xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระ 9 อาราม เสริมความมงคลรับปีใหม่ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เสาหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
ย่างก้าวเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2558 อย่างเต็มตัว นั่นก็หมายถึงการก้าวขึ้นสู่ปีใหม่ของไทย ซึ่งการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการออกไปไหว้พระทำบุญ ก็ถือเป็นการเริ่มต้นปีด้วยความเป็นมงคล ด้วยความสุข และความสบายใจ อันถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับการใช้ชีวิตอย่างราบรื่นไปตลอดทั้งปี

หากใครไม่ได้กลับบ้านต่างจังหวัด หรือออกไปเที่ยวนอกกรุงเทพฯ เราก็อยากจะชวนมาเข้าวัดทำบุญกันกับเส้นทางไหว้พระ 9 วัด ในกรุงเทพมหานคร

เริ่มต้นด้วยความเป็นสิริมงคลที่ “ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร” ศาลหลักเมืองแห่งนี้ เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ภายในอาคารศาลหลักเมือง ได้ประดิษฐานหลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่ โดยเสาต้นเดิมนั้น ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นแก่นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่ชำรุด โดยเป็นแกนไม้สักประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์

นอกจากจะมาไหว้เสาหลักเมืองแล้ว ก็ต้องมาสักการะเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง, พระกาฬไชยศรี, เจ้าพ่อเจตคุปต์, เจ้าพ่อหอกลอง ที่ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณของศาลหลักเมือง ซึ่งเชื่อกันว่า การมาไหว้ศาลหลักเมืองจะช่วยตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนาบารมี
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ข้ามมาที่ฝั่งตรงข้ามของศาลหลักเมือง ก็จะเป็น “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือ “วัดพระแก้ว” ที่นี่เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 ให้เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา ภายในบริเวณวัดนั้นงดงามเป็นอย่างมาก ศิลปะและสถาปัตยกรรมภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” หรือ “พระแก้วมรกต” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย เชื่อกันว่า หากได้มาสักการะพระแก้วมรกต ก็จะมีแก้วแหวนเงินทองไหลมาเทมาตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ให้ได้ชม โดยวาดไว้บริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถ ซึ่งนับได้ว่าสวยงามอย่างมาก อีกทั้งในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของอาคารและปราสาทสำคัญ อาทิ พระศรีรัตนเจดีย์, พระมณฑป และปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งที่ “ปราสาทพระเทพบิดร” แห่งนี้เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันจักรีเท่านั้น
พระพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์
ใกล้กับวัดพระแก้วก็ยังเป็นที่ตั้งของ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือ “วัดโพธิ์” เป็นวัดที่มีของดีน่าชมอยู่หลายสิ่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธเทวปฎิมากร พระพุทธรูปปางสมาธิอันงดงาม ผู้คนนิยมมากราบสักการะขอพรพระพุทธเทวปฏิมากร ให้พรสำเร็จดุจดังเทวดาสร้างสรรค์ทุกประการ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ 4 รัชกาล ที่มีขนาดใหญ่และงดงามเป็นอย่างมาก

ส่วนที่วิหารพระพุทธไสยาสน์ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาด โดย “พระพุทธไสยาสน์” ที่วัดโพธิ์นี้เป็นพระนอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเมืองไทย ทอดพระองค์ยาว 46 เมตร พระบาทตกแต่งลายประดับมุกภาพมงคล 108 ที่รับคติมาจากชมพูทวีป ถือเป็นลายศิลปะไทยผสมจีน ผสมผสานกันอย่างประณีตศิลป์ เชื่อว่าหากได้มาสักการะพระพุทธไสยาสน์ จะมีชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุข อยู่ดีกินดีตลอดทั้งปี
ศาลเจ้าพ่อเสือ
มาต่อกันที่ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” บริเวณถนนตะนาว เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ ที่คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ศาลเจ้าแห่งนี้คนจีนเรียกว่า ตั่วเหล่าเอี้ย เป็นสถานที่ประดิษฐานรูปเอี่ยนเถี้ยนส่งเต้ รูปเจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู และเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่เคารพของทั้งชาวจีนและชาวไทยเป็นอย่างมาก

แม้ว่า เจ้าพ่อเสือ จะมีฐานะเป็นเทพเจ้าชั้นรอง แต่ก็เป็นที่นิยมกราบไหว้ของคนทั่วไป เชื่อกันว่าจะช่วยเสริมอำนาจบารมี โดยเฉพาะคนที่กำลังมีคดีความ ต้องขึ้นศาล ของบูชาที่ขาดไม่ได้ คือ เนื้อหมูและไข่ และต้องลูบมันหมูใส่ปากเจ้าพ่อเสือด้วย ถือว่าถวายของต้องโฉลกจะมีโชคมีชัยได้ลาภผลพูนทวี
หลวงพ่อโต วัดสุทัศน์
เดินต่อมาอีกหน่อยก็จะถึงบริเวณเสาชิงช้า ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ “วัดสุทัศนเทพวราราม” เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปองค์สำคัญประดิษฐานอยู่ในพระวิหารคือ “พระศรีศากยมุนี” (หลวงพ่อโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เชื่อกันว่า หากได้มาสักการะหลวงพ่อโตที่วัดสุทัศน์ จะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและมีเสน่ห์ต่อบุคคลอื่น

ส่วนพระอุโบสถของวัดสุทัศน์ ถือว่าเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ภายในประดิษฐาน "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" ส่วนที่ฝาผนังมีภาพจิตรกรรมที่งดงามโดยฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งภาพที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ภาพเปรตตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่ และมีพระสงฆ์ยืนพิจารณาอยู่ ถือเป็นภาพที่มีชื่อเสียงมากในสมัยก่อน เป็นที่เลื่องลือว่าหากใครมาที่วัดแห่งนี้ก็ต้องมาดูภาพนี้ให้ได้
หลวงพ่อปู่ วัดชนะสงคราม
ส่วนที่ “วัดชนะสงคราม” ในย่านบางลำพู ก็เป็นที่นิยมในการมาไหว้พระเช่นกัน ซึ่งแต่เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดตองปุ และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนะสงครามหลังจากที่สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงมีชัยชนะในสงคราม 9 ทัพ และกลับมาบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่

พระอุโบสถของวัดชนะสงครามก็ถือว่างดงามไม่แพ้วัดไหน เพราะเป็นฝีมือของช่างวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 1 ด้านในพระอุโบสถค่อนข้างกว้าง ภายในประดิษฐานพระประธานนามว่า "พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ มเหธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดาอนาวรญาณ" หรือ “หลวงพ่อปู่” พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย เชื่อว่า หากได้มาไหว้พระที่นี่แล้วจะมีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
หลวงพ่อยิ้มรับฟ้า วัดระฆัง
ข้ามมาที่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มที่ “วัดระฆังโฆสิตาราม” วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางหว้าใหญ่” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และขุดพบระฆังลูกหนึ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางหว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”

ภายในพระอุโบสถวัดระฆังฯ แห่งนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับการยกย่องว่าฝีมืองดงามมาก ซึ่งเขียนโดยพระวรรณวาดวิจิตร จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นภาพพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ก่อนเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โดยมี “หลวงพ่อยิ้มรับฟ้า” เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เชื่อว่าหากได้มาสักการะพระที่วัดระฆัง จะมีชื่อเสียงโด่งดังตลอดทั้งปี
พระปรางค์ วัดอรุณ
ถัดจากนั้นเป็น “วัดอรุณราชวราราม” วัดโบราณที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานพระพุทธรูปนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย กล่าวกันว่าพระพักตร์เป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาล 2 ที่ได้ทรงปั้น ซึ่งที่พระพุทธอาสน์นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้

อีกสิ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้ก็คือ "พระปรางค์" ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อครั้งอดีตมีความสูง 16 เมตร ซึ่งต่อมามีการปฏิสังขรณ์และสร้างพระปรางค์องค์ใหม่ มีความสูง 82 เมตร มีพระปรางค์ใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางและมีพระปรางค์องค์เล็กตั้งอยู่ 4 ทิศ องค์พระปรางค์สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ประดับประดาด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ อย่างประณีต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เด่นของวัดแห่งนี้ และยังมีงานปูนปั้น อาทิ ยักษ์, เทวดา, พญาครุฑ ประดับตกแต่งที่พระปรางค์อย่างงดงามให้ได้ชม อีกทั้งองค์พระปรางค์ใหญ่ก็ยังสามารถขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ได้อีกด้วย ซึ่งทัศนียภาพนั้นก็นับได้ว่าสามารถมองเห็นได้อย่างกว้างไกล และหากได้มาไหว้พระที่วัดอรุณแล้วเชื่อว่าจะมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ไปตลอดทั้งปี
หลวงพ่อซำปอกง วัดกัลยา
มาจบที่วัดสุดท้าย “วัดกัลยาณมิตร” เป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีการก่อสร้างให้อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ คือ “หลวงพ่อโต” หรือเรียกชื่อแบบจีนว่า "ซำปอฮุดกง" หรือ “ซำปอกง” หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีนในย่านชุมชนแห่งนี้ เชื่อกันว่า หากได้มาไหว้หลวงพ่อซำปอกงที่นี่ ก็จะโชคดีมีชัยไปตลอดทั้งปี

พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ (ป่าเลไลย์) ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทาน เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 และยังมีหอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4 อีกด้วย

ทริปไหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพมหานคร เป็นทริปสั้นๆ ใน 1 วัน ที่ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ หรือช่วงขึ้นปีใหม่ไทยแบบนี้ สามารถมาไหว้พระทำบุญกันให้สุขใจได้เลย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น