xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดมหรรณพารามพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นาม “พระร่วง” โรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดมหรรณพาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของถนนตะนาว แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอรรณพ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาพึ่ง กำกับราชการกรมสังฆการีและธรรมการ ได้ทรงสร้างพระอารามแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2393 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริในการก่อสร้าง พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นพระราชกุศลสมทบในการก่อสร้างจำนวน 1,000 ชั่ง แต่เนื่องจากขณะนั้นพระองค์ทรงพระประชวรมาก และการก่อสร้างวัดก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี จึงได้ทรงเร่งรัดดำเนินการสร้างโบสถ์จนแล้วเสร็จ ถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดสถาปนาเป็นพระอารามหลวง มีพิธีผูกพัทธสีมา และฉลองสมโภชเป็นการใหญ่ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคต

การก่อสร้างพระอารามได้ดำเนินการเรื่อยมาจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลังจากที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษีได้สิ้นพระชนม์แล้ว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชศรัทธาถวายพระราชทรัพย์ 1,000 ชั่ง เพื่อสร้างพระเจดีย์ทององค์ใหญ่ โปรดให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน และโปรดให้ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่นำมาจากศรีลังกา ไว้ใกล้เจดีย์ แล้วพระราชทานนามวัดตามพระนามเดิมของผู้สร้างว่า “วัดมหรรณพาราม” มีความหมายว่า ห้วงมหานทีที่กว้างใหญ่

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงเพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับบุตรหลานของราษฎรทั่วไป ณ วัดมหรรณพาราม เมื่อ พ.ศ. 2427 มีชื่อว่า “โรงเรียนวัดมหรรณพ์” โดยให้คณะสงฆ์ดูแล เป็นการพระราชทานการศึกษาออกสู่ปวงชนเป็นครั้งแรก ถือได้ว่าโรงเรียนวัดมหรรณพ์ เป็นโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกในประเทศไทย จากนั้นจึงโปรดให้ขยายการศึกษาออกไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้การศึกษาของชาติเจริญพัฒนาไปทั่วประเทศตราบจนปัจจุบัน

ปูชนียสถานและถาวรวัตถุที่สำคัญภายในวัดมหรรณพาราม ได้แก่
• พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานไทยกับจีน เรียกว่า “แบบพระราชนิยม” ในสมัยรัชกาลที่ 3คือ ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หลังคามุขลด 2 ชั้น หน้ามุขประดับด้วยเครื่องกระเบื้องสีและจานเบญจรงค์ ตรงกลางเป็นรูปมังกร และที่น่าสนใจคือบานประตูและหน้าต่างด้านในทุกช่องจำหลักลวดลายศิลปะจีน เป็นลายน้ำจีนที่เรียกว่าลายประสุ ประกอบด้วยสัตว์น้ำแหวกว่าย ทั้งปู ปลา อยู่บนผิวน้ำ

• หลวงพ่อบุญฤทธิ์ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปะอยุธยา ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก 7 นิ้ว สูง 5 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว ประดิษฐานบนพุทธบัลลังก์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี ทรงให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ แทน “หลวงพ่อร่วง” พระพุทธรูปจากเมืองสุโขทัย

• พระวิหาร มีลักษณะสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ

• หลวงพ่อพระร่วงทองคำ พระประธานในพระวิหาร มีนามว่า “หลวงพ่อร่วง” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยสำริดและมีเนื้อทองคำผสม 60 % หน้าตักกว้าง 1 วา 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว สูง 1 วา 3 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว

ด้วยเหตุที่มีเนื้อทองคำผสมอยู่สูง มีความอร่ามเรืองรองอยู่ภายใน หลวงพ่อร่วงจึงมีอีกนามหนึ่งว่า “หลวงพ่อพระร่วงทองคำวัดมหรรณพ์”

เดิมหลวงพ่อร่วงประดิษฐาน ณ วิหารวัดโคกสิงคาราม ซึ่งเป็นวัดร้างในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย เมื่อมีการสร้างวัดมหรรณพารามขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารถนาจะได้พระพุทธรูปที่วิจิตรงดงามจากเมืองเหนือที่ทิ้งร้างอยู่ในป่าดง มาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

เมื่อเสาะหาจนได้ค้นพบหลวงพ่อร่วง จึงโปรดให้อัญเชิญลงมา โดยลงแพล่องมาตามลำน้ำ แต่กว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ ก็เลยเวลาผูกพัทธสีมาสมโภชพระอุโบสถไปถึง 3 เดือน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ประดิษฐานหลวงพ่อร่วงเป็นพระประธานในพระวิหาร

อานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อร่วง เป็นที่เลื่องลือและเลื่อมใสในหมู่พุทธศาสนิกชน ที่นิยมมากราบไหว้ขอพรเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ ทางวัดจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองหลวงพ่อร่วงเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน

• พระเจดีย์ ที่สำคัญคือเจดีย์ทององค์ใหญ่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้น

• ต้นพระศรีมหาโพธิ์ มี 3 ต้น ต้นแรกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูก ต้นที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูก และต้นที่สามพระธรรมเจดีย์(ปาน) เจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ของวัด เป็นผู้ปลูก

• พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 ในโอกาสครบ 100 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานการศึกษา ให้วัดมหรรณพารามเป็นโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกของไทย

วัดมหรรณพารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งโปรดให้ต่อยอดพระเจดีย์องค์ใหญ่เป็นลูกแก้วและทองแดงกะไหล่ทองคำ พร้อมทั้งสร้างสระริมกำแพงพระอารามด้านใต้

จากนั้นก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา รวมทั้งก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติม และเมื่อ พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดมหรรณพารามเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ แต่กาลเวลาที่ผันผ่าน ส่งผลให้วัดสำคัญแห่งนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรม

ดังนั้น เพื่อดำรงไว้ซึ่งความงดงามของ “วัดมหรรณพาราม” พระอารามหลวง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่าง ๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ เป็นต้น โดยในปี 2558 นี้ได้ดำเนินการบูรณะพระวิหารและกำแพงแก้วรอบพระวิหาร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2559

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)






กำลังโหลดความคิดเห็น