xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดแฟ้มลับ “สมเด็จทั้ง 8” ว่าที่ “สมเด็จพระสังฆราช” 5 องค์ใกล้ชิด “ลัทธิธรรมกาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คงต้องยอมรับกันว่า หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” สิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทย ตลอดรวมถึงคณะสงฆ์เฝ้าจับตามองและให้ความสนใจมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่า “เจ้าประคุณสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ” รูปใดจะได้รับการสถาปนาให้เป็น “สกลมหาสังฆปริณายก” หรือสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายชื่อพระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ “ชั้นสุพรรณบัฏ” ในปัจจุบัน ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย พบว่า มีทั้งหมด 8 รูปด้วยกัน ประกอบด้วย

หนึ่ง-สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ

สอง-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม

สาม-สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

สี่-สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ธรรมยุต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร

ห้า-สมเด็จพระพุทธโฆษาวรวิหารจารย์ (วีระ ภทฺทจารี ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

หก-สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส

เจ็ด-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร

และแปด-สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ สมเด็จพระราชาคณะองค์ไหนในจำนวนทั้งหมด 8 รูปที่มีโอกาสได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มากที่สุด?

คำตอบในเรื่องนี้จำเป็นต้องไล่เรียง “คุณสมบัติ” ที่บัญญัติเอาไว้ในกฎหมาย ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ หมวด 1 มาตรา 7 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวระบุเอาไว้ชัดเจนในวรรคที่ 1 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง”

จากนั้นในวรรคที่ 2 ก็ขยายความเอาไว้ว่า “ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

คำว่าอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์นั้นหมายความว่า ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏก่อนรูปอื่นนั่นเอง

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีความอาวุโสสูงสุด เป็นลำดับที่ 1 ก็คือ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” ปัจจุบันอายุ 90 ปี ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ปี 2538

ลำดับที่ 2 ได้แก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2544 ปัจจุบันอายุ 98 ปี

ลำดับที่ 3 ได้แก่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2552 ปัจจุบันอายุ 88 ปี

ลำดับที่ 4 ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ธรรมยุตได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552 ปัจจุบันอายุ 79 ปี

ลำดับที่ 5 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี ) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2553 ปัจจุบันอายุ 85 ปี

ลำดับที่ 6 ได้แก่ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2553 ปัจจุบันอายุ 68ปี

ลำดับที่ 7 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2554 ปัจจุบันอายุ 74 ปี

และลำดับที่ 8 ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปัจจุบันอายุ 73 ปี

สำหรับคำถามที่สำคัญถัดมาก็คือ แล้วเมื่อไรถึงจะมีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่?

ก็ต้องตอบว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มิได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

แต่เมื่อย้อนหลังดูเหตุการณ์ในอดีตที่มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แทนองค์เดิมก็อาจทำให้เห็นเค้าลางอะไรได้บ้าง

กล่าวเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 6 รูป ตั้งแต่ลำดับที่ 14 ถึง 19 โดยมีระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แทนองค์เดิมซึ่งสิ้นพระชนม์ที่น่าสนใจ ดังนี้

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 1 ปี 5 เดือน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทโย ปธ.9)วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 10 เดือน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี ปธ.9)วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 6 เดือน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ ปธ.6) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(วาสน์ วาสโน ปธ.4) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน ปธ.9) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน

หรือหมายความว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เกิดขึ้นหลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชองค์เดิมอย่างน้อย 6 เดือนและสูงสุด 1 ปี 5 เดือน

แต่ถ้าหากย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้นก็จะพบว่า มีในบางช่วงของประวัติศาสตร์ที่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่เกิดขึ้นหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดิมหลายปี ยกตัวอย่างเช่นหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(พระองค์เจ้าวาสุกรี) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2396 การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(พระองค์เจ้าฤกษ์) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2434 หรือทิ้งระยะเวลานานถึง 38 ปี

ขณะที่การสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2453 หรือใช้เวลานานถึง 11 ปีหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(สา ปุสฺสเทโว) เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2442

“....ตั้งแต่รัชชกาลที่ 4 พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระมหาเถระที่เปนพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของพระองค์ ถ้าไม่มี ก็ไม่ทรงตั้ง ในรัชชกาลที่ 4 ทรงตั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เพราะทรงนับถือเปนพระอาจารย์ เมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่ได้ทรงตั้งอีกเลยตลอดรัชชกาล ในรัชชกาลที่ 5 จะทรงตั้งกรมสมเด็จพระปวเรศฯ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ แต่กรมสมเด็จฯ ทรงขอผัดให้ไหว้พระสวดมนต์ไปก่อน จนจวนจะสิ้นพระชนม์จึงทรงรับมหาสมณุตฯ ทรงรับประมาณเกือบปีหรือปีกว่า ก็สิ้นพระชนม์ รัชชกาลที่ 5 ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชสา ซึ่งเปนพระกรรมวาจาจารย์(พระศพกรมสมเด็จฯ เอาไว้นานจนสมเด็จพระสังฆราชสาสิ้นพระชนม์ลงอีก เข้าพระเมรุเดียวกับเจ้านายอีกหลายพระองค์) เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสาสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่ได้ทรงตั้งอีกตลอดรัชชกาล สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงรับมหาสมณุตฯ ในรัชชกาลที่ 6 เพราะทรงเปนพระอุปัชฌาย์ในรัชชกาลที่ 6”(ตัวสะกดตามต้นฉบับ)”

นั่นคือบันทึกเกร็ดประวัติเกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงบันทึกไว้จากคำบอกเล่าของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ หรือสมเด็จพระราชาคณะที่มีสิทธิได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้นเชื่อว่า พุทธศาสนิกชนคนไทยย่อมต้องการรับรู้ว่า “สมเด็จทั้ง 8 องค์” มีประวัติหรือสายสัมพันธ์ที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

เว็บบล็อก Anti - Dhammakaya ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มผู้ต่อต้านวัดพระธรรมดาย ได้รวบรวมข้อมูลรายนามนามสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราช เรียงตามลำดับอาวุโสจากอันดับ 1 ไปถึงสุดท้าย และความเกี่ยวข้องของสมเด็จพระราชาคณะแต่ละองค์กับวัดพระธรรมกายในอดีต ดังนี้ 

หนึ่ง-สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)  เป็นทั้งอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของ “ธัมมชโย” วัดพระธรรมกาย และประกาศชัดเจนว่า “วัดปากน้ำ กับวัดพระธรรมกาย เป็นพี่น้องกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน” เป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนว่า สมเด็จวัดปากน้ำ สนับสนุนวัดพระธรรมกาย 100% 

สอง-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เป็นพระที่สังกัดธรรมยุตเพียงรูปเดียวที่ให้การสนับสนุนวัดพระธรรมกาย โดยปรากฏเป็นกรรมการจัดโครงการบวชแสนรูป และกิจกรรมอื่น ๆ ของวัดพระธรรมกาย โดยมีผู้สันนิษฐานว่า สมเด็จมานิตป่วยมิได้รับรู้อะไรมาก แต่เพราะมีพระพรหมเมธี (จำนง ธัมมจารี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ฯ และโฆษกมหาเถรสมาคม ที่แสดงตนชัดเจนว่าฝักใฝ่และให้การสนับสนุนวัดพระธรรมกาย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทำให้สมเด็จมานิต ไปร่วมงานธรรมกายบ่อย ๆ 

สาม-สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)  ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระธุดงค์กรรมฐานชื่อดังในสกลนคร 

สี่-สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย 

ห้า-สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี)  เคยเป็นผู้เกี่ยวข้องกับคดีสร้างพระของ “เสี่ยอู๊ด” ที่เป็นคดีความเมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันป่วยไม่สามารถประกอบภารกิจใด ๆ ได้ และเป็นหนึ่งในพระเถระที่ปรากฏชื่อเกี่ยวข้องกับการจัดงานของวัดพระธรรมกายบ่อย ๆ 

หก-สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย 

เจ็ด-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) ในอดีตสมเด็จสมศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง “พระธรรมโมลี” ได้รับการแต่งตั้งจาก สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ให้ตั้งศาลสงฆ์เพื่อเอาผิดต่อ “ธัมมชโย” แต่ก็ทำด้วยความล่าช้า จนสมเด็จวัดชนะสงครามมรณภาพ และพระธรรมโมลี ก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นพยานให้การสนับสนุนธัมมชโย ว่าเผยแผ่คำสอนถูกต้อง จนคดีถูกถอนฟ้องในที่สุด และพระธรรมโมลี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์” ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ สมเด็จสมศักดิ์ เป็นหนึ่งในพระราชาคณะที่ปรากฏชื่อสนับสนุนกิจกรรมวัดพระธรรมกาย ทุกงาน 

แปด-สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ)  เป็นพระราชาคณะอีกหนึ่งองค์ที่ปรากฏชื่อเป็นผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมของวัดพระธรรมกายเกือบทุกกิจกรรม 

นี่คือประวัติศาสตร์และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ตลอดรวมถึงเส้นทางและความเป็นมาของ “สมเด็จทั้ง 8” ซึ่งพุทธศาสนิกชนคงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วสมเด็จพระราชาคณะรูปใดจะได้รับการสถาปนา และจะได้รับการสถาปนาเมื่อไหร่



กำลังโหลดความคิดเห็น