วันสิ้นสุดปีเวียนผ่านมาถึงอีกครั้ง นำพาเอาปีใหม่ สิ่งใหม่ และสิ่งดีๆ ทั้งหลายเข้ามาสู่ชีวิต หากใครต้องการต้อนรับปีใหม่ปี 2558 นี้ด้วยความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตามวิถีของชาวพุทธ ขอแนะนำการไหว้พระ ทำจิตใจให้ผ่องใสในวันเริ่มต้นปี กับ 9 วัด และ 9 พระงาม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของกรุงเทพฯ ที่อยากแนะนำให้ไปกราบสักการะกัน
“พระแก้วมรกต” วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
รับมงคลปีใหม่ด้วยการไหว้สักการะพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” ที่วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2321 หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ส่งกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางจากเวียงจันทน์มายังกรุงธนบุรี จากนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีมายังฝั่งกรุงเทพฯ ก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระแก้ว
นอกจากนั้นรัชกาลที่ 1 ก็ยังได้สร้างเครื่องทรงของพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นเครื่องทรงฤดูร้อนและฤดูฝนถวาย และมาถึงในสมัยของรัชกาลที่ 3 พระองค์ก็ได้สร้างเครื่องทรงสำหรับฤดูหนาวถวายอีกชุดหนึ่งเป็นอันครบ 3 ฤดู ในขณะนี้พระแก้วก็กำลังทรงเครื่องฤดูหนาว จะเปลี่ยนเป็นเครื่องทรงฤดูร้อนอีกทีก็ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งเป็นงานพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์จะเสด็จมาทำพิธีเอง
“พระพุทธเทวปฏิมากร” วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
“พระพุทธเทวปฏิมากร” เป็นพระพุทธรูปงามในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ที่วัดศาลาสี่หน้า หรือวัดคูหาสวรรค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์รวมถึงสร้างพระอุโบสถใหม่ แล้วจึงให้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่นี้ พร้อมทั้งยังได้ทรงถวายพระนามใหม่ว่า "พระพุทธเทวปฏิมากร" อันหมายถึงพระพุทธรูปที่งดงามราวกับเทวดามาสร้างไว้ เนื่องจากพระพุทธเทวปฏิมากรนี้เป็นพระพุทธรูปโบราณมีลักษณะอันงดงามยิ่งนัก
นอกจากจะได้กราบพระประธานที่งดงามแล้วก็ยังจะได้กราบพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่บรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระพุทธเทวปฏิมากร นอกจากนั้นยังมีคำเล่าสืบต่อกันมาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระอุณาโลมถวายพระพุทธเทวปฏิมากรด้วย
“หลวงพ่อพระร่วงทองคำ” วัดมหรรณพาราม
“หลวงพ่อพระร่วงทองคำ” เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่มีความงามเป็นอย่างยิ่ง องค์พระประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารวัดมหรรณพาราม หลวงพ่อพระร่วงทองคำแต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดโคกสิงคาราม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ต่อมากรมหมื่นอุดมรัตนราษี หรือพระองค์เจ้าอรรณพ พระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นและรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่มาประดิษฐานเป็นพระประธาน ครั้นได้พบก็ทรงรับสั่งให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถและผูกพัทธสีมา แต่การเดินทางล่าช้า ไม่ทันกำหนดเวลาที่พระอุโบสถสร้างเสร็จ ภายหลังจึงสร้างพระวิหารให้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงตั้งแต่นั้นมา
พระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยโลหะผสมทองคำมากถึง 60% องค์พระมีรอยต่อ 9 แห่งโดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมที่รอยต่อ กราบพระร่วงทองคำมองเห็นพระพักตร์อิ่มเอิบเหมือนยิ้มนิดๆ นิ้วพระหัตถ์เรียวงาม มีคนมากราบไหว้ท่านอยู่เสมอ และคนที่ต้องการบนบานก็มักจะถวายลูกตระกร้อและว่าวเป็นของบูชา
“พระศรีศากยมุนี” วัดสุทัศนเทพวราราม
"วัดสุทัศนเทพวราราม" ได้ชื่อว่าเป็นวัดมีการจัดผังวัดได้เหมาะสม และนอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปงดงามอย่าง "พระศรีศากยมุนี" พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดสมัยสุโขทัยอายุกว่า 600 ปี เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย ต่อมารัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ยังวัดสุทัศน์ฯ เพื่อเป็นหลักแก่บ้านเมือง และพระองค์มีพระราชศรัทธาถึงขนาดเดินด้วยพระบาทเปล่าเพื่อแห่องค์พระศรีศากยมุนีจากท่าช้างมายังวัดสุทัศน์ฯ อีกด้วย
หากใครได้เข้ามากราบพระในพระวิหารแล้ว ก็อย่าลืมเดินอ้อมมาด้านหลัง เพื่อชมแผ่นหินแกะสลักสมัยทวารวดี มีอายุกว่า 1,000 ปีแล้ว แผ่นหินนี้แกะสลักเป็นภาพนูนต่ำเป็นเรื่องราวตอนที่พระพุทธเจ้าเทศนาโปรดพระพุทธมารดาและแสดงยมกปาฏิหาริย์ งดงามทั้งองค์พระและภาพแกะสลักเลยทีเดียว
“พระพุทธสิหังคปฏิมากร” วัดราชประดิษฐ์
"วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม" เป็นวัดที่เล็กที่สุดในกรุงเทพฯ แต่ก็มีความสำคัญตรงที่เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นด้วยเหตุผลตามโบราณราชประเพณีที่ถือกันว่า เมืองหลวงจะต้องมีวัดสำคัญ 3 วัด ด้วยกัน คือวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัดนี้นั้นตั้งอยู่บนฐานไพทีทั้งหมด คือพระวิหาร พระปาสาณเจดีย์ หอไตร ปราสาทพระจอม สำหรับพระวิหารนั้นทำหน้าที่เป็นพระอุโบสถด้วย ภายในมีพระประธานนามว่า "พระพุทธสิหังคปฏิมากร" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดเล็กพอเหมาะกับพระวิหาร ประดิษฐานอยู่ในบุษบก โดยรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างจำลองขึ้นจากพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปที่พระองค์ทรงโปรดในพุทธลักษณะอันงดงาม รวมทั้งมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ และเบื้องหลังพระประธานก็ยังมีบุษบกน้อยอีก 3 องค์ที่จำลองเอาพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระพุทธชินราชมาไว้ด้วย ส่วนเบื้องหน้าพระประธานมีครอบแก้วเล็กๆ ประดิษฐานพระนิรันตรายไว้อีกด้วย
พระประธานยิ้มรับฟ้า วัดระฆัง
“วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร” เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางหว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่าวัดระฆังโฆสิตาราม
วัดแห่งนี้นอกจากจะมี “หลวงพ่อโต” หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังสี) เป็นพระเกจิดังแห่งยุคที่มีคนศรัทธาไปกราบไหว้มากมายแล้ว ในพระอุโบสถยังมีพระพุทธรูปงดงามไม่ควรพลาดชมอีกด้วย สำหรับพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังนี้มีเรื่องเล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยตรัสว่า "ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..." น่าจะเป็นเพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่อ่อนโยนและเมตตา ทำให้เห็นเป็นเช่นนั้น จึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้กันต่อมาว่าพระประธานยิ้มรับฟ้านั่นเอง
“พระพุทธชินสีห์-พระสุวรรณเขต” วัดบวรนิเวศวิหาร
ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศ มีพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ 2 องค์อยู่คู่กัน นั่นก็คือ “พระพุทธชินสีห์” และ “พระสุวรรณเขต”
สำหรับพระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปประธานที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าศรีธรรมปิฎก เจ้าเมืองนครเชียงแสน ทรงหล่อขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินราชและพระศาสดา เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งในหัวเมืองฝ่ายเหนือ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพจึงทรงอัญเชิญมาประดิษฐานในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ถึงรัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ
ส่วนพระสุวรรณเขต หรือพระโต เป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณลักษณะแบบพระขอม กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้ทรงอัญเชิญจากสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ด้านหลังพระพุทธชินสีห์จนถึงปัจจุบัน
“พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์” วัดชนะสงคราม
ชื่อ “วัดชนะสงคราม” ได้มาหลังจากที่สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงมีชัยชนะในสงคราม 9 ทัพ และได้กรีฑาทัพกลับพระนคร ในครั้งนั้นพระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2330 ถวายเป็นพระอารามหลวงแก่รัชกาลที่ 1 ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "วัดชนะสงคราม" เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรทรงมีชัยชนะในการรบกลับมา
พระอุโบสถของวัดชนะสงครามนั้นงดงามไม่แพ้วัดไหน เพราะเป็นฝีมือของช่างวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 1 ด้านในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฎฐ์ มเหทธิศักดิ์ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ" พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย โดยแต่เดิมองค์พระมีขนาดเล็กกว่านี้ แต่สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ได้ทรงถอดฉลองพระองค์ลงยันต์ (เสื้อยันต์) คลุมองค์พระถวายเป็นพุทธบูชา ต่อมาช่างก็ได้โบกปูนทับทำให้องค์พระใหญ่ขึ้นดังเช่นที่เห็นกันในปัจจุบัน
“หลวงพ่อทองคำศักดิ์สิทธิ์” วัดหงส์รัตนาราม
วัดหงส์รัตนาราม เป็นวัดในสมัยอยุธยาตอนปลายที่มาบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เดิมชื่อวัดเจ้าขรัวหงส์ ตั้งตามชื่อของเศรษฐีจีนซึ่งเป็นผู้สร้างวัด
สำหรับพระงามที่จะชวนมากราบไหว้ที่วัดหงส์นี้ก็คือพระพุทธรูปทองคำโบราณที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารด้านข้างพระอุโบสถ ชาวบ้านบริเวณนั้นเรียกว่า “หลวงพ่อทองคำศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยฝีมือประติมากรชั้นเยี่ยม โดยพระพุทธรูปทองโบราณเดิมนั้นองค์พระถูกพอกด้วยปูนปั้นประดิษฐานอยู่ในพระวิหารซึ่งชำรุดทรุดโทรมหักพังใช้การไม่ได้จนคนทั้งหลายเรียกว่าวิหารร้าง แต่ต่อมาปูนที่พอกพระพุทธรูปไว้ได้แตกกระเทาะออก ทำให้เห็นว่าภายในเนื้อปูนนั้นเป็นองค์พระพุทธรูปทองสีสุกเนื้อทองโบราณ บริเวณฐานพระมีตัวอักษรสมัยอู่ทองจารึกอยู่ลักษณะองค์พระถือเป็นแบบอย่างพุทธศิลป์สมัยสุโขทัยที่งดงามสมบูรณ์แบบอย่างยิ่ง