xs
xsm
sm
md
lg

ยันเศรษฐกิจไทยไม่เกิดวิกฤตเหมือนปี 40 แนะอย่ากังวลจนเกินไป แต่ต้องไม่ประมาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"สมคิด" ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่เกิดวิกฤตเหมือนปี 40 แนะเอกชนอย่ากังวลจนเกินไป แต่ต้องไม่ประมาท พร้อมดึงภาคเอกชนร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างกำลังซื้อรายย่อย ส่งเสริมเอกชนลงทุนในภูมิภาค และปรับสิทธิประโยชน์ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน เผยนายกฯ สั่งการเร่งด่วน ดูแลผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และฟื้นสินค้าโอทอป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย” โดยระบุว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่เป็นมิตรกับภาคธุรกิจ และต้องการให้เอกชนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จึงอยากให้เอกชนมีความเข้มแข็งและรัฐบาลจะช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ ยืนยันประเทศไทยตอนนี้ไม่ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เหมือนปี 2540 แต่ปัจจุบันปัญหาเกิดจากอำนาจซื้อของภาคเกษตรกรและประชาชนลดลง ทำให้เศรษฐลกิจชะลอตัว จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงเท่านั้น

นายสมคิด กล่าวย้ำว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหาเพียงเศรษฐกิจชะลอตัวจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพารา จนกระทบต่อกำลังซื้อของชาวบ้านและเมื่อไม่เชื่อมั่นจึงเลือกเก็บเงินไว้ใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น

ขณะที่ภาคเอกชนเมื่อมองเห็นบรรยากาศเศรษฐกิจไม่ดี จึงไม่ขยายการลงทุน เพราะไม่มั่นใจ ดังนั้น เมื่อปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไม่เลวร้ายจนน่าห่วง จึงต้องการดึงความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายร่วมใจกันพัฒนาเศรษฐกิจท่ามกลางกระแสโลกชะลอตัว

ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบายให้แก้ปัญหาระยะสั้น เบื้องต้นต้องการอัดฉีดเงินผ่านไปยังกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เงินส่งถึงชาวบ้านโดยตรง จึงเกิดเงินหมุนเวียนในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ขั้นต่อไปจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะพยายามเร่งสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น และเร่งแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้หมดไป เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังมีฐานที่แข็งแกร่ง หากปรับส่วนนี้ได้จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ต่อไป โดยเอกชนจะต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและอย่ากังวลจนเกินเหตุ แต่ต้องไม่ประมาท เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แน่นอน

นายสมคิด ยังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดำเนินการเร่งด่วน ในเรื่องการดูแลผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอี จึงได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และที่ปรึกษาหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเหล่านี้ และออกมาตรการที่กระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกัน จะต้องสร้างท้องถิ่นให้แข็งแกร่งไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยอยู่ได้ ส่วนภาครัฐจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายให้มากที่สุด และหลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ จะมีมาตรการดูแลเอสเอ็มอีออกมา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันการเงินจะเข้ามาช่วยดูแล

ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับภาคเอกชน เช่น สถาบันการเงิน เพื่อออกมาตรการเพิ่มในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ส่งเสริมให้เอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านความร่วมมือกับกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อต้องการส่งเสริมเอสเอ็มอีในประเทศให้เข้มแข็ง เนื่องจากขณะนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการเชิญภาคเอกชนมาร่วมฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

ด้วยการเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการแบบคลัสเตอร์ 6 ด้านหลัก เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป กลุ่มยานยนต์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มปิโตรเคมิคอลสะอาดต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มไอทีและดิจิตอล การขยายมาบตาพุดให้เป็นซุบเปอร์คลัสเตอร์รองรับการมาลงทุนของเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการ การปรับสิทธิประโยชน์เพิ่ม เพื่อส่งเสริมการลงทุนสู้กับประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าจะสรุปได้ในช่วง 1 เดือนข้างหน้า เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณา

จากนั้น จะเดินหน้าพัฒนานักรบทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างเอกชนที่เข้มแข็งร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสาขาใหม่ๆ กับมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ และหน่วยงานของรัฐด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีพอร์ตใหญ่ขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ตกับต่างชาติ โดยมีการสร้างแบรนด์ให้กับรายย่อย ด้วยการนำบริษัทใหญ่มาต่อท่อกับเอสเอ็มอี เพื่อเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลด้านความรู้กับภาคเอกชนและคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว เพื่อให้มีรถไฟฟ้าความเร็วสูง การสร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจในประเทศทุกพื้นที่ ด้วยการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อพัฒนาโครงการขนาดใหญ่

ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น มองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวไม่ถึง ร้อยละ 5 - 6 ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในอนาคต ฉะนั้นต่อไปจะต้องเน้นพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นแข็งแกร่ง ด้วยการทำโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป และวิสาหกิจชุมชน ให้กลับมา

นายสมคิด เปิดเผยว่า ในขณะนี้ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออก ด้วยการรวมกลุ่มธุรกิจของแต่สินค้าอุตสาหกรรม โดยการให้สถาบันศึกษาและนักวิจัยจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมด้วยผ่านการให้สิทธิประโยชน์จูงใจกลุ่มคนเหล่านี้ ที่มากกว่าการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งหากประสบความสำเร็จ จะทำให้สามารถจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะสินค้าได้ และผลักดันให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นซูปเปอร์คลัสเตอร์ เพื่อแข่งขันกับต่างชาติได้
























กำลังโหลดความคิดเห็น