xs
xsm
sm
md
lg

พระปฐมเจดีย์ ปาฏิหาริย์ต่อพระพักตร์ ๓ รัชกาล!! คนรอบองค์พระตะลึงทั้งเมือง !

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระปฐมเจดีย์ในอดีต
พงศาวดารได้บันทึกเรื่องราวปาฏิหาริย์ มหัศจรรย์ ซึ่งเกิดขึ้นที่องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ต่อพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์ติดต่อกันถึง ๓ รัชกาล และผู้คนจำนวนมากเห็นด้วยกันรอบด้าน โดยยังหาคำตอบไม่ได้ แม้จะทรงวินิจฉัยด้วยหลักวิทยาศาสตร์ก็ตาม

พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดและเก่าที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสูงเท่านกเขาเหิน และเก่าเสียจนไม่รู้ว่าใครสร้าง

จากหลักฐานแวดล้อม นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์แรกที่สร้างขึ้นในย่านนี้สมัยที่ยังเป็นอาณาจักรศรีวิชัยเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว ครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูตเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ เดิมเรียกว่า “พระประธมเจดีย์” เพราะครอบแท่นบรรทมของพระพุทธเจ้าไว้ภายใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้เปลี่ยนเป็น “พระปฐมเจดีย์” สมกับเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ และสร้างขึ้นก่อนเจดีย์อื่นทั้งหมด

มีบันทึกไว้ในพงศาวดารว่า พระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในองค์พระปฐมเจดีย์ได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่สายตาของบุคคลจำนวนมากหลายครั้ง รวมทั้งต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ถึง ๓ รัชกาล

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อปีมะโรง อัฐศก วันเสาร์ เดือน ๑ ขึ้น ๒ ค่ำ (๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๙) เห็นที่องค์พระปรางค์เป็นดวงช่วงออกมาทางซุ้มคูหาทิศเหนืออีกคราว ๑ ครั้นมาถึงวันพฤหัส เดือน ๑ ขึ้น ๗ ค่ำ เห็นรัศมีส่องไปทั้งองค์ปรางค์เหมือนแสงดอกไม้เทียน จับอยู่ที่องค์พระได้เห็นด้วยกันมาก ในเดือน ๑ ปีมะโรง อัฐศก เห็นอัศจรรย์ ๒ ครั้ง การที่ปาฏิหาริย์มีนั้นทุกปี ๆ ละ ๒ ครั้งบ้าง ๓ ครั้งบ้าง ถ้าสมโภชเวียนเทียนเมื่อใดก็เป็นทุกคราว และที่พระปฐมเจดีย์มีเหตุอัศจรรย์หลายอย่าง คือองค์พระปรางค์ ลางทีเดือนมืดก็บังเกิดเป็นรัศมีเหมือนบุคคลเอาผ้าขาวเข้าไปหุ้มไว้ แล้วก็หายไปทีละน้อยๆ แล้วก็ สว่างขึ้นทีละน้อยๆ จนเต็มกำลัง และเห็นขึ้นไปจนตลอดยอดนภศูล ลางทีก็สว่างซีกหนึ่ง ลางทีสว่างข้างล่าง มืดข้างบน แล้วสว่างข้างบน มืดข้างล่าง เมื่อจะสว่างนั้นก็เป็นรัศมีเรืองขึ้นทีละน้อยๆ สว่างเต็มกำลังตลอดจนยอดนภศูล แล้วรัศมีก็โรยอ่อนลงมาทีละน้อยๆ จนมืดไปทั้งองค์พระปรางค์ แล้วก็ค่อยๆ มีรัศมีเรืองๆ ขึ้นมาอีกดังกล่าวมาแล้ว เป็นอยู่ ๒ ทุ่มบ้าง ๓ ทุ่มบ้าง แล้วจึงหายไปทีเดียว ลางทีก็เห็นเป็นดวงดาวติดอยู่ปลายยอดนภศูล รัศมีแดงเหลืองสีต่างๆ ค่อยๆ เลื่อนลงมาทีละน้อย หายไปในช่องคูหา ลางทีดูที่องค์พระปรางค์มืดเป็นปกติ แต่ขอบริมนั้นมีรัศมีขาวสว่างขึ้นไปตลอดยอด ลางทีเวลาพลบก็ได้ยินเสียงโห่ร้อง ครั้นขึ้นไปถึงชั้นสุดดูก็ไม่เห็นผู้ใด ลางทีได้ยินเสียฆ้องชัยเหมือนบุคคลตีอยู่ในองค์พระเจดีย์ ลางทีมิใช่เวลาสัตบุรุษขึ้นนมัสการ พวกทำงานก็ได้กลิ่นธูปเทียนหอมตลบไป บางจำพวกมิอาจที่จะขึ้นไปบนทักษิณได้ ก็นั่งกราบไหว้อยู่แต่พื้นดิน ครั้นถามก็ว่านมัสการนี้ก็ได้บุญเหมือนกัน คนผู้นั้นจะกลัวบาปว่าพระบรมธาตุอยู่ข้างล่าง หรือจะกลัวอย่างไรก็ไม่รู้จักน้ำใจเขา และการที่กล่าวด้วยอัศจรรย์องค์พระ ปี ๑ ก็เป็นหลายครั้งหลายคราวทุกปี จะว่าด้วยอำนาจพระพุทธเจ้าหรือว่าพระบรมสารีริกธาตุ หรือจะว่าด้วยอำนาจเทพยดา หรือจะว่าไฟฟ้าดินขึ้นกินกัน ก็สุดแล้วแต่ปัญญาท่านผู้ใดจะคิดเห็น การที่กล่าวมานี้เป็นความจริงมีพยานโดยมาก...”

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปพระราชทานผ้าพระกฐินแล้วประทับอยู่ ๒ คืน ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์อีก ในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเห็นกันพร้อมหน้า พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า

“...พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงปีติโสมนัส รับสั่งว่าเหมือนผีหลอก ไม่รู้ที่จะว่าอย่างไรได้ เห็นจะเป็นไฟธาตุดินอยู่ในอิฐปูนถูกน้ำฝนเข้าก็เกิดเป็นรัศมีขึ้น ที่รับสั่งตรัสดังนี้ เพื่อจะมิให้คนที่ถือศาสนาพากันติเตียนได้ แต่ทองทศทองทิษมีอยู่ในฉลองพระองค์เท่าใด ก็ถอดพระราชทานให้เป็นส่วนพระราชกุศลจนสิ้น”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงสนพระทัยในด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ดังที่ต่อมาท่านได้รับการถวายพระสมัญญานามว่าเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” เมื่อมีบางคนกล่าวว่าที่องค์พระปฐมเจดีย์มีรัศมีเรื่องขึ้นนั้น ก็เป็นเพราะสารที่ตำราฝรั่งเรียกว่า ฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารมีรัศมีเรืองแสง ไม่ใช่อภินิหารของพระสารีริกธาตุแต่อย่างใด พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา พระอนุชิตชาญชัย พระวิสูตรโยธามาตย์ เอาฟอสฟอรัส เครื่องมือต่างๆ ไปทำการทดลอง พอทั้ง ๓ รับงานทดสอบปาฏิหาริย์องค์พระปฐมเจดีย์มายังไม่ทันจะได้ลงมือ เจ้าหญิงและหม่อมห้ามในกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา พร้อมด้วยบุตรภรรยาของพระยาอนุชิตชาญชัย และบ่าวไพร่ได้พากันไปเที่ยวหลังองค์พระ ก็ถูกฝูงผึ้งจำนวนหนึ่งเข้าโจมตี ทำเอาต้องวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง บ้างก็เข้าไปในดงหนาม บ้างก็วิ่งไปชนต้นไม้จนหัวแตก บ้างก็ถึงกับผ้าผ่อนหลุดลุ่ย ต้องมีคนเอาผ้านุ่งไปให้จึงกลับมาได้ แต่เมื่อมีคนตามไปดูก็ไม่พบฝูงผึ้ง ทั้งที่บูรณปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์กันมา ๑๐ ปีแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีใครถูกผึ้งต่อยเลย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ได้ทรงเผชิญปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์ถึง ๒ ครั้ง แต่พระองค์ไม่ได้ทรงรับสั่งเล่าให้ใครฟัง คงเก็บความแปลกพระทัยไว้เงียบๆ จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ขณะยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๒ และมีพระราชหัตถเลขามากราบทูลพระราชบิดาว่า

“ด้วยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๘ นี้ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๑๑ เวลาดึก ๒ ยามกับ ๕๕ นาที ข้าพระพุทธเจ้าได้นั่งอยู่ที่เรือนสนามจันทร์มีข้าราชการและมหาดเล็กอยู่ด้วยเป็นอันมาก ได้เห็นองค์พระปฐมมีรัศมีสว่างพราวออกมาทั้งองค์ดูประหนึ่งว่าองค์พระปฐมเจดีย์ด้านตะวันตก คือด้านที่เล็งตรงกับสนามจันทร์นั้น ทาด้วยฟอสฟอรัสพราวเรืองตั้งแต่คอระฆังลงมาหน่อยหนึ่งตลอดขึ้นไปจนยอดมงกุฎ และซ้ำยังมีรัศมีพวยพุ่งสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๓-๔ วา ปรากฏแก่ตาอยู่อย่างนี้ ๑๗ นาที แล้วรัศมีตอนใต้แต่ปล้องไฉนตลอดยอดก็ดับลงไปทันที เหลือสว่างอยู่แต่ตอนช่องมะหวดลงมาอีกสักไม่ถึงกึ่งนาทีก็ดับหายไปหมด มืดแม้จะมองแต่รูปองค์พระก็ไม่ถนัด ข้าพระพุทธเจ้าได้นับผู้ที่เห็นในขณะนั้น ตลอดจนทหารที่อยู่ยาม ๔ คน เป็นจำนวน ๖๙ คน

ข้าพระพุทธเจ้าลองคิดดูตามไซแอนซ์ ว่าบางทีจะเป็นด้วยตอนฝนตกหนักละอองฝนจะติดค้างอยู่ที่กระเบื้องที่ประดับองค์พระปฐมบ้าง ครั้นตอนดึกจวนพระจันทร์ตกแสงจันทร์ส่องทอตรงได้ระดับฐานฉากกับองค์พระปฐม จึงเกิดแสงแพรวพราว ฉะนั้นพอจันทร์เหลื่อมเข้าเมฆ แสงลับไป รัศมีที่องค์พระปฐมก็หายไปด้วย ครั้นรุ่งขึ้นได้ทราบเกล้าฯว่าจีนที่รับเหมาทำศาลารัฐบาลซึ่งอยู่ด้านตะวันออกองค์พระ และชาวตลาดอีกหลายคนซึ่งอยู่เหนือองค์พระก็เห็นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เข้าใจได้ว่ารัศมีได้พราวออกทั่วองค์พระเป็นอันพ้นวิสัยที่แสงจันทร์จะถึงได้ หรือว่าจะมีธาตุฟอสฟอรัสอยู่ในองค์พระธาตุนั้น จะส่องแสงแพรวพราวในเวลากลางคืนได้ก็ต่อเมื่อได้ต้องแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันมากพอ ในเวลากลางวันก็ชอุ่ม ตอนเย็นก็ฝนตกไม่ใช่ธาตุฟอสฟอรัสแน่ จึงเป็นอันจนด้วยเกล้าฯ ที่อ้างแสงรัศมีนั้นเป็นด้วยเหตุไรนอกจากว่ามหัศจรรย์ยิ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ ข้าพระพุทธเจ้าได้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป มีพระนิกรมุนีเป็นประธาน สวดมนต์เย็นในพระวิหารองค์พระแล้วได้เดินเทียนสมโภชองค์พระ ๓ รอบ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๖ เวลาเช้า พวกข้าราชการ พ่อค้า ราษฎรชาวพระปฐมเจดีย์ มีความปีติยินดีช่วยกันจัดของไปถวายและเลี้ยงพระหมดทั้งวัดพระปฐมเจดีย์เป็นจำนวน ๖๘ รูป เวลาค่ำได้มีละครเรื่องสุวรรณหงษ์ ตอนกุมพลถวายม้าฉลองหนึ่งคืนเป็นเสร็จการ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสว่า

“เรื่องพระปฐมเจดีย์กระทำปาฏิหาริย์ตามลักษณะที่เล่ามานี้ ช่างไม่มีอะไรผิดกับที่เคยเห็น ๒ คราวแต่สักนิดเดียว เวลาที่ได้เห็นนั้นคนมากยิ่งกว่าที่นับมา เห็นปรากฏด้วยกันทั้งหมดจึงได้มีเรื่องตรวจตราซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พ่อเข้าใจในลักษณะที่เล่าว่าเป็นอย่างไร แลเชื่อว่าได้เป็นเช่นนั้นจริงเพราะเคยเห็น แต่จะเป็นด้วยอันใด เหลือที่จะยืนยันฤารับรองให้คนอื่นเห็นด้วยจริงได้ จึงไม่ได้เล่าให้ใครฟังในชั้นหลังๆนี้ เพราะห่างจากเวลาที่ได้เห็นนั้นมาก เข้าใจว่าการที่เป็นเช่นนั้นได้จะได้เป็นอยู่เนืองๆ แต่หากคนนั้นตกค่ำลงก็เข้านอนเสียไม่สังเกต แปลกอยู่หน่อยแต่ที่เวลาเป็นมักจะเป็นเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนยี่ เวลาเดินบกมาถึงที่นั้นฤาเสด็จออกไปหลายครั้งไม่เคยมีเลย ขออนุโมทนาด้วยในส่วนกุศลที่ได้ทำ”

ต่อมาใน ปี พ.ศ.๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อได้ครองราชย์แล้ว ก็ได้ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์อีกในคืนเดือนมืด พร้อมข้าราชบริพาร ตำรวจ และเสือป่า เข้าเฝ้าอยู่ที่สนามจันทร์ประมาณ ๒๐๐ คน ซึ่งได้เห็นกันทุกคนรวมทั้งราษฎรที่อยู่รอบองค์พระ

หลังจากนั้นได้ทรงสร้างพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรพระปฐมเจดีย์โดยเฉพาะ ซึ่งใน พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่อสวรรคตแล้ว กระทรวงวังจึงได้ให้ย้ายพระที่นั่งหลังนี้มาปลูกรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร และเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖ กรมศิลปากรได้จัดพิธีบวงสรวงเพื่อจะบูรณะซ่อมแซมพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง ๙๙ ปี หลังจากนั้นก็จะย้ายกลับไปประดิษฐานที่พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม ตามเดิม
แสงไฟที่พระปฐมเจดีย์ในเวลามีงาน
พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยขณะอยู่บนชาลาพระที่นั่งพิมานปฐม
พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยขณะอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร
กำลังโหลดความคิดเห็น