xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดเขมาภิรตาราม พระอารามแห่งกตัญญุตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วัดเขมาภิรตาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 74 หมู่ที่ 8 ถนนพิบูลสงคราม ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี

พระอารามแห่งนี้เดิมเป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกกันว่า “วัดเขมา” ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่ชาวเขมรมาสร้างไว้ และเอานามเขมรมาตั้งชื่อ เพราะคำว่า “เขมา” หรือ “เขมะ” หรือเขมะรัฐ แปลว่า “เขมร” นั่นเอง

วัดเขมาฯถูกทิ้งร้างไปนาน จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ได้โปรดให้เจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชโอรส (ซึ่งต่อมาได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) เสด็จฯไปเฝ้าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ กราบทูลขอวัดเขมาฯ เพื่อเป็นวัดในพระบรมราชินูปถัมภ์สำหรับกฐินในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี จากนั้นได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเขมาฯเป็นการใหญ่อีกครั้ง เพื่อฉลองพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนี โดยทรงจัดซื้อที่สวนถวายเพิ่มเติม ขุดคูรอบวัด ปฏิสังขรณ์ในพระอุโบสถ ทั้งรวมโปรดให้จิตรกรเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง และทรงสร้างพระอสีติมหาสาวก 80 องค์ พระมหาเจดีย์ พระวิหารน้อย 2 หลัง ศาลาการเปรียญ กุฏิทรงไทย หอพระไตรปิฎก หอสวดมนต์ หอระฆัง สะพาน ฯลฯ แล้วโปรดให้เพิ่มสร้อยต่อท้ายนามวัดว่า “ภิรตาราม” เป็น “วัดเขมาภิรตาราม” และได้เสด็จฯไปทรงทอดผ้าพระกฐินยังพระอารามแห่งนี้ด้วย

เมื่อ พ.ศ. 2401 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระอินทร์แปลง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริด ศิลปะสุโขทัย จากพระราชวังจันทรเกษม พระนครศรีอยุธยา ลงมาประดิษฐานเบื้องหน้าพระประธานในพระอุโบสถวัดเขมาฯ

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดเกล้าฯให้ย้ายพระตำหนักแดงจากวัดโมลีโลกยาราม ไปปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาฯ ตำหนักแดงหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางองค์น้อย ครั้นสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ผู้เป็นพระธิดาได้ประทับต่อมา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งมูลมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง มาปลูกไว้ทางด้านเหนือของวัดเขมาฯ

สิ่งสำคัญภายในวัดเขมาภิรตารามมีมากมาย อาทิ

• พระอุโบสถ กว้าง 17.30 เมตร ยาว 35 เมตร สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระราชศรัทธาโปรดให้ขุดรากใหม่ ก่อผนังให้ขยายกว้างกว่าเดิม และถมพื้นภายใน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯให้ก่อกำแพงรอบพระอุโบสถ และโปรดเกล้าฯให้บำเพ็ญกุศลสมโภชพระอุโบสถ เมื่อ พ.ศ. 2371

• พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.90 เมตร สูง 4 เมตร เดิมพระประธานมีขนาดเล็ก แต่เมื่อมีการขยายพระอุโบสถให้ใหญ่ขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นพระประธานองค์ที่เห็นในปัจจุบัน ครอบพระประธานองค์เก่าที่เป็นทองคำ

• จิตรกรรมฝาผนัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้ขรัวอินโข่ง จิตรกรชื่อดังในสมัยนั้น วาดภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ เป็นจิตรกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน และฝรั่ง ซึ่งมีความงดงามมาก

• รูปปั้นพระอสีติมหาสาวก จำนวน 80 องค์ ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าพระประธาน ภายในพระอุโบสถ

• พระวิหาร กว้าง 4.60 เมตร ยาว 8.70 เมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นที่มุมกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถ

• พระมหาเจดีย์ สูง 30 เมตร ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น

• พระเจดีย์ 4 องค์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ได้ทรงสร้างประดิษฐานไว้ทั้ง 4 มุมของพระอุโบสถ แต่หลังจากการก่อสร้างพระมหาเจดีย์เสร็จสิ้น จึงได้ชะลอเจดีย์ทั้ง 4 องค์มาตั้งประจำมุมทั้ง 4 ของเจดีย์องค์ใหญ่

• พระศรีอาริยเมตไตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ประดิษฐานไว้ในซุ้มจรนำด้านหลังพระประธาน นอกพระอุโบสถ โดยหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เพื่อแก้เคล็ดความเชื่อคติโบราณที่ไม่นิยมสร้างพระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก

• พระนิรันตราย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น

• พระที่นั่งมูลมณเฑียร เดิมเป็นตำหนักไม้ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้รื้อและแก้ไขเป็นตึก ปลูกขึ้นใหม่ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้รื้อไปปลูกไว้ที่วัดเขมาฯ เพื่อทรงอุทิศถวายพระราชบิดา ปัจจุบัน ทางวัดได้มอบให้เป็นห้องสมุดของโรงเรียนกลาโหมอุทิศ

• ศาลาจตุรมุข ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น ได้ทรงประทับแรม ณ ศาลาแห่งนี้ถึง 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2447 และ พ.ศ. 2450

เมื่อกาลได้ล่วงเลยไปนับแต่การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเขมาภิรตารามก็ถึงเวลาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาลปัจจุบัน โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ร่วมกับทางวัดจัดทำ “โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเขมาภิรตาราม” เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2555 บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระเจดีย์ ซุ้มประตูทางเข้า และปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหารคืนสู่ความโดดเด่นเป็นสง่า สมคุณค่าแห่งความเป็นพระอารามหลวงสืบไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 182 กุมภาพันธ์ 2559 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น