วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2412 โดยโปรดให้นำหลักการสร้างวัดตามหลักโบราณประเพณี คือ สถาปนาพระมหาเจดีย์เป็นหลัก ล้อมรอบด้วยพระระเบียง พระอุโบสถ พระวิหาร และวิหารทิศ มีกำแพงกั้นระหว่างเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส
ความโดดเด่นของพระอารามแห่งนี้คือ สถาปัตยกรรมที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างไทยกับตะวันตกอย่างลงตัวงดงาม รวมทั้งมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งที่กำแพง 8 ทิศ ดังนั้น จึงสามารถทำสังฆกรรมได้ทุกแห่งภายในขอบเขตของมหาสีมานี้
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” โดย “ราชบพิธ” หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่
ในเขตพุทธาวาสซึ่งตั้งอยู่บนฐานไพที ปูด้วยหินอ่อน ประกอบด้วยพระมหาเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหาร วิหารทิศ วิหารคด และศาลาราย ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ศาสนสถานทั้งหมดนี้ ด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ ซึ่งมีสีสันและลวดลายวิจิตรงดงาม จนได้รับฉายาว่า “วัดลายเบญจรงค์”
ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุสำคัญภายในพระอารามมีมากมาย อาทิ
• พระมหาเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ทรงกลม สูง 41.40 เมตร ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ชนิดอัดด้วยพิมพ์ยกดอกนูน ด้านล่างมีซุ้ม 14 ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระรูปหล่อของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ยอดปลีเป็นลูกแก้วกลม บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 6,018 องค์
• พระอุโบสถ มีความวิจิตรงดงามมาก รูปทรงภายนอกเป็นแบบไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันประดับปูนปั้นรูปช้าง 7 เศียรเทิดพานรองรับพระเกี้ยว ขนาบ 2 ข้างด้วยฉัตร ประคองด้วยราชสีห์ และคชสีห์ อันเป็นสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 5
ส่วนภายในตกแต่งเป็นศิลปะแบบโกธิค เป็นซุ้มโค้งแหลม เพดานเป็นลายเครือเถาสีทอง ผนังระหว่างช่องหน้าต่างพระอุโบสถมีรูปอุณาโลม และอักษร “จ” สลับกัน เหนือซุ้มประตูกลางเป็นรูปพระราชลัญจกรหรือตราแผ่นดินประจำรัชกาลที่ 5
บานประตูและหน้าต่าง ด้านในเขียนลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกประดับมุกเป็นลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวง เรียงกันตามลำดับ คือ นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก และประถมาภรณ์มงกุฎไทย
• พระพุทธอังคีรส แปลว่า “มีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย” เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 2 ศอกคืบ กะไหล่ทองคำทั้งองค์ เนื้อทองคำหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์
ที่ฐานบัลลังก์พระพุทธรูปเป็นกะไหล่ทอง ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอัฐิสมเด็จพระศรีสุลาไลย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
พระพุทธอังคีรสประดิษฐานบนฐานชุกชีหินอ่อนจากอิตาลี โดยที่ฐานชุกชีนี้ได้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ไว้ด้วยกัน
• พระวิหาร มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถทั้งภายนอกและภายใน ต่างกันที่บานประตูและหน้าต่าง เป็นไม้แกะสลักลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระประธานในพระวิหารมีนามว่า “พระพุทธปทีปวโรทัย” เบื้องหลังพระประธานเป็นตู้พระไตรปิฎกใหญ่ 3 ตู้ และเนื่องจากวัดราชบพิธฯไม่มีหอไตรเช่นพระอารามหลวงทั่วไป ดังนั้น พระวิหารแห่งนี้จึงเสมือนเป็นหอไตรด้วย
• ซุ้มประตู ซุ้มประตูทางเข้าวัดและระหว่างเขตพุทธาวาสกับสังฆาวาส รวม 12 ซุ้ม มีลักษณะพิเศษคือ มีบันไดทั้งด้านในและด้านนอก โดยมีคติมาจากซุ้มประตูของเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ส่วนทวารบาลที่ประตูซุ้มนั้นดูแปลกไม่เหมือนใคร คือ เป็นภาพแกะสลักรูปทหารที่แต่งเครื่องแบบแตกต่างกันไปในแต่ละซุ้ม เข้าใจว่าเป็นทหารมหาดเล็ก ที่จัดตั้งมาตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบหลายครั้ง
อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของพระอารามนี้ คือ สุสานหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิ และพระสรีรางคาร ของพระบรมวงศานุวงศ์ ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ ได้อยู่ร่วมกันหลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว
สุสานหลวงของแต่ละราชสกุลมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม และแบบโกธิค ตั้งอยู่ท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้นานาพันธุ์ที่ได้รับการตกแต่งเป็นระเบียบงดงาม
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามนับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างวัดประจำรัชกาล ตามโบราณราชประเพณี เพราะต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ไม่โปรดให้สร้างวัดประจำรัชกาลขึ้นอีก ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมิได้ทรงสร้างวัดประจำรัชกาล แต่เมื่อ พ.ศ. 2467 ทรงรับพระราชภาระในการทำนุบำรุง และบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธฯ เป็นงานใหญ่ เสมือนหนึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์เช่นกัน
หลังจากนั้นพระอารามแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยลำดับ ครั้งล่าสุด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้าไปบูรณปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิ คณะใน(แถวนอก-แถวกลาง) เมื่อพ.ศ. 2553-2555 ต่อมาปี 2556 บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และศาลา 100 ปี ปัจจุบันกำลังบูรณปฏิสังขรณ์หลังคาตำหนักอรุณ และหลังคากุฏิคณะนอก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2557
ส่วนในปี 2558 จะบูรณปฏิสังขรณ์ซุ้มประตูและกำแพงโดยรอบ รวมทั้งอาคารเอนกประสงค์ เพื่อดำรงคุณค่าอันยิ่งใหญ่และคงความวิจิตรงดงาม ให้สมนาม “พระอารามประจำ 2 รัชกาล แห่งราชจักรีวงศ์”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)