************************
8 ราชรถ แห่งเชียงราย ตั้งอยู่ที่อาคารโรงเก็บราชรถทางด้านหน้าของ “อาคารเทิดพระเกียรติ 90 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ศูนย์การเรียนรู้ เทศบาลนครเชียงราย” เชิงสะพานขัวพญามังราย เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลการเที่ยวชมราชรถ และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ใน จ.เชียงราย รวมถึงที่พัก ร้านอาหาร สินค้าโอทอป และการเดินทาง ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย โทร.0-5371-7433, 0-5370-0051-2
 

กำลังโหลดความคิดเห็น