ประชุม สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.ก.การประมง “เจตน์” ชี้การควบคุมประมงให้ถูก กม.ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ห่วงการประสานงานในอนาคต หวั่น ก.เกษตรฯ รับภาระมากไป “ฉัตรชัย” แจงออก พ.ร.ก.เพื่อการแก้ไขได้ทันสถานการณ์ นายกฯ ให้ความสำคัญมาก เชื่อแก้ได้มีประสิทธิภาพ ก่อนมีมติผ่านออกเป็น พ.ร.บ.
วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้มีคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำและขีดความสามารถในการทำประมง รวมไปถึงการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการประมงนอกน่านน้ำไทย ขณะเดียวกัน ยังบัญญัติให้ก่อนนำเรือประมงออกจากท่าเทียบเรือประมง เจ้าของเรือ หรือผู้ควบคุมเรือต้องนำเอกสารเกี่ยวกับทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตให้ทำการประมง จำนวนรายช่อและหนังสือคนประจำเรือ และหลักฐานเกี่ยวกับการจัดระบบความปลอดภัย สุขอนามัย และสวัสดิภาพในการทำงานของคนประจำเรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก นอกจากนี้ คนประจำเรือต้องมีหนังสือคนประจำเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และในกรณีคนประจำเรือไม่มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและต้องได้รับใบอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช.อภิปรายว่า การควบคุมการทำประมงให้ถูกกฎหมายจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น ตำรวจน้ำ กองทัพเรือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน เป็นต้น แต่ใน พ.ร.ก.ได้กำหนดให้ รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่รักษาการตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้เพียงคนเดียว ซึ่งจะมีผลให้กรมประมงที่เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบกรับภาระมากเกินไป
“ในยุคนี้การประสานงานและขอความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอาจมีประสิทธิภาพ แต่ในอนาคตอาจจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการประสานงานจะมีประสิทธิภาพเหมือนในปัจจุบัน” นพ.เจตน์กล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กฎหมายว่าด้วยการทำประมงของไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้ไทยได้รับใบเหลืองจากหน่วยงานระหว่างประเทศ แม้ว่าก่อนหน้านี้ สนช.จะเห็นชอบกับ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2558 ไปแล้ว แต่บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ทำให้จำเป็นต้องออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมาเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้ทันกับสถานการณ์ ซึ่งหากประเทศไทยได้รับใบแดง จะทำให้การส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปของไทยได้รับผลกระทบและส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมกับได้ดำเนินการตั้งคณะทำงานพิเศษและนำข้อสังเกตุของสหภาพยุโรป (อียู) มาประมวลเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 172 ต่อ 1 คะแนน อนุมัติให้ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เป็น พ.ร.บ.