ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงนำทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์และหลวงพระบางคราวอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมานั้น ได้นำเชลยสาวชาวเวียงจันทน์มาด้วยคนหนึ่งในฐานะอนุภรรยา เป็นลาวพุงขาว ธิดาของเพี้ยเมืองแพน มีนามว่า “แว่น” หรือ “คำแว่น” และนำมาอยู่ในทำเนียบร่วมกับท่านผู้หญิงนาคด้วย ซึ่งท่านผู้หญิงเป็นกุลสตรีแบบดั้งเดิม จึงรับธรรมเนียมของขุนนางในเรื่องนี้ไม่ได้ “คุณแว่น” จึงเป็นเหตุให้ชีวิตรักของท่านผู้หญิงกลายเป็นชีวิตขม แม้จะได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสี ก็ไม่ยอมเข้าประทับในบรมมหาราชวังเลยตลอดพระชนม์ชีพ
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ปรากฏบทบาทของสมเด็จพระอมรินทราฯอยู่ในพงศาวดาร แต่บทบาทของคุณแว่นกลับถูกจารึกไว้ทั้งในพงศาวดารและหนังสือหลายเล่ม มากกว่าสตรีอื่นๆในยุคนั้น เพราะเป็นสนมที่ทรงโปรด มีกริยาต้องพระราชอัธยาศัย รับใช้ใกล้ชิดตลอดรัชกาล
คุณแว่นเป็นคนพูดจาโผงผาง อีกทั้งยังค่อนข้างดุ บรรดาพระเจ้าลูกเธอจึงเกรงกลัวมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และเรียกคุณแว่นว่า “คุณเสือ” คนทั้งหลายเลยพากันเรียกตามไปด้วย
แม้จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสมเด็จพระอัมรินทราฯและพระโอรสธิดาหลายองค์ แต่กลับเข้ากันได้ดีกับคุณชายฉิม ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เรียกคุณแว่นว่า “พี่” มีสัมพันธ์กันด้วยดีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พอเป็นหนุ่ม คุณแว่นยังได้ช่วยคลี่คลายปัญหาสำคัญให้ครั้งหนึ่งเมื่อตอนดำรงพระยศเป็นกรมหลวงอิศรสุนทรแล้ว
ตอนนั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรแอบมีสัมพันธ์สวาทกับเจ้าฟ้าบุญรอด พระธิดาสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมศรีสุดารักษ์ ซึ่งก็คือลูกสาวของป้า เมื่อเจ้าฟ้าบุญรอดทรงครรภ์ได้ ๔ เดือน เห็นว่าจะปกปิดซ่อนเร้นเรื่องนี้ไว้ไม่ได้แล้ว ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็จะพระพิโรธเป็นเรื่องใหญ่แน่ และไม่เห็นใครจะช่วยผ่อนคลายให้ได้ นอกจาก “คุณเสือ”
คุณแว่นเป็นคนที่เข้ากราบทูลได้ทุกเรื่องและทุกเวลา แต่เรื่องใหญ่ขนาดนี้คุณแว่นก็ต้องหาจังหวะให้ดีเหมือนกัน และอธิษฐานไว้ว่า ถ้าพูดสำเร็จก็จะสร้างวัดถวายวัดหนึ่ง
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าของนามปากกา “น.ม.ส.” เล่าไว้ในหนังสือ “สามกรุง” ว่า
ค่ำวันหนึ่งคุณแว่นเห็นโอกาสเหมาะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ กำลังสบายพระราชหฤทัย รับสั่งเล่าเรื่องเก่าเมื่อครั้งก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกให้ท้าวนางฟังเป็นที่สนุกสนาน พอได้จังหวะคุณเสือก็คลานเข้าไปกระซิบ
“ขุนหลวงเจ้าขา ดีฉันจะทูลความสักเรื่องหนึ่ง แต่ขุนหลวงอย่ากริ้วหนา ถ้าขุนหลวงกริ้ว ดีฉันก็จะไม่ทูล” คุณแว่นเรียกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเหมือนเดิมมาตลอด
พระเจ้าอยู่หัวเฉลียวพระทัยว่าน่าจะมีอะไรชอบกลอยู่ จึงรับสั่ง
“เออ พูดไปเถิด กูไม่โกรธดอก”
คุณเสือยังว่า “ดีฉันไม่เชื่อ ขุนหลวงรับสั่งว่าไม่กริ้ว ครั้นดิฉันทูลขึ้นขุนหลวงก็จะกริ้ววุ่นวายไป ถ้าอย่างนั้นขุนหลวงสบถให้ดิฉันเสียก่อนดิฉันจึงจะทูล”
“อีอัปรีย์ บ้านเมืองลาวของมึงเคยให้เจ้าชีวิตจิตสันดานสบถหรือ กูไม่สบถ พูดไปเถิดกูไม่โกรธดอก”
คุณเสือก็ยังว่าไม่เชื่ออีก แล้วทำท่าคลานออก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงสนพระทัยเรื่องที่คุณเสือเกริ่น จึงรับสั่งเรียกไว้
“อย่าเพ่อไป จะไปข้างไหน มาพูดไปเถิด เอ็งจะให้ข้าสบถว่ากระไร”
“ดิฉันจะให้ขุนหลวงสบถว่าถ้าดิฉันทูลขึ้นแล้วขุนหลวงกริ้ว ให้ขุนหลวงตกนรกเท่านั้นแหละ”
“เอ็งจะมาให้ข้าสบถว่าไม่ให้โกรธนั้น ถ้ามีผู้คิดร้ายต่อข้าเอ็งมาบอกขึ้น ก็จะห้ามไม่ให้โกรธคนที่ใจเป็นดังนี้ บ้านเมืองลาวของมึงมีอยู่หรือ”
คุณเสือจึงว่า “ถ้าเป็นเรื่องใครเขาคิดร้ายต่อพระองค์ดิฉันก็ไม่ทูลขอห้ามให้ขุนหลวงกริ้ว นี่ไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น เป็นแค่การเล็กน้อย ครั้นขุนหลวงทราบก็จะกริ้วกราดเอาเป็นมากเป็นมาย ถึงแก่เฆี่ยนแก่ตี นิดก็เฆี่ยนหน่อยก็เฆี่ยน”
พระเจ้าอยู่หัวใคร่จะทรงฟังความว่าเป็นเรื่องอะไรจึงรับสั่งว่า
“พูดไปเถิด ข้าไม่เฆี่ยนหรอก”
คุณเสือก็ยังย้ำอีกว่า
“ถ้าคุณหลวงเฆี่ยน ให้คุณหลวงตกนรกหนา”
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงอึดอัดพระทัย ครั้นทรงนิ่งคุณเสือก็จะไม่ทูลเรื่องราวเสียที จึงรับสั่งว่า
“เออ กูไม่เฆี่ยนดอก”
คุณเสือจึงขยับเข้าไปใกล้อีกนิดแล้วกระซิบทูลว่า
“แม่รอด เดี๋ยวนี้ท้องขึ้นมาได้ ๔ เดือนแล้ว”
พระเจ้าอยู่หัวทรงสดับดังนั้น พระพักตร์ก็แสดงอาการพิโรธขึ้นมาทันที รับสั่งถามว่าท้องกับใคร คุณเสือจึงทูลว่า
“จะมีใครเล่า พ่อโฉมเอกของขุนหลวงนั่นซิ”
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ยังสงสัยพระทัยว่า จะเป็นกรมหลวงอิศรสุนทร หรือกรมขุนเสนานุรักษ์ พระอนุชา ทรงระแวงพระทัยว่าจะเป็นกรมขุนเสนานุรักษ์ซึ่งพระรูปพระโฉมงดงาม แต่คุณเสือกลับทูลว่า
“พ่อฉิมนั่นแหละเจ้าค่ะ” ระบุพระนามเดิมของกรมหลวงอิศรสุนทร ทั้งยังทูลส่งเสริมอีกว่า “รักชมสมกันจริงๆ มีลูกมีเต้าออกมาจะอุ้มชูก็ไม่น่ารังเกียจ ขุนหลวงอย่ากริ้วหนา”
“มึงเห็นดีไปคนเดียวเถิด พี่น้องเขายังอยู่เป็นก่ายเป็นกอง เขาไม่รู้ก็จะว่ากูสมรู้ร่วมคิดเป็นใจให้ลูกทำข่มเหงเขา อนึ่งทำดูถูกเทวดารักษารั้ววังไม่มีความเกรงกลัว ถ้าจะรักใคร่กันก็จะบอกล่าวผู้ใหญ่ให้เป็นที่เคารพนบนอบแต่โดยดี นี่ทำบังอาจจะเอาแต่ใจไม่คิดแก่หน้าผู้ใด”
แม้จะกริ้วเมื่อทรงทราบเรื่อง แต่ต่อมาเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพากรมหลวงอิศรสุนทรเข้าเฝ้ากราบทูลไกล่เกลี่ยขอรับพระราชทานโทษ ก็พระราชทานให้
เมื่อเรื่องลงเอยด้วยแฮปปี้เอนดิ้ง คุณแว่นก็สร้างวัดตามที่อธิษฐานไว้ ซึ่งรัชกาลที่ ๒ ได้พระราชทานนามให้ว่า วัดดาวดึงษาราม ปัจจุบันอยู่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี
ต่อมาเมื่อถึงกำหนดประสูติพระโอรส เจ้าฟ้าบุญรอดก็ประชวรพระครรภ์ถึงสองวันสองคืน กรมหลวงอิศรสุนทรจึงขอพึ่งบริการคุณเสืออีกครั้ง ให้ไปขอรับพระราชทานน้ำชำระพระบาทพระเจ้าอยู่หัว คุณเสือจึงนำขันทองตักน้ำขึ้นไปด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯรับสั่งว่าทำดูถูกเทวดารักษาวังจึงได้ออกลูกยาก แล้วก็ยกพระบาทเอาพระอังคุฐ (หัวแม่เท้า) ลงจุ่มน้ำในขันทอง คุณเสือก็รีบส่งน้ำนั้นข้ามกลับพระราชวังเดิม ครั้นเจ้าฟ้าบุญรอดเสวยน้ำชำระพระบาทครู่หนึ่งก็ประสูติพระโอรสเป็นพระกุมาร แต่ก็สิ้นพระชนม์ในวันประสูตินั้น
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๔๗ ก็ประสูติพระโอรสองค์ที่ ๒ ซึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังจากที่กรมหลวงอิศรสุนทรทรงอุปราชาภิเษกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรใน พ.ศ. ๒๓๔๙ แล้ว ใน พ.ศ. ๒๓๕๑ เจ้าฟ้าบุญรอดก็ประสูติพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในหนังสือ “วชิรญาณวิเศษ” เล่ม ๓ ได้ปรากฏพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ ตอนหนึ่งว่า
“ก็แลเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณาโปรดตั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นกรมพระราชวังบวร คุณเสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า พระบวรราชวังร้าง ไม่มีเจ้าของ ซุดโซมยับเยินไป เย่าเรือนข้างในก็ว่างเปล่ามาก ขอพระราชทานให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรพระองค์ใหม่ ขึ้นไปทรงครอบครองพระราชวังบวรจึงสมควร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้ามีพระราชโองการดำรัสว่า ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา ๆ แช่งชักไว้เป็นหนักหนา และมีรับสั่งว่าพระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว กรมพระราชวังบวรองค์ใหม่อย่าต้องเสด็จไปพระบวรราชวังเก่าเลย คอยเสด็จอยู่พระบรมมหาราชวังนี้ทีเดียวเถิด อย่าต้องประดักประเดิดยักแล้วย้ายเล่าเลย”
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เรื่องกิจการของบ้านเมือง คุณเสือก็กล้าที่จะถวายคำแนะนำ ซึ่งยากที่คนอื่นจะทำได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้หญิงในยุคนั้น
นอกจากมีบทบาทอยู่หลายเรื่องแล้ว คุณแว่นยังทำอะไรแปลกๆที่ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งในยุคนี้ต้องถือว่าชิงพื้นที่ข่าวไว้ได้ตลอด ทำให้ผู้คนกล่าวขานกันไปทั่ว พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า
“อีกครั้งหนึ่งมีเทศน์มหาชาติแผ่พระราชกุศลถึงพระองค์เจ้าต่างกรมและข้าราชการผู้ใหญ่ ๆ ฝ่ายหน้าฝ่ายในและเจ้าจอมพระสนมเอกที่มีกำลังพอจะทำได้ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์มหาชาติ ๑๓ กระจาด ตั้งกระจาดหน้ากำแพงพระมหาปราสาททรายตลอดมาถึงหน้าโรงทอง และโรงนาฬิกา และข้างลานชาลาด้วย ประกวดประชันกันนัก กระจาดคุณแว่นพระสนมเอกที่เขาเรียกว่าคุณเสือ แต่งเด็กศีรษะจุกเครื่องแต่งหมดจด ถวายพระเป็นสิทธิขาดทีเดียว...”
คนอื่นเอาของกินของใช้มาแต่งกระจาดประกวดประชันกัน คุณแว่นเอาลูกทาสมาใส่กระจาดถวายพระเสียเลย ชิงพื้นที่ข่าวไปเด็ดขาด คนกล่าวขานกันไปทั้งเมือง
ในเรื่องแม่บ้านการครัว คุณเสือก็ฝากฝีมือลือลั่นให้บันทึกไว้เหมือนกัน ในหนังสือ “พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี” กล่าวไว้ว่า เมื่อตอนมีงานสมโภชพระนครและพระแก้วมรกต คุณแว่นตั้งโรงครัวที่ริมกำแพงด้านประตูสวัสดิโสภา ทำขนมจีนน้ำยา โดยใช้ข้าวทำขนมจีนถึงวันละเกวียน เลี้ยงพระได้ถึง ๒,๒๖๗ องค์ ทั้งยังตั้งโรงครัวทำแกงร้อนเลี้ยงคน ๒,๐๐๐ คน และใช้คน ๙๘๘ คนลำเลียงแกงร้อนและขนมจีนน้ำยาไปถวายพระ เป็นเรื่องลือลั่นของคุณเสืออีกเรื่องหนึ่ง
มีเรื่องที่คุณเสือทำไม่สำเร็จอยู่เรื่องหนึ่ง ก็คือ “มีพระหน่อ” จนต้องไปขอลูกกับพระพุทธรูป ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ขึ้นใหม่เป็นวัดหลวง และอัญเชิญพระโลกนาถศาสดาจารย์ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา มาเป็นพระประธานในพระวิหารด้านตะวันออก คนอยุธยาเชื่อกันว่าพระโลกนาถทรงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ คุณเสือจึงได้โอกาสขอลูกกับพระโลกนาถ และขอพระราชทานสลักรูปเด็กผมจุกชายหญิง ๒ ตนไว้บนผนังวิหารเบื้องหลังพระโลกนาถ มีโคลงจารึกไว้ด้วยว่า
รจนาสุดารัตนแก้ว กุมารี หนึ่งฤา
เสนออธิบายบุตรี ลาภได้
บูชิตเชฐชินศรี เฉลาฉลัก หินเฮย
บุญส่งจงลุได้เสร็จด้วยดังถวิล
กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้งติดผนัง
สถิตอยู่เบื้องหลังพระไว้
คุณเสือสวาดิหวังแสวงบุตร ชายเอย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้สฤษดิแสร้งแต่งผล
โคลงจารึกไว้กับรูปกุมารกุมารีทั้ง ๒ บทนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงพระวินิจฉัยไว้ว่า ชะรอยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่าคนทั้งหลายจะเห็นว่ารูปกุมารไม่เกี่ยวข้องกับพระศาสนา จะรื้อทำลายเสีย จึงอาราธนาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสให้ทรงนิพนธ์โคลงบอกเรื่องของภาพกุมารไว้ ปัจจุบันรูปเด็กทั้ง ๒ ก็ยังปรากฏอยู่บนผนังที่เดิม ส่วนโคลงสลักบนหินอ่อนอยู่บนผนังตรงกลางระดับพระบาทพระโลกนาถ แต่เลือนไปมากแล้ว
แม้คุณเสือจะไม่สมหวังในเรื่องลูก แต่ก็สมหวังในเรื่องรัก เป็นที่โปรดปรานตลอดรัชกาล
หลังจากสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ในปี ๒๓๕๒ คุณเสือก็สิ้นวาสนา ไปอยู่กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่ประสูติจากราชธิดาพระชัยเชษฐาธิราชที่ ๓ เจ้านครเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นมเหสีองค์ที่ ๒ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ช่วยเลี้ยงพระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์ของเจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี จากนั้นคุณเสือก็เงียบหาย ไม่เป็นข่าวให้คนกล่าวขานกันอีก
คุณเสือถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๒ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นปีใด เป็นการจบชีวิตเชลยสาวจากเวียงจันทน์ ที่มามีบทบาทอยู่ในพงศาวดารไทยมากกว่าสตรีคนใดในยุคนั้น ด้วยความรักเมตตาจากเจ้าเหนือหัว