xs
xsm
sm
md
lg

“CLC” จับผลิตภัณฑ์กาบกล้วยยกเครื่องใหม่ ใส่ไอเดียสร้างสรรค์ ช่วย 3 จว.ชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ. ฮัดสัน สิรินุวพงศ์(กลาง)  ,ดร.นำพล มหายค์นันท์(ซ้าย) และ อ.ศิริพร สิริสุวพงษ์ (ซ้าย)
วันนี้ถ้าพูดเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนตระหนักดีถึงความรุนแรงที่ดูเหมือนจะไม่ได้ลดลงเลย ดังนั้น นอกจากแรงใจ ที่ส่งไปให้ทหารกล้าเหล่านั้นกันแล้ว ก็ยังมีชาวบ้านในท้องที่ ซึ่งต้องอยู่ร่วมชะตากรรมกับทหารเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง เป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า CLC (Creative Lab Center) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มารวมตัวกัน ประกอบด้วย อาจารย์ ฮัดสัน สิรินุวพงศ์, ดร.นำพล มหายค์นันท์ และ อาจารย์ศิริพร สิริสุวพงษ์
ผลิตภัณฑ์ปกหนังสือทำจากกาบกล้วย
โดยในนามของศูนย์ CLC อาจารย์ ทั้ง 3 คนได้นำแนวคิดด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลือกที่จะลงมาช่วยชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี และสงขลา โดยการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านงบประมาณจากเทศบาลนครยะลา โดยการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนดั้งเดิมของทางจังหวัดยะลา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์การแปรรูปกาบกล้วยเป็นของใช้ ขึ้นมาพัฒนารูปแบบใหม่ให้เป็นที่ต้องการของตลาด

อาจารย์ฮัดสัน (แซม) เล่าถึงที่มาของการลงไปช่วยเหลือชุมชนในการทำผลิตภัณฑ์กาบกล้วยบรรจุภัณฑ์ในครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากตัวเองเป็นนักออกแบบอยู่ในต่างประเทศ ทำงานรับใช้ต่างชาติมาก็นาน ก็เริ่มกลับมามองว่าน่าจะได้มีส่วนช่วยเหลือประเทศบ้านเกิดของเราได้บ้าง จึงได้เดินทางกลับมาประเทศไทย และได้รับการเชิญชวนให้มาสอนเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในส่วนของงานด้านออกแบบ

ทั้งนี้ ได้เห็นถึงปัญหาของผลิตภัณฑ์ชุมชน เกิดความคิดว่าน่าจะช่วยอะไรได้บ้างในฐานะที่เป็นนักออกแบบ จึงได้ตัดสินใจมาช่วยจังหวัดที่มีความเดือดร้อน และไม่มีใครกล้าที่จะลงไปทำงาน นั่นคือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และเลือกทำงานกับเทศบาลนครยะลา เพราะดูเหมือนว่าเขาจะเข้าใจการทำงานของเรามากที่สุด และสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของเราอย่างเต็มที่

" โดยในส่วนของผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เรามองเห็นปัญหาในขณะนั้นคือ ผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วย ซึ่งเดิมชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำหน่ายอยู่มาได้ระยะหนึ่งนานพอสมควร 8-9 ปี แต่ปัญหาคือขายได้ในราคาที่ต่ำมาก เพียงแค่ชิ้นละ 8 บาท แน่นอน ถ้าพูดถึงค่าใช้จ่ายต้นทุนอาจจะทำให้ชาวบ้านอยู่ได้ในแบบที่น้อยมาก ทั้งที่เขาน่าจะได้มากกว่านี้ เพราะงานแต่ละชิ้นเป็นงานฝีมือ กว่าจะได้ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่สลับซับซ้อน ดังนั้นจึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยกลุ่มนี้ เพราะส่วนตัวมองเห็นถึงเทกเจอร์ ความสวยงามตามธรรมชาติของผลิตภัณฑ์กาบกล้วย ซึ่งเสน่ห์ที่มีอยู่ในตัวของมันเอง"
ขั้นตอนการลอกเปลือกกาบกล้วย
ทั้งนี้ อาจารย์แซม สามารถหยิบเสน่ห์ที่มีอยู่ในตัวของมันเองตามธรรมชาติมาเป็นจุดขายได้อย่างไม่ยากนัก บวกกับอาศัยประสบการณ์ด้านงานออกแบบของอาจารย์เพิ่มเติมเข้าไปแจ้งเกิดผลิตภัณฑ์กาบกล้วยของชุมชนบาราโหม และกรือเซะ ในตลาดไฮเอนด์ได้ ในระดับที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่สามารถขายผลิตภัณฑ์ในราคาที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่า และ ตัวอาจารย์เองก็ภูมิใจที่สามารถช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศได้ และช่วยชาวบ้านให้มีรายได้ สร้างอาชีพที่มั่นคงให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

สำหรับผลิตภัณฑ์กาบกล้วยที่กล่าวถึงในครั้งนี้ ทำมาจากกาบกล้วยตานี เป็นสายพันธุ์ที่มีการปลูกการมากในพื้นที่จังหวัดยะลา และมีคุณสมบัติเหนียว ทนทาน ไม่แตกหักง่าย เหมาะแก่การนำมาใช้งาน โดยขั้นตอนการทำชาวบ้านลอกกาบกล้วยออกมาลอกเปลือกภายในนอกออก และนำมาตากให้แห้ง ส่วนขั้นตอนการตากแห้งนี้ชาวบ้านรู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา และสามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์ได้ หลังจากที่มีทีมงาน CLC เข้าไปสอน โดยนำเรื่องของงานออกแบบ และขั้นตอนการผลิตไปสอนให้ ซึ่งการทำงานในแบบที่ อาจารย์แซมและทีมงานต้องการไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว ดังนั้นจึงมีชาวบ้านบางคนไม่ได้เข้ามาทำงานในครั้งนี้ด้วย

ด้านอาจารย์ศิริพร ดูแลด้านการตลาด เล่าถึงการทำงานด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ กาบกล้วย ภายใต้แบรนด์ YALA BIRD CITY ว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดต่างประเทศ เพราะสินค้าของเราสอดคล้องกับความต้องการตลาดโลกปัจจุบันที่หันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึง ประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเรื่องราวและที่มาของผลิตภัณฑ์ที่มาจากชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ของเรา ยิ่งช่วยให้ผลิตภัณฑ์จากกาบกล้วยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลซึ่งเราได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล เครื่องหมาย DEmark กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และได้รับรางวัล G-mark การันตีคุณภาพจากประเทศญี่ปุ่น ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้การทำตลาดในประเทศญี่ปุ่นได้มากขึ้นด้วย และนอกจากผลิตภัณฑ์ชุมชนจากกาบกล้วย ภายใต้โลโก้ของ YALA BIRD CITY ในอนาคตทางทีมงาน CLC มีแผนที่จะทำผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นออกมาสู่ตลาด

สนใจผลงานของอาจารย์แซม และทีม CLC ก็ต้องคอยติดตาม หรือผลิตภัณฑ์ชุมชน รายใดต้องการขอความช่วยเหลือด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ และต้องการให้ทีมงาน CLC เขาไปให้คำแนะนำทางอาจารย์ และทีมงานก็ยินดี แต่ขอให้อยู่ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน

โทร. 08-7554-2879

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น