วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 146 แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ในปีพ.ศ. 2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้น บริเวณใกล้กับเสาชิงช้า และเทวสถาน ซึ่งถือว่าเป็นกึ่งกลางพระนคร และได้พระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” หมายถึง วัดที่งามเลิศดุจเมืองเทวดาชั้นสวรรค์
โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารก่อน เพื่ออัญเชิญพระศรีศากยมุนี (พระโต) จากวิหารหลวง วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มาประดิษฐานเป็นหลักแก่พระนคร โดยในคราวอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างสูงสุดของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพราะในขณะนั้นทรงกำลังประชวร แต่ก็เสด็จพระราชดำเนินโดยมิได้ทรงฉลองพระบาท ในขบวนแห่ชักลากองค์พระจากแพจนถึงบริเวณที่จะก่อสร้างพระวิหาร
แต่การก่อสร้างพระวิหารยังไม่แล้วเสร็จ รัชกาลที่ 1 ก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการต่อ และทรงร่วมแสดงฝีพระหัตถ์จำหลักภาพบนบานประตูกลางคู่หน้าพระวิหาร เป็นรูปภูเขาต้นไม้ ถ้ำคูหา และรูปสัตว์ต่างๆ สลับซับซ้อนเป็นชั้นๆ ถือเป็นบานประตูที่วิจิตรงดงาม และมีคุณค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ แต่น่าเสียดายที่ไฟไหม้บานประตูไปหนึ่งบาน อีกบานหนึ่งจึงได้นำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะสถาปนาพระอารามแห่งนี้ให้สำเร็จ จึงโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาเป็นแม่กองดูทั่วไป และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทักษเทเวศร สร้างพระอุโบสถใหญ่ และทำพระระเบียงล้อมพระวิหาร รวมทั้งกุฏิสงฆ์ด้วย
การก่อสร้างทั้งพระอารามแล้วเสร็จบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2390 และโปรดให้มีการสมโภช และพระราชทานนามใหม่ จากที่เรียกขานกันว่า “วัดพระโต” “วัดพระใหญ่” หรือ “วัดเสาชิงช้า” เป็น “วัดสุทัศนเทพวราราม”
สิ่งสำคัญในพระอารามหลวงแห่งนี้มีมากมาย ที่สำคัญได้แก่
• พระอุโบสถ กว้าง 22.60 เมตร ยาว 72.25 เมตร เป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และสูงใหญ่มาก หลังคา 4 ชั้น มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับหลังคาทั้งหมด 68 ต้น
ภายในพระอุโบสถ ที่แท่นหินอ่อนด้านหน้าพระประธาน เป็นที่ประดิษฐานปูนปั้นพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้ปั้นขึ้น
ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถเป็นภาพชาดก และป่าหิมพานต์ แต่มีอยู่ภาพหนึ่งคือ ภาพเปรตตนหนึ่งนอนทอดกายอยู่ และมีพระสงฆ์ยืนพิจารณา ภาพนี้มีชื่อเสียงมากในอดีต เป็นที่เลื่องลือในหมู่ผู้ที่ไปที่วัดนี้ จนขึ้นชื่อว่า “เปรตวัดสุทัศน์”
• พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ เป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้น หน้าตักกว้าง 10 ศอก 8 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระนามว่า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์”
• พระวิหารหลวง กว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร มีความวิจิตรงดงามไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประตูที่ได้รับการแกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง และหนึ่งในนั้นเป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2
สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารหลวงซึ่งมีทั้งภาพที่ฝาผนังและที่เสาพระวิหาร เป็นภาพเกี่ยวกับไตรภูมิกถา และพระพุทธเจ้าในอดีต ซึ่งมีนัยเชิงสัญลักษณ์ให้พระวิหารหลวง เสมือนเป็น “ศูนย์กลางของจักรวาล คือเขาพระสุเมรุ” เพราะหน้าบันมุขหน้าสลักเป็นรูปพระอาทิตย์ประทับในบุษบกบนราชรถเทียมราชสีห์ มุขหลังเป็นรูปพระจันทร์ประทับในบุษบกบนราชรถเทียมม้า ซึ่งหมายถึง พระอาทิตย์และพระจันทร์เวียนรอบเขาพระสุเมรุ นั่นก็คือพระวิหารหลวงนั่นเอง
• พระศรีศากยมุนี เป็นพระประธานในพระวิหาร หน้าตักกว้าง 3 วา 4 นิ้ว สูง 4 วา รัชกาลที่ 1โปรดให้อัญเชิญมาจากวิหารหลวง วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย
• พระพุทธเสฏฐมุนี เป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ หน้าตักกว้าง 4 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว รัชกาลที่ 3 โปรดให้หล่อขึ้นจากกลักฝิ่นที่ทรงประกาศให้ราษฎรเลิกสูบ และนำฝิ่นที่จับได้มาเผาจนหมดทั้งเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระนามว่า “พระพุทธเสฏฐมุนี”
• สัตตมหาสถาน คือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข แห่งละ 1 สัปดาห์ หลังจากได้ตรัสรู้แล้ว
รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างจำลองขึ้นแทนพระธาตุเจดีย์ ก่อเป็นแท่นอิฐประดับด้วยศิลาแกะสลัก ปลูกต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นจิก ต้นเกต และรูปเรือนแก้ว เป็นรูปเก๋งจีน ทำด้วยศิลาล้วน และทรงสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ประทับในสัตตมหาสถาน
• พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ประดิษฐานบริเวณลานประทักษิณ ชั้นล่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือพระวิหารหลวง
วัดสุทัศนเทพวรารามถือเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 8 ด้วยคราวที่พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก ได้เสด็จมาที่วัดนี้ และทรงพระราชปรารภว่า สถานที่วัดสุทัศน์ฯ ร่มเย็นน่าอยู่ และเมื่อทรงประกอบพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สกลมหาสังฆปรินายก (แพ ติสสเทโว) เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ฯ ทรงเป็นพุทธมามกจารย์และถวายโอวาท
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบรมเชษฐาธิราชเจ้าไว้ ณ ผ้าทิพย์ ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี เมื่อ พ.ศ. 2493
วัดสุทัศนเทพวรารามสง่างามโดดเด่นเป็นศูนย์กลางของพระนครและเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนมาช้านาน กระทั่ง พ.ศ. 2438 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระวิหารพระศรีศากยมุนีครั้งใหญ่ จากนั้นก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะต่างๆ เรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2557 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดสุทัศนเทพวราราม โดยบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 165 กันยายน 2557 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)