xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มีผลแล้ว! พ.ร.ก.ประมง ฉบับ สนช.รับรอง 176 มาตรา-ปรับสูง 30 ล้าน-ผิดซ้ำ 5 ปีเพิ่ม 2 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มีผลบังคับใช้จริงๆ แล้ว หลังจากใช้เวลาเพียง 6 เดือน เมื่อราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกําหนด (พ.ร.ก.)การประมง พ.ศ. 2558 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. 2558 ไปเพื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 นั้น ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 73/2558 วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2558 ที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติพระราชกําหนดดังกล่าวแล้วจึงประกาศมาตามความในมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกาศ ณ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ลงนามโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พ.ร.ก.ฉบับนี้ ผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. มีมติอนุมัติตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ให้มีผลใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อไป ด้วยคะแนนเสียง 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 178 คน

โดยพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มาหลักการและเหตุผลการตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ ว่า แม้ว่า สนช.ได้เห็นชอบให้มีการตรา พ.ร.บ. การประมง พ.ศ.2558 แล้ว แต่บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันและขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่จะทำให้ประเทศไทยปลดจากกลุ่มประเทศที่อาจจะไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ใบเหลือง ตามมติของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรือ อียู

ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้ยกร่างกฎหมายว่าด้วยการประมงขึ้นใหม่ ด้วยการ ออก พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีหลักการสำคัญ อาทิ การควบคุมการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับทรัพยากร โดยการออกใบอนุญาตให้ทำการประมงต้องสอดคล้องกับจำนวนสัตว์น้ำและทรัพยากรน้ำ การกำหนดจำแนกเขตประมงอย่างชัดเจน ระหว่างประมงน้ำจืด พื้นบ้านและ พาณิชย์ เพื่อป้องกันความขัดแย้งกำหนดมาตรการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล โดยห้ามใช้แรงงานที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อลดการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีกรรมการทั้งจากภาครัฐและเอกชนกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการประมง พร้อมมีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั่วประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลมั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาการประมงของประเทศได้ และสามารถทำให้ไทยถูกปลดจากใบเหลืองจากอียูได้ในที่สุด

เปิดดู เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนพ.ย. 2558ได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 และ ระบุว่า มีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 พ.ย. 2558 เป็นต้นไป โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.ก.นี้ ระบุว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ยังขาดมาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำการประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย และเพื่อป้องกันมิให้มีการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังขาดการบริหารจัดการการทำการประมงให้สอดคล้องกับการผลิตสูงสุดของธรรมชาติให้สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน และหากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจมีผลกระทบต่อการประมงของไทย ดังนั้นเพื่อเพิ่มมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้นและตรวจสอบการประมง อันเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และกำหนดแนวทางในการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรประมงและสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก.นี้

สำหรับเนื้อหา พ.ร.ก.ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 176 มาตรา จำนวน 12 หมวด ซึ่งสาระสำคัญได้กระจายตามหมวดต่างๆ
เริ่มตั้งแต่หมวดบททั่วไป ในมาตรา 8 ที่ระบุว่า การกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.นี้ หรือตามกฎหมายของรัฐชายฝั่ง หรือตามหลักเกณฑ์หรือมาตรการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์หรือมาตรการขององค์การระหว่างประเทศ บรรดาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง ไม่ว่าจะกระทำในน่านน้ำไทยหรือนอกน่านน้ำไทย และไม่ว่ากระทำโดยใช้เรือประมงไทย เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย หรือเรือไร้สัญชาติ เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรและต้องรับโทษตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.นี้ และให้ศาลไทยมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีได้

หากความผิดเกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทย และการกระทำความผิดนั้นมิใช่เรือประมงไทยหรือผู้มีสัญชาติไทย ให้กระทำได้เมื่อได้รับแจ้งจากรัฐต่างประเทศที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้นแล้วให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือขององค์การระหว่างประเทศในการดำเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.นี้”

มีต่างด้าวผิด กม.โทษหนัก

ในขณะที่มาตรา 10 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง และมาตรา 11 ห้ามมิให้โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำจ้างลูกจ้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือจ้างคนต่างด้าวที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งหากตรวจพบลูกจ้างหรือคนงานที่ผิดกฎหมายไม่เกิน 5 คน อธิบดีมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่ 10-30 วัน และหากพบว่ามีมากกว่า 5 คน อธิบดีแจ้งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อสั่งปิดโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานได้ โดยหากพบว่าโรงงานที่ถูกสั่งให้ปิดยังทำความผิดซ้ำอีกภายใน 3 ปี ก็สามารถให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้

ในหมวดที่ 2 เรื่องการบริหารจัดการด้านการประมงนั้น ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติในมาตรา 13 โดยมีนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับการบริหารจัดการการประมงต่างๆ ในขณะที่มาตรา 26 ก็กำหนดให้มีคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
ส่วนหมวด 3 เรื่องการทำการประมงในน่านน้ำไทยนั้น มีเนื้อหาที่น่าสนใจตั้งแต่มาตรา 31 เป็นต้นไป โดยเนื้อหาได้กำหนดให้ผู้ทำการประมงน้ำจืดในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่อธิบดีประกาศกำหนด หรือแม้แต่เรือประมงพื้นบ้านก็ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน ซึ่งจะมีการกำหนดจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตไว้ในใบอนุญาตด้วย รวมทั้งต้องจัดทำสมุดบันทึกการทำการประมง ซึ่งจะต้องมีประเภทและปริมาณของสัตว์น้ำที่จับได้ให้ตรวจสอบได้ด้วย สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์นั้น จะกำหนดไม่ให้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 2 ปี ซึ่งใบอนุญาตจะโอนมิได้ เว้นแต่เป็นการโอนให้บุพการี คู่สมรสหรือผู้สืบสันดานเท่านั้นยึดเรือขายทอดตลาด

สำหรับการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยนั้น กำหนดไว้ในหมวด 4 เริ่มตั้งแต่มาตรา 47 โดยได้กำหนดให้มีใบอนุญาตเช่นกัน แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงด้วย และหากเกิดกรณีเรือประมงไทยหรือเป็นเจ้าของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย แต่ใช้ผู้ควบคุมเรือหรือคนประจำเรือหรือมีผู้โดยสารเป็นผู้มีสัญชาติไทยทำประมงนอกน่านน้ำไทยจนเป็นละเมิดกฎหมายของรัฐต่างประเทศ และทำให้ผู้ควบคุมเรือคนประจำเรือ หรือผู้โดยสารซึ่งไปกับเรือประมงต้องตกค้างอยู่ในต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปในการนำบุคคลดังกล่าวกลับประเทศภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ซึ่งหากเจ้าของเรือประมงไม่ชดใช้ค่าใช้จ่ายภายในกำหนดเวลา กรมประมงก็มีอำนาจยึดเรือประมงและนำออกขายทอดตลาดได้

หมวด 5 จะเป็นเรื่องมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติและรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศไว้อย่างยั่งยืน โดยระบุไม่ให้ใช้ไฟฟ้า หรือวัตถุระเบิดจับสัตว์น้ำ รวมทั้งห้ามมิให้ผู้ใดครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่เกิดจากกรณีดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นยังมีการคงเรื่องของเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ห้ามใช้ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยออกประกาศไว้ด้วย

ส่วนหมวด 6 นั้นเป็นเรื่องของการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หมวดที่ 7 การควบคุม เฝ้าระวัง สืบค้น และตรวจสอบ ซึ่งมีการกำหนดไว้อย่างเข้มงวดตั้งแต่เรือประมง จนถึงท่าเทียบเรือ โดยเรือประมงนั้นต้องมีการติดตั้งระบบติดตามเรือ สมุดบันทึกการประมง รวมถึงการแจ้งเข้า-ออกท่าเทียบเรือ หมวดที่ 8 ว่าด้วยเรื่องสุขภาพอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หมวด 9 ว่าด้วยเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ หมวดที่ 10 มาตรการทางปกครอง และหมวดที่ 11 บทกำหนดลงโทษ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันในเรื่องของการบทลงโทษต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่มาตรา 110 เป็นต้นไป

สำหรับบทลงโทษที่น่าสนใจนั้น ระบุไว้ตั้งแต่มาตรา 122 เป็นต้นไป โดยเฉพาะในเรื่องใช้เรือไร้สัญชาติในการทำประมง ซึ่งจะมีโทษเปรียบเทียบปรับตามขนาดของเรือ โดยโทษสูงสุดนั้นเป็นเรือ 150 ตันกรอสจะมีโทษปรับ 5-30 ล้านบาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้ ขึ้นกับจำนวนที่มากกว่า ส่วนกรณีจ้างแรงงานผิดกฎหมายนั้นก็จะมีโทษปรับไม่น้อยกว่า 4-8 แสนบาทต่อราย ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้น หากเกิดกรณีเดียวกันนอกจากปรับ 2 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท แล้วยังมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละ 1-5 แสนบาทตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน บทลงโทษดังกล่าวยังมีการระบุเป็นรายมาตราครอบคลุมไปถึงประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ด้วย ที่น่าสนใจคือในมาตรา 167 กำหนดไว้ว่า หากมีการกระทำผิดที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรงซ้ำภายใน 5 ปี อัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในแต่ละมาตราให้เพิ่มเป็น 2 เท่า

ในบทเฉพาะกาล มาตรา 174 ระบุว่า ผู้ใดทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอส และได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมง และได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อน พ.ร.ก.ใช้บังคับ อธิบดีจะอนุญาตให้ทำการประมงพื้นบ้านต่อไปจนกว่าจะเลิกทำการประมงก็ได้ ส่วนมาตรา 175 ผู้ใดทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ก.ใช้บังคับ ในขณะที่มาตรา 176 ให้กรมประมงจัดให้มีการขึ้นทะเบียนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.ก.ใช้บังคับ

ในตอนท้ายของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้กำหนดอัตราค่าอากรใบอนุญาตและอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ อาทิ เครื่องมือทำการประมง, ใบอนุญาตทำการประมง และใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถูกกล่าวหาว่า เป็นการซุ่มร่างพระราชกำหนดประมงฉบับใหม่ แต่ข้อเท็จจริงแล้ว รัฐบาลหวังจะให้พระราชกำหนดการประมงฉบับนี้ช่วยแก้ปัญหาการประมงของประเทศได้ นอกจากขจัดการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่จะทำให้ประเทศไทยปลดจากกลุ่มประเทศที่อาจจะไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ใบเหลือง ตามมติของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรือ อียู
ยังป้องกันไม่ให้ประเทศมหาอำนาจ ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีสินค้าประมงของประเทศไทย

ถือเป็นกฎหมายฉบับแรก ที่ รัฐบาล คสช. ในฐานะฝ่ายบริหารประกาศยกเลิกพ.ร.บ. มาใช้ พ.ร.ก.ในการแก้ปัญหาแทน โดยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 172 คนรับรองเห็นชอบ ฝ่ายบริหารเสนอเข้ามาฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องทำตามเท่านั้น เพื่อประเทศชาติ ถือเป็นหลักการที่ รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปัจจุบัน ในมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557รับรองให้เอามาใช้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น