xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” คนนี้ตะหากนายกฯ ตัวจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะมองว่าการปรับคณะรัฐมนตรีคราวนี้ดูไปก็คล้ายกับว่านี่เป็นการเปลี่ยนตัวคีย์แมนสำคัญในระดับนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำประเทศกันเลยทีเดียว และเป็นการตัดสินใจอย่างชนิดที่เรียกว่าฉันทามติเห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย สมควรแก่เวลาเอาตัวจริงเสียงจริงเข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเสียที หลังจากที่ปล่อยให้พี่น้องเพื่อนพ้องบูรพาพยัคฆ์โม่กันไปพักใหญ่แล้วทำท่าจะพาประเทศชาติไปไม่รอด

คงเป็นเพราะเดิมพันอนาคตของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอนาคตของประเทศชาติ ขึ้นอยู่กับการพลิกฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจเป็นแก่นสารสาระสำคัญ ซึ่งช่วงที่ผ่านก็พิสูจน์แล้วว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่คณะรัฐบาลซึ่งมาจากทหาร จะมีความรู้ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญพอที่จะนำพาประเทศไปได้ตลอดรอดฝั่ง

อีกทั้งดรีมทีมเศรษฐกิจนำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัฆค์ส่งเข้ามาบริหารเศรษฐกิจนั้น ผลงานที่ปรากฏต่อสายตาชาวไทยและชาวโลกคือ ล้มเหลว พลอยทำให้พี่ใหญ่เสียเครดิต เสียหน้า ไปด้วย ดังนั้น หาก คสช. ยังต้องการมีอำนาจอยู่ต่อไปโดยไม่ต้องถอดหัวโขนออก และไม่เสี่ยงต่อการถูกไล่ลงเวที จึงมีแต่ต้องยอมหลบมาอยู่แถวหลัง เป็นกองหนุนให้ “นายกรัฐมนตรีตัวจริง” แสดงฝีมือให้เต็มที่

ณ เวลานี้ นายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ผ่านการคัดเลือกจาก คสช. และ “บ้านสี่เสาเทเวศร์” ให้การรับรองแล้ว ก็คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ผันเปลี่ยนจากตำแหน่งที่ปรึกษา คสช. มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านเศรษฐกิจ นั่นเอง

เห็นได้จากวันที่ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ให้อวยพรวันเกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวันนั้น เฟซบุ๊ก ของ วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ขึ้นข้อความว่า “ป๋าเปรม” ยิ้มแย้ม เดินทักทายรองนายกฯ ทัก สมคิด บอก ยินดีต้อนรับนะ โดยนายกฯ เป็นคนเดินหลบเพื่อเปิดทางให้เจอหน้าป๋าใกล้ๆ ก่อนจะชวนกันเข้าไปคุยกับป๋าเปรมในบ้านต่อ 15 นาที

เป็นสัญญาณจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ว่า พร้อมหนุนนายสมคิด เต็มที่ และการเดินหลบเพื่อเปิดทางให้นายสมคิด ได้พูดคุยกับพล.อ.เปรม ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เหมือนจะบ่งบอกถึงท่าทีที่พล.อ.ประยุทธ์ ยินยอมให้บทบาทแก่นายสมคิด อย่างเต็มที่เช่นกัน

เมื่อมาดูการแบ่งงานใหม่ของรองนายกรัฐมนตรี จะเห็นเลยว่า นายสมคิด คุมหัวใจสำคัญโดยยึดกุมเอากระทรวงด้านเศรษฐกิจเข้ามาไว้ในการดูแลทั้งหมด โดยได้รับมอบหมายให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรีในกระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงอุตสาหกรรม

รวมทั้งได้รับมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และยังมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการหรือดำเนินการใดๆ ในการรักษาการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน การแบ่งงานกำกับจังหวัด นายสมคิด ก็คุมพื้นที่ท่องเที่ยวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศเพียงสาขาหนึ่งเดียวในเวลานี้อีกด้วย

หลังการเข้ารับตำแหน่งของนายสมคิด แล้ว เห็นเลยว่าบทบาทของ “บิ๊กตู่” เปลี่ยนไปเดินสายเปิดงานตัดริบบิ้น ขึ้นเวทีปาฐกถา ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง เตรียมตัวเดินทางเยือนต่างประเทศ เป็นภารกิจหลัก

ส่วนเรื่องหนักๆ แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน จะนำพาประเทศไปแข่งขันในระดับโลกอย่างไร โน่นไปรอฟังจากรองนายกรัฐมนตรีสมคิด สำหรับ “บิ๊กตู่” จะดูเรื่องข้างๆ เคียงๆ ให้ เช่นว่าจะเรียก “รากหญ้า” หรือประชาชนผู้มีรายได้น้อยแทน ดีกว่าไหม และช่วยออกหน้าขอแรงเชียร์จากแม่ยกให้กำลังใจทีมเศรษฐกิจใหม่ด้วยนะ เป็นตัวอย่าง

แม้แต่พี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” รองนายกฯ ซึ่งดูแลด้านความมั่นคง แต่ที่ผ่านมาเที่ยววุ่นวายกับดรีมทีมเศรษฐกิจในฝันจนเจ๊งยับ คงรู้ตัวแล้วว่า ไม่ใช่บทบาทของตัวเอง มาคราวนี้ก็จึงต้องหลบให้กับนายสมคิด เช่นกัน

อย่างวันก่อนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ที่มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (ขนพ.) ซึ่งพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมด้วย เป็นการประชุมเขตเศรษฐกิจครั้งแรกหลังจากนายสมคิด เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

การประชุมวันนั้น จะเห็นว่า “บิ๊กป้อม” ชื่นชมนายสมคิดออกหน้าออกตา และปล่อยให้นายสมคิด โชว์วิสัยทัศน์จัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 7 คลัสเตอร์อย่างเต็มที่ พร้อมกับเตรียมนำเสนอ “บิ๊กตู่” และทำแผนโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศโดยตั้งเป้าให้เริ่มเห็นผลภายในหนึ่งเดือน อีกทั้งยังจะจัดให้มี “ซูเปอร์สิทธิพิเศษ” ให้แก่นักลงทุนด้วย

“ภายในอีก 1 เดือน หรือในเดือนตุลาคมนี้ จะเกิด “ซูเปอร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ขึ้นอย่างแน่นอน....” นายสมคิด ปั่นกระแสความเชื่อมั่นให้คืนกลับมา

ชั่วเวลาแค่สัปดาห์เดียวที่นายกรัฐมนตรีตัวจริงเข้ามานั่งบริหารเศรษฐกิจ ดูเหมือนจะสร้างความคึกคักไม่น้อย แม้วันแรกๆ จะได้รับการต้อนรับด้วยปรากฏการณ์ “แบล็กมันเดย์” ตลาดหุ้นร่วงระนาวทั้งโลกก็ตาม

หลังวันประกาศจะให้ซูเปอร์สิทธิพิเศษ จะปั้นซูเปอร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้เป็นจริงแล้ว ในวันถัดมานายสมคิด ก็รับเชิญจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ให้ไปโปรยยาหอม บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย” ซึ่งมีผู้เข้ามารับฟังล้นหลามร่วมพันคนเลยทีเดียว

“มีผู้มาวันนี้เกินกว่าที่ผมคาดหมายไว้ ซึ่งเข้าใจว่าทุกคนกำลังมีความกังวลกับเศรษฐกิจไทยเพราะปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศทำให้เห็นเป็นเช่นนั้น แต่ขอให้เชื่อมั่นว่าไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตอะไรและสภาพก็ดีกว่าวิกฤตปี 2540 มาก แต่ปัญหาหลักจริงๆ คือความสามารถของประเทศไทยกำลังถดถอย เพราะที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงส่งออกมากเกินไปเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงกระทบโดยตรง ดังนั้น สิ่งที่จะเร่งดำเนินการประกอบด้วย 1. มาตรการเร่งด่วนในการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และ SMEs 2. มาตรการที่วางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตข้างหน้า”

มาตรการที่ออกมาช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีอยู่ 2 ส่วนคือ กลไกเงินทุนและเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเข้าครม.ในเร็วๆ นี้ ส่วนมาตรการช่วยเอสเอ็มอีจะออกมาในสองสัปดาห์หน้า ขณะที่การวางรากฐานประเทศในอนาคตต้องยอมรับก่อนว่าเศรษฐกิจโลกในประเทศหลักจะไม่เห็นการเติบโตเศรษฐกิจโลก 5% อีกต่อไป จึงต้องหันมาเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นทดแทนจากที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ต้องหันมาเน้นเศรษฐกิจพอเพียง ใช้กลไกกองทุนหมู่บ้าน สร้างวิสาหกิจชุมชน พัฒนาสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหรือโอทอป เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด และการสร้างแบรนด์สินค้าไทย สร้างโปรดักส์แชมเปี้ยน พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรม 7 กลุ่ม เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ไอที อาหาร

ฟังนายกรัฐมนตรีตัวจริงเสียงจริงพูดแล้ว ใจชื้นกันขึ้นมาบ้างไหม? ฟังแล้วคุ้นๆ ไหมว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในทำนองนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลไหน ทั้งอัดฉีดกองทุนหมู่บ้าน พัฒนาโอทอป เขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้างโปรดักส์แชมเปี้ยน ฯลฯ

ขณะที่นายสมคิด เตรียมสตาร์ทเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ก็มีเหตุให้อาจต้องเจออุปสรรคจากผลข้างเคียงจากการตัดสินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้บมจ.กฤษดานคร ที่ลงโทษจำคุกและให้ชดใช้ค่าเสียหายชนิดกราวรูดตั้งแต่ปลาซิวปลาสร้อยระดับเจ้าหน้าที่สินเชื่อไปจนถึงระดับบิ๊กที่ลงนามอนุมัติ

ผลสะเทือนที่ตามมาก็คือว่าจะยังมีใครกล้าปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของฝ่ายการเมืองหรือไม่ โดยเฉพาะแบงก์รัฐที่มักถูกใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล

ยาโด๊ปประชานิยมยี่ห้อ “สมคิด”

เมื่อถึงบรรทัดนี้ หากเปรียบเปรยเมนูฟื้นเศรษฐกิจของดรีมทีมนายสมคิด ก็คงต้องบอกว่านี่คงทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ผะอืดผะอม เพราะเป็นรายการเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลแต่กินน้ำแกงสำหรับพล.อ.ประยุทธ์ โดยแท้ เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ นั่งยันนอนยัน ไม่เอา ไม่เอา แถมแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์โครงการแบบประชานิยม ที่เป็นมรดกบาปของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่มาวันนี้ ดรีมทีมเศรษฐกิจใหม่ กลับเลือกยาดียี่ห้อประชานิยมมากระตุ้นเศรษฐกิจเสียนี่

จะมามัวหวังการส่งออกและการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์อย่างที่ผ่านมาคงไม่ได้แล้ว เพราะอย่างที่รู้กันว่าส่งออกยังดำดิ่ง เศรษฐกิจโลกยังลูกผีลูกคน ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ก็ไม่ไปไหนมาไหน เงินทองในมือชาวบ้านจะจับจ่ายใช้สอยก็ร่อยหรอเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโงหัวไม่ขึ้นสักที

รับงานใหญ่คราวนี้ นายสมคิด ทำการบ้านมาอย่างดี ตีโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจโดยแจกแจงในวันที่ไปรับนโยบายจากพล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า สาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาและชะลอตัวมาจาก 2 สาเหตุ คือ 1. ปัจจัยภายนอก ซึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา หลายประเทศเริ่มมีปัญหา แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกเป็นเหตุที่เกิดขึ้นระยะสั้น เมื่อดีขึ้นจะคลายตัวลง

และ 2. ปัจจัยภายใน ขณะนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้เกิดปัญหาค่าครองชีพของคนรากหญ้า อำนาจซื้ออ่อนแอกำลังซื้อจึงมีไม่ค่อยเพียงพอนัก และพอมาเกิดเรื่องความไม่เชื่อมั่น เพราะมีข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ดีออกมาตลอดเวลาก็ทำให้การลงทุนในประเทศไม่ขยับเท่าที่ควร ดังนั้นระยะสั้นจึงต้องหามาตรการลงไปช่วยเหลือรากหญ้าโดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในต่างจังหวัดให้เศรษฐกิจพื้นฐานขับเคลื่อนไปได้ เมื่อทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจท้องถิ่นและภูมิภาคขยับขับเคลื่อนไปได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มหมุนได้

นอกจากนั้น นายสมคิด ยังมองว่าปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตและส่งออกที่เริ่มจะแข่งขันไม่ค่อยได้ แม้ว่าพื้นฐานเชิงโครงสร้างจะดีอยู่แต่ต้องได้รับการปฏิรูปและพัฒนายกระดับขึ้นไป การลงทุนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในประเทศจะต้องเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่เป็นการลงทุนในท้องถิ่นในภูมิภาคที่เชื่อมโยงการเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน หากสร้างความเข็มแข็งในประเทศได้ถึงจะไปแข่งกับตลาดโลกได้

แต่อันดับแรกสุด ที่ผู้นำดรีมทีมเศรษฐกิจร้องขอก็คือความเชื่อมั่น “..... อยากให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในประเทศไทย ยิ่งไม่เชื่อมั่นเท่าไรจะยิ่งทำให้ทุกอย่างซบเซา ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในประเทศของเราก็ยากที่จะพัฒนาต่อไปได้"

นายสมคิด ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจและการเมือง และเคยผ่านเหตุการณ์วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มาแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าการเข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจครั้งนี้จะมีแรงกดดันอะไรมากมาย และวิกฤตคราวนี้จะผ่านพ้นไปได้ทั้งรัฐบาล ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 รากหญ้าสบายดี ส่งออกยังดี คนรวยลำบาก แต่ครั้งนี้กลับกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทใหญ่ๆ ผลประกอบการดีและแข็งแรง แต่รากหญ้าลำบาก ซึ่งถ้าปล่อยให้ลำบากนานเกินไปข้างบนก็จะลำบากไปด้วย

ขณะเดียวกัน การลงทุนในอนาคตข้างหน้าต้องกระจายลงไปยังท้องถิ่น ทั้ง 76 จังหวัดต้องเข้มแข็งด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่ทุกมิติไปอยู่ที่ส่งออกหมด กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ฉับพลันทันทีที่หัวหน้าทีมออกมาเสิร์ฟนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า รมว.กระทรวงการคลังคนใหม่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ก็เซ็ทลูกส่งต่อโดยไปกล่าวในงานสัมมนาวิชาการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังประจำปี 58 “นวัตกรรมการคลังการเงินเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า สัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการช่วยเหลือระดับรากหญ้า

งานนี้คลังจัดเต็ม โดยเสนอเป็นแพกเกจเพื่อช่วยเหลือในหลายด้านให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มเติม เช่น แผนเติมเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งเป็นการอัดฉีดเงินก้อนใหม่วงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยผ่านการใช้เงินงบประมาณ และเงินของแบงก์รัฐ เช่น ออมสิน ธ.ก.ส. นำไปปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านแบบปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ แล้วให้กองทุนฯ นำไปให้ปล่อยกู้ให้ชาวบ้านผู้เป็นสมาชิกกองทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 5

เงื่อนไขปล่อยกู้คือ ห้ามนำไปชำระหนี้เดิม แต่ให้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เพราะไม่ต้องการให้เงินฟรีกับชาวบ้าน แต่ต้องการให้นำเงินไปใช้หมุนเวียนประกอบอาชีพ เพื่อให้ต้นทุนลดลง สำหรับการเลือกอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน เพราะเงินลงไปถึงมือชาวบ้านได้รวดเร็วกว่าผ่านขั้นตอนภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังเตรียมออกมาตรการอัดฉีดเงินออกสู่ระบบผ่านโครงการลงทุนขนาดเล็กมีการลงทุนเร็ว เบิกจ่ายเร็ว เพื่อให้ผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กในชนบทได้รับงาน เกิดการจ้างงานในชุมชน และการขายสินค้าต่อเนื่อง รวมทั้งต้องการผลักดันให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนเพิ่มเติม หากรายใดได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้วเร่งลงทุนก่อสร้างจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม การส่งเสริมให้เอกชนจัดทำบัญชีเดียว และแผนนิรโทษกรรมการเสียภาษี เพื่อกลับมาเริ่มจ่ายภาษีให้กับภาครัฐอย่างถูกต้อง เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย การเสียภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตทำให้การรั่วไหลลดน้อยลง

ทั้งหมดข้างต้นนั้น กระทรวงการคลัง จะทำให้สำเร็จโดยเร็ว

พลันที่นายสมคิด จะอัดฉีดเงินกู้ก้อนใหม่ลงสู่รากหญ้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ส่งเสียงเตือนมาทันที ขอให้ระวังการให้สินเชื่อกับประชาชนเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ เพราะหนี้ภาคครัวเรือนขณะนี้สูงอยู่แล้ว และระวังอย่าให้กลับเน้นลักษณะประชานิยมที่ไม่ยั่งยืนก็จะแย่ที่สร้างหนี้ทั้งรัฐและครัวเรือน ขอให้ดูมาตรการสนับสนุนประกันรายได้ หรือให้สวัสดิการที่เหมาะสมจะดีกว่า และต้องเริ่มทำให้เร็วที่สุด

หันมามองดูทางกระทรวงคมนาคมกันบ้าง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ซึ่งขยับขึ้นมาเป็นเสนาบดีกระทรวงคมนาคม นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเต็มตัว ก็เร่งเข็นโครงการลงทุนออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนเช่นกัน

นายอาคม ร่ายยาวในการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการทำงานแก่ผู้บริหารหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวง หลังจากที่เข้ากระทรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาฤกษ์เอาชัยในเช้าของวันที่ 26 สิงหาคม ว่า จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทย พ.ศ. 2556 - 2560 โดยมีโครงการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558-2559 จำนวน 5 เรื่อง คือ

1. ขับเคลื่อนและผลักดันโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จำนวน 17 โครงการ มูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท รวมทั้งเร่งรัดการลงทุน โครงการต่าง ๆ ทั้งในส่วนของงบประมาณประจำปี และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งให้เป็นประโยชน์และเชื่อมโยงกัน ทั้งด้านท่องเที่ยว, ด้านสุขภาพ ซึ่งจะมีโครงการทางจักรยานเป็นหลัก, เศรษฐกิจชุมชนการเกษตร และเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3. การปรับปรุงคุณภาพและบริการของระบบขนส่งสาธารณะ โดยภายในปี 2559 จะต้องเชื่อมระบบตั๋วร่วมกับขนส่งทุกโหมดและเชื่อมบัตร Easy Pass ของทางด่วนและบัตร M Pass ของมอเตอร์เวย์ให้สามารถใช้งานได้ในใบเดียวกันภายในกลางปี 2559

4. การแก้ไขปัญหาและสร้างมาตรฐานใหม่ ของการเป็น หน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานการให้บริการ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาและการสร้างมาตรฐานใหม่ เช่นแก้ปัญหา IUU ประเด็นการทำประมงผิดกฎหมาย และการแก้ไขปัญหามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน หรือ SSC และ 5. การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

สำหรับโครงการ 17 โครงการที่จะขับเคลื่อนนั้น มีที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 5 โครงการคือ มอเตอร์เวย์ 3 สาย โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) และ ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่แหลมฉบัง (SRTO) เหลืออีก 12 โครงการ จะพิจารณาโครงการที่อยู่ในแผนปีต่อไป แต่หากจำเป็นก็จะเร่งรัดดำเนินการก่อน โดยในปลายปีนี้คาดว่าโครงการที่จะเสนอขออนุมัติจาก ครม. คือ รถไฟฟ้า 4 สาย คือ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง( ลาดพร้าว-สำโรง) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) รวมถึงความร่วมมือไทย-จีน รถไฟขนาดราง 1 .435 เมตร เส้นทางกรุงเทพ- แก่งคอย ,แก่งคอย-มาบตาพุด ,แก่งคอย -โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น และโครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพ-ระยอง) และเส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน

ส่วนโครงการที่จะเปิดประกวดราคาได้ภายในปีนี้ คือ รถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ประกาศร่างทีโออาร์แล้ว 2 เส้นทาง คือ ฉะเชิงเทรา - คลองสิบเก้า - แก่งคอย และจิระ-ขอนแก่น และอยู่ระหว่างนำเสนอ ครม. คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และที่อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ และช่วงนครปฐม-หัวหิน

โครงการรถไฟไทย-จีน จากกำหนดที่จะตอกเข็มในเดือนตุลาคมหรืออย่างช้าเดือนธันวาคม 2559 สำหรับตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา จะมีความชัดเจนหลังการประชุมร่วมครั้งที่ 7 ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 10-11 กันยายน 2558 เพราะตามขั้นตอนจะต้องมีการขออนุมัติและจะต้องดูความเป็นไปได้ของผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งทางจีนจะส่งมาในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะพิจารณารายละเอียดว่ามีความครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงเห็นชอบร่วมกันก่อน จึงจะยืนยันได้ว่าจะสามารถตอกเข็มได้ในเดือนตุลาคมหรือไม่ หากผลศึกษายังไม่ได้รับความเห็นชอบเวลาในการตอกเข็มจะต้องเลื่อนออกไป

ตามไทม์ไลน์ของงานของคมนาคม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของทีมเศรษฐกิจที่จะร่วมผลักดันขับเคลื่อนการลงทุน จะเร่งรัดผลักดันทุกทางเพื่อให้เป็นรูปธรรม ในปี 2558 - 2559 ส่วนโครงการที่เกินจากปี 2559 ไป จะส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไป

นายอาคมกล่าวว่า การลงทุนด้านคมนาคมขนส่งที่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี จะมีเม็ดเงินออกมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ให้จีดีพีเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก ที่เติบโตได้ราว 2.9% โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวหลัก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/58 จะมีการเบิกจ่ายงบ 40,000 ล้านบาท ที่เป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบ บวกกับเม็ดเงินต้นปีงบประมาณ 2559 จะทยอยออกมา

การออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของดรีมทีมใหม่ ได้รับการขานรับจากนักลงทุน โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมโดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.2 เพิ่มขึ้นจาก 99.0 ใน เดือนมิถุนายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่น คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นมาจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ขณะที่ตัวเลขความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 83.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.0 ในเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน จากปัจจัยเสี่ยงจาก ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การบริโภคภายในประเทศ การหดตัวของภาคส่งออก ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และไทยยังไม่หลุดพ้นจากการถูกจัดชั้นปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ให้อยู่ ในระดับ Tier3 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุด

มาลุ้นกันต่อไปว่า พลังของ นายกรัฐมนตรี ตัวจริงเสียงจริง จะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้กี่มากน้อย ดัชนีเศรษฐกิจของประเทศไทยตกลงต่ำสุดพร้อมโงหัวขึ้นแล้ว ใช่หรือไม่? อีกไม่เกิน 3 เดือน คงได้คำตอบที่ชัดเจน


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้าร่วมอวยพรวันคล้ายวันเกิด พล.อ.เปรม ติณสูนานนท์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม
นายสมคิดขณะกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย” ที่ห้องนภาลัยบอลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่  27 สิงหาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น