xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดบวรมงคล จุดเริ่มต้นแรงดลใจ สู่ธรรมยุติกนิกาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดบวรมงคล เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตก ตรงข้ามปากคลองผดุงกรุงเกษม แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ

ตามประวัติกล่าวว่า เดิมชื่อ “วัดลิงขบ” เป็นวัดโบราณตั้งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2300 โดยชาวรามัญ ที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่ เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวรามัญ และพระสงฆ์รามัญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้มีสถานที่ประกอบกิจกุศลตามประเพณีของตน รวมทั้งขณะนั้นวัดลิงขบมีพระสงฆ์รามัญอยู่มาก และมีพระผู้ใหญ่เป็นประธานสงฆ์อยู่ด้วย สมควรที่จะบูรณะขึ้นใหม่ให้เป็นวัดส่วนกลางสำหรับพระสงฆ์รามัญนิกาย

เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบวรมงคล” และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2352

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้เสด็จออกผนวช และทรงเห็นว่าพระสุเมธมุนี พระเถรานุเถระชาวรามัญแห่งวัดบวรมงคล มีข้อวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส เป็นผู้ทรงภูมิรู้และภูมิธรรม จึงทรงยกให้เป็นพระอาจารย์องค์สำคัญที่คอยถวายหลักปฏิบัติตามพระธรรมวินัย บางคราวถึงกับเสด็จมาประทับอยู่วัดบวรมงคลเป็นเวลานานๆ เพื่อทรงเสวนาและศึกษาธรรมกับพระสุเมธมุนี

ดังนั้น จึงโปรดให้สร้างตำหนักขึ้นหลังหนึ่งสำหรับประทับแรมชั่วคราว ซึ่งชาวบ้านมักเรียกกันว่า “กุฏิพระจอม”

และด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์รามัญนิกายดังกล่าวนี้ จึงทำให้พระองค์โปรดสถาปนาให้มีพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายในกาลต่อมา

ในปลายสมัยรัชกาลที่ 4 คือ พ.ศ. 2410 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และได้มีการสร้างพระเจดีย์หงษาขึ้น เป็นพระเจดีย์หมู่ 9 องค์ ประกอบด้วยเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ และเจดีย์บริวาร 8 องค์ เป็นศิลปกรรมแบบมอญ

ล่วงมาถึง พ.ศ. 2462 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดบวรมงคลได้รับพระราชทานให้โอนสังกัดเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย

สำหรับปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญภายในวัด ได้แก่

• พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 12.30เมตร ยาว 35.20 เมตร หลังคาซ้อนชั้นแบบลดมุข 3 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าต่างระหว่างเสาเป็นซุ้มทรงบันแถลงนาคสามเศียร 2 ชั้น หน้าบันจำหลักเป็นรูปตาลปัตรพัดยศ ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถมีมุขบนชานชาลา มีเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสองรับชายคามุข

• พระประธานในพระอุโบสถ ไม่ปรากฏนาม เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.40 เมตร สูงจากฐานถึงพระรัศมี 7.45 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาวัด

• วิหารคด สร้างยื่นออกมาจากผนังแนวกำแพงด้านในของพระอุโบสถตลอดทั้งสี่ด้าน ด้านตะวันออกและตะวันตก ยาวด้านละ 46.40 เมตร ด้านเหนือและด้านใต้ ยาวด้านละ 70.30 เมตร บริเวณกึ่งกลางแนวกำแพงทุกด้านมีซุ้มประตูทางเข้าสู่ลานประทักษิณ

• พระพุทธรูปปั้น ประดิษฐานภายในวิหารคด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 95ซม. สูง 1.39เมตร จำนวน 108องค์

• พระเจดีย์ประจำมุมพระอุโบสถ 4ด้าน ฐานวัดโดยรอบ 9 วา สูง 9 วา

• พระเจดีย์หงษา ประดิษฐานอยู่ลานวัดด้านหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพระเจดีย์หมู่ 9 องค์ ศิลปกรรมแบบมอญ ประกอบด้วยเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ และเจดีย์บริวาร 8 องค์ เจดีย์ประธานมีลักษณะย่อมุมไม้ยี่สิบ องค์เจดีย์ไม่มีเรือนธาตุ แต่ทำเป็นฐานลดระดับขึ้นไปรับองค์ระฆัง ปล้องไฉน ปลี และลูกแก้ว ตั้งซ้อนเป็นลำดับขึ้นไป ประดิษฐานบนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยม โดยมีเจดีย์บริวาร 8 องค์ประดิษฐานอยู่ประจำทิศทั้ง 8รอบเจดีย์องค์ประธาน

• หอระฆัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น รูปแบบผสมผสานระหว่างไทยกับตะวันตก

• อาคารอนุสรณ์สถาน รัชกาลที่ 4 เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์น้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเคยเสด็จมาประทับแรมศึกษาพระธรรมวินัยกับพระสุเมธมุนี เดิมสร้างเป็นตำหนักเรือนไม้ชั้นเดียว ชาวบ้านเรียกว่า “กุฏิพระจอม” ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลง จึงได้สร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และอาคารพิพิธภัณฑ์ของวัด

หลังการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงจนถึงปัจจุบัน วัดบวรมงคลมีอายุได้ 200 ปีเศษแล้ว โดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่เมื่อพ.ศ. 2410 ล่าสุด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เล็งเห็นว่า พระอารามหลวงแห่งนี้สมควรจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เพื่อธำรงรักษาพุทธศาสนสถานแห่งนี้ให้เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เป็นพระอารามหลวงอันงดงามทรงคุณค่าคู่แผ่นดินไทย จึงได้ร่วมกับทางวัดจัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบวรมงคล โดยใน พ.ศ. 2559 จะทำการรังวัดและสำรวจพื้นที่ทั้งหมด และปี 2560 จะดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ระเบียงคด จากนั้นปี 2561 จะบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์เป็นอันดับต่อไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 184 เมษายน 2559 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น