xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์ออกแบบ CLC ม.อ.หาดใหญ่ จับมือชุมชนมุ่งสร้างแบรนด์-เสริมมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเพจ Creative Lab Center - CLC
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศูนย์สร้างสรรค์ออกแบบ CLC ม.อ.หาดใหญ่ จับมือภาครัฐ และเอกชนจัดงาน “ปันกันแล 2 สะพรั่งบาน ณ ปลายด้ามขวาน” ผลักดันผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสู่สากล สร้างรายได้ คุณภาพชีวิตชุมชนชายแดนภาคใต้

วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Creative Lab Center: CLC) สำนักวิจัย และพัฒนามหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.หาดใหญ่) จับมือภาครัฐ เอกชน ภาคเครือข่าย จัดงานครั้งยิ่งใหญ่ “ปันกันแล 2 สะพรั่งบาน ณ ปลายด้ามขวาน” จัดพื้นที่ชุมชนพบภาคธุรกิจ หวังผลักดันผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสู่สากล สร้างรายได้ คุณภาพชีวิตชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายฮัดสัน สิริสุวพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Creative Lab Center: CLC) สำนักวิจัย และพัฒนามหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.หาดใหญ่) เปิดเผยว่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และองค์กรสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับกองทัพภาคที่ 4 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา บริษัทหาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจ และผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บริษัท เลิฟอีส จำกัด และภาคีเครือข่าย

จัดกิจกรรมเพื่อสังคม นำเสนอรูปแบบเส้นทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่สากล โดยจัดการแสดงคอนเสิร์ตการกุศล “ปันกันแล 2 สะพรั่งบาน ณ ปลายด้ามขวาน” ในวันที่ 28 ก.พ.2558 ณ. ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.หาดใหญ่) เวลา 16.00 น.-22.00 น. เพื่อนำเงินรายได้สำหรับการขับเคลื่อนภารกิจของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบกิจกรรมคอนเสิร์ตการกุศลครั้งนี้หลักคือ กิจกรรม Learning by Sharing เย็นย่ำ แสงรำไร ชวนคนคุ้นใจ ล้อมวงละเลงสี ตาสอนปั้น ยายสอนเป็น รื่มรมย์กัน ชุมชนเรา จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือ การทำ Matching ระหว่าง Demand Side คือ ภาคเอกชน เช่น โรงแรม 5 ดาว ธุรกิจร้านอาหารระดับประเทศ และ Supply Side คือ ชุมชนต่างๆ ที่มีผลิตภัณฑ์มานำเสนอในงาน

โดยมี CLC เป็นสื่อกลางเพื่อประสานความต้องการของฝั่ง Demand และการนำสิ่งที่ต้องการจากภาคเอกชนไปออกแบบ พัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์จากชุมชุน มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาจาก CLC ที่เป็นสินค้าระดับพรีเมียม และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยจะมีการนำเสนอเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางเดินของผลิตภัณฑ์ และสิ่งที่ CLC จะนำเสนอต่อไป มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมของเครือข่าย CLC เช่น กลุ่ม เซรามิก ที่เป็นที่ต้องการในระดับนานาชาติ โดยจะสามารถเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับที่มาจากภาคใต้ของประเทศไทยจะมี Kids Zone ซึ่งเหมาะสำหรับพ่อแม่ หรือครอบครัวที่จะพาเด็กๆ มาทำกิจกรรมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีร้านอาหารในท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงคุณภาพสูงสำหรับตัวอย่างของชุมชน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาจากศูนย์ CLC ที่เพิ่มมูลค่า และการสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์จากศูนย์ CLC ที่ประสบความสำเร็จนั้น เริ่มจากศูนย์ CLC ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ๆ ถูกผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยชุมชนที่ทางศูนย์ CLC ได้เข้าไปช่วยเหลือในตอนแรกคือ ชุมชน หรือแซะบราโหม จ.ปัตตานี

ซึ่งชุมชุนนี้มีกลุ่มแม่บ้านบางคนที่เป็นแม่ม่าย เพราะสามีเสียชีวิต มีกลุ่มชาวบ้านที่พิการขาขาด เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบ มีความสนใจในการประกอบอาชีพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำเอาเศษกาบกล้วยที่เหลือทิ้งมาเป็นกระดาษห่อของขวัญ ซึ่งศูนย์ CLC ใช้เวลา และใช้เงินส่วนตัวทั้งหมดในการสร้างแบรนด์ใหม่ ชื่อ “กล่องกาบกล้วยปันกันแล หรือ Ishare และเพิ่มมูลค่าจากราคากล่องละ 8 บาท เป็นราคากล่องละประมาณ 2,000 บาท นอกจากนี้ เศษกาบกล้วยที่เหลือจากการผลิตกล่องกาบกล้วยปันกันแล ยังถูกนำไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าในการทำเป็นสมุดโน้ตแสนล้านความทรงจำ หรือ A Set of Care - A Hundred Billion Memories ซึ่งได้รับราววัล Demark 2014 จากกระทรวงพาณิชย์ และรางวัล Good Design Award จาก Japan Institute of Design Promotion และผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วยทั้ง 2 นี้ ยังได้ถูกเชิญให้ไปนำเสนอทั้งในนิทรรศการระดับชาติ และนานาชาติ เช่น งานบ้านและสวนแฟร์ งาน Thailand Innovation Design and Expo งาน Thai Festival Tokyo และงาน Thai Festival ShizuoKa

“เราหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือการพัฒนา เพิ่มมูลค่า และยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยรูปแบบของกระบวนการเพิ่มมูลค่าของศูนย์ CLC นั้นจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากรายได้ของชุมชุนเพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงจะส่งผลทำให้คนรู้จัก และอยากมาท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้นมากขึ้น มีการลงทุน มีการจ้างงาน และมีแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น เนื่องจากการเพิ่มศักยภาพ และมูลค่าของทรัพยากร และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้อยู่ในระดับสากล และเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง

โดยเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ มีเป้าหมาย และกลยุทธ์ทางการตลาดชัดเจน และใช้เทคโนโลยีในกระบวนการผลิตที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้รายได้ของชุมชนเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น