ไฟเขียวเติม 1.3 แสนล้านบาทเข้าระบบระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนแรกลงในปีนี้ “บิ๊กตู่” จี้ให้จ้างงาน-ขับเคลื่อน ศก.-เร่งใช้จ่าย-สร้างความเข้มแข็ง ผ่าน ก.เกษตรฯ-มหาดไทย เชื่อตัวเลขส่งออกไทยดีขึ้นหลังติดลบน้อยลงกว่าที่ผ่านมา “สมคิด” รับอีก 3 เดือนจะเติมอีก ลั่นไม่ใช่ประชานิยม-ไม่ได้ยืมเงินใคร ด้าน “ขุนคลัง” เปิด 3 มาตรการปล่อยเงินกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน 6 หมื่นล้านผ่าน ธ.ก.ส.-ออมสิน อัดลงระดับตำบล 3.6 หมื่นล้านใน 7 พันตำบลๆ ละ 5 ล้าน ให้โครงการขนาดเล็ก 1.6 หมื่นล้าน อีก 2.4 หมื่นล้านผ่านระบบราชการ
วันนี้ (1 ก.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนแรก โดยในวันนี้ได้อนุมัติงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เป็นมาตรการเน้นการจ้างงานและเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยเป็นการสร้างความเข้มแข็งผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสม โดยการปรับปรุงโครงสร้างและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขับเคลื่อนให้การใช้จ่ายงบประมาณให้หมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น เช่น งบการลงทุนโครงการขนาดเล็กเพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ สำหรับการใช้งบประมาณเดิมที่เคยอนุมัติไปแล้วของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยังเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชน รวมถึงงบประมาณกองทุนหมู่บ้าน ต้องขอความร่วมมือให้คณะกรรมการบริหารกองทุนอย่างโปร่งใส เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสามารถต่อยอดกองทุนให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ งบประมาณกองทุนหมู่บ้านต้องกระจายสู่หมู่บ้านอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และต้องมีการปลูกจิตสำนึก ปราบปราม และป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน สำหรับการสนับสนุนองค์กรมหาชนต่างๆ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะยกเลิกหรือปรับปรุงให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะต้องมีการสร้างความชัดเจนเพื่อให้เกิดความไว้วางใจระหว่างรัฐบาล ข้าราชการและประชาชน ส่วนภาพรวมการส่งออกของไทยดีขึ้น แม้ในเดือน ก.ค.จะยังติดลบ แต่เป็นการติดลบที่น้อยลงจากช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่นในการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงไหนบาทอ่อนค่าเกินไปหรือแข็งค่าเกินไปก็ต้องมีมาตรการดูแล
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ร่วมแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนแรกภายใต้วงเงินราว 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งจะเร่งรัดการใช้จ่ายให้เม็ดเงินลงสู่ระบบภายในปีนี้ เพื่อให้เห็นผลในระยะสั้นโดยเร็วจากการหมุนของเม็ดเงินดังกล่าว ต่อจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้จะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SME ให้ ครม.พิจารณา ทั้งนี้เชื่อว่านโยบายรัฐบาลไม่ใช่โครงการประชานิยมแน่ และไม่ได้ยืมใครมา อะไรที่ช่วยประชาชนได้ก็ต้องทำไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ชุดมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย มาตรการแรก เป็นการปล่อยเงินกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงินราว 6 หมื่นล้านบาท เป็นเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ซึ่งจะไม่คิดดอกเบี้ยใน 2 ปีแรก อายุโครงการ 7 ปี ไม่จำกัดวงเงินกู้ต่อราย แต่ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่คณะกรรมการกองทุนฯ จะเป็นผู้พิจารณา โดยรัฐบาลจะอุดหนุนภาระดอกเบี้ยให้ในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3-7 ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงิน (Financing Cost) บวกด้วยร้อยละ 1.0 ต่อปี เพราะเชื่อว่าปีที่ 3 เป็นต้นไปประชาชนจะสามารถหาเงินมาชำระคืนดอกเบี้ยได้ ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องรับภาระปีละ 2 พันล้านบาท
มาตรการที่ 2 เป็นการเร่งรัดการใช้จ่ายสู่ระดับตำบลกว่า 7 พันตำบลๆ ละ 5 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินราว 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงการจ้างานในชุมชน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และเร่งรัดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการในจังหวัด ประกอบด้วย โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น, โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย และการปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น และโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซม ศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น
มาตรการที่ 3 เป็นการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของโครงการขนาดเล็กโครงการละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีเงินงบประมาณอยู่แล้ว 1.6 หมื่นล้านบาทที่จะเร่งให้เกิดการใช้จ่ายภายในปีนี้ และอีก 2.4 หมื่นล้านบาทจะเปิดให้ส่วนราชการของบประมาณในโครงการขนาดเล็กเพิ่มเติมได้ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จัดทำแผนการดำเนินการรายการที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุนที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน วงเงินในการดำเนินการจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้ขอรับการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
นอกจากนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว โดยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กนี้ โดยเฉพาะรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ดำเนินการลงนามในสัญญาและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558
“การดำเนินมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระจายการลงทุนไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึง” นายอภิศักดิ์ระบุ
มีรายงานว่า สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น วงเงินรวม 136,000 ล้านบาทจะใช้งบจากงบกลางปี 58/59 ที่ขณะนี้มีงบกลางที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท
ผลจากการออกพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย ทำให้มีเงินถูกโอนกลับมา มาจากหน่วยงานที่ไม่สามารถจัดจ้างได้ทัน จำนวน 7,917 ล้านบาท หากหน่วยงานใดเสนอโครงการเข้ามา โดยเน้นที่โครงการขนาดเล็กวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทก็สามารถจัดสรรงบได้ทันที แต่มีเงื่อนไขต้องก่อหนี้ หรือทำสัญญาจ้างให้ทันภายในปีนี้
โดยเป้าหมายของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ มุ่งเน้นที่จะนำเงินลงไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อยในท้องถิ่นชนบท เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย หมุนของเงินในระบบให้มากขึ้น โดยคาดว่าเม็ดเงินจะลงถึงมือประชาชนภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งกระทรวงการคลังตั้งเป้าว่าทั้ง 3 มาตรการต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ให้จีดีพี โตได้ 3% ซึ่งจะเป็นตัวประสานกับการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า