อัดงบให้ ก.เกษตรฯ 3.18 พันล้าน ตามแผน 5 ปี ให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกล หวังลดต้นทุนสมาชิก - ขาดแคลนแรงงาน พร้อมสั่งขยายเวลาชำระหนี้ 1.3 หมื่นล้าน ให้กับลูกหนี้ยืมกองทุนสงเคราะห์ฯ จนกว่าจะสิ้นสุดการบังคับคดี ด้านมหาดไทย รายงานผลปลดหนี้นอกระบบให้เกษตรกร 7 พันราย มูลหนี้ 2.9 พันล้าน เหลืออีก 3.6 หมื่นราย มูลหนี้ 5 พันล้านบาท
วันนี้ (20 ต.ค.) มีรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนสมาชิก ระยะเวลา 5 ปี (ปี 2558 - 2562) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,183,025,000 บาท โดยจำแนกเป็น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการระยะนำร่อง ปี พ.ศ. 2558 วงเงิน 99,670,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการระยะขยายผล ปี พ.ศ. 2559 - 2562 วงเงิน 3,083,355,000 บาท
ทั้งนี้ ยังอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวน 99,670,000 บาท ที่ได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี และได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนสมาชิก ระยะนำร่อง ปี พ.ศ. 2558 ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ จำนวน 770,000 บาท และเงินอุดหนุนสหกรณ์การเกษตรจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อให้บริการแก่สมาชิกสหกรณ์ 20 แห่ง จำนวน 98,900,000 บาท ทั้งนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน จัดทำแผนการใช้จ่ายเงินงบกลาง และขอทำความตกลงในรายละเอียดค่าใช้จ่ายกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการในระยะขยายผลปี พ.ศ. 2559 - 2562 จำนวน 15,015,000 บาท เห็นสมควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำรายละเอียดเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอน โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรตามจำเป็นตามผลการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้นต่อไป
อนุมัติกรอบวงเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อดำเนินโครงการมในระยะขยายผลปี พ.ศ. 2559 - 2562 วงเงิน 2,789,400,000 บาท เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมตามโครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนสมาชิก โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกำหนดอัตราดอกเบี้ยโครงการ เป็น MLR-1 เช่นเดียวกับโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปี 2557/58 และโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางและรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาชดเชย 5 ปี นับตั้งแต่วันที่สหกรณ์กู้ยืมในกรอบวงเงิน 278,940,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายชำระคืนเงินต้นและไม่รวมค่าชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเห็นควรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณถัดไป ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง
โครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรร่วมกันเพื่อลดต้นทุนสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้สหกรณ์เพื่อบริการแก่สมาชิกใช้ร่วมกันช่วงฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการเครื่องจักรกลทางการเกษตรแก่สหกรณ์ในการให้บริการสมาชิก
โดยระยะเวลาดำเนินการโครงการ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ดำเนินการนำร่องในปี 2558 และระยะที่ 2 ดำเนินการขยายผล ปี 2559 - 2562 โดยระยะแรกมีสหกรณ์เป้าหมายเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตรขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 20 สหกรณ์ แบ่งเป็น สหกรณ์ที่มีสมาชิกปลูกข้าว 10 สหกรณ์ สหกรณ์ที่มีสมาชิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 สหกรณ์ โดยสนับสนุนเครื่องเกี่ยวนวด รถเทรลเลอร์ และเครื่องสีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเครื่องจักรกลทางการเกษตรแก่สหกรณ์
ทั้งนี้ ครม. ยังอนุมัติให้ขยายเวลาชำระหนี้ให้กับลูกหนี้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรแก่สถาบันเกษตรกร จำนวน 13,692,922.63 บาท ออกไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นการบังคับคดี ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอนุมัติในหลักการให้คณะกรรมการสงเคราะห์เกษตรกรมีอำนาจพิจารณาอนุมัติให้ขยายเวลาการชำระคืนเงินยืมกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรแทนคณะรัฐมนตรีในกรณีการขยายเวลาออกไปจนกว่าจะสิ้นสุดการบังคับคดี
คณะรัฐมนตรี ยังรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอผลความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกร ณ วันที่ 21 กันยายน 2558 โดยให้เกษตรกรที่นำที่ดินไปค้ำประกันการกู้เงินไว้กับภาคเอกชนหรือนายทุนเงินกู้ โดยทำเป็นสัญญาขายฝาก เรียกว่า หนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนเนื่องจากศาลได้มีคำพิพากษาให้บังคับคดีแล้ว จำนวน 2,292 ราย มูลหนี้ 2,184,105,350 บาท
ขณะนี้กรมการปกครองได้ประสานงานกับกรมบังคับคดี ยธ. ดำเนินการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกยึดที่ดินทำกิน และส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแหล่งเงินกู้ต่อไปแล้ว
เกษตรกรที่นำที่ดินไปจำนองหรือขายฝากแต่ยังไม่อยู่ในชั้นบังคับคดี กรมการปกครองได้มอบหมายให้นายอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานคัดกรองข้อมูลและไกล่เกลี่ย ซึ่งมีผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยแล้ว จำนวน 43,825 ราย มูลหนี้ 8,039,219,839 บาท สามารถปลดเปลื้องหนี้สินแล้ว จำนวน 5,342 ราย มูลหนี้ 780,425,607 บาท
ในส่วนของหนี้นอกระบบ (ทั้งกรณี 1 และ 2) ขณะนี้ มท. พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรแล้ว จำนวน 7,634 ราย มูลหนี้ 2,964,530,957 บาท สำหรับหนี้นอกระบบที่เหลืออีกจำนวน 36,191 ราย มูลหนี้ 5,074,688,882 บาท อยู่ระหว่างการดำเนินงานของศูนย์ประสานการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร
สำหรับหนี้ในระบบสถาบันการเงิน กค. ได้ตรวจสอบพบว่ามีลูกหนี้ในความรับผิดชอบของ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวนประมาณ 1,200,000 ราย ได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ กค. ดำเนินการช่วยเหลือโดยพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ และวิธีการปฏิบัติของผลิตภัณฑ์สินเชื่อและโครงการต่าง ๆ ต่อไป
มท. พิจารณาแล้วเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นหนี้โดยนำที่ดินทำกินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินเป็นการป้องกันมิให้นายทุนเข้าครอบครองที่ดินเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งช่วยให้เกษตรกรไม่สูญเสียที่ดินทำกินโดยการบูรณาการร่วมกันระหว่าง มท. กษ. ยธ. กค. และ ธ.ก.ส. รวมทั้งนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเจรจาหนี้สินเกษตรกรนอกระบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2558