คนแห่รับฟังแน่น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” บรรยายพิเศษ “นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย” ซึ่งจัดโดย กกร. วันนี้ โปรยยาหอมอย่ากังวลเศรษฐกิจมากเกินไปขอให้เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายยังห่างไกลจากวิกฤตปี 2540 เตรียมเข็นมาตรการระยะสั้นดูแลคนมีรายได้น้อย-SMEs เร็วๆ นี้ พร้อมโฟกัสมาตรการปูทางไทยสู่อนาคตที่จะเน้นเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น
วันนี้ (27 ส.ค.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายเศรษฐกิจและทิศทางประเทศไทย” ซึ่งปรากฏว่ามีผู้เข้ามารับฟังบรรยายรวมทั้งสื่อมวลชนเกินความคาดหมายสูงถึง 1,000 คนจากที่เตรียมรองรับไว้ประมาณ 750 คน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “มีผู้มาวันนี้เกินกว่าที่ผมคาดหมายไว้ ซึ่งเข้าใจว่าทุกคนกำลังมีความกังวลกับเศรษฐกิจไทยเพราะปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศทำให้เห็นเป็นเช่นนั้น แต่ขอให้เชื่อมั่นว่าไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตอะไรและสภาพก็ดีกว่าวิกฤตปี 2540 มาก แต่ปัญหาหลักจริงๆ คือความสามารถของประเทศไทยกำลังถดถอยเพราะที่ผ่านมาระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงส่งออกมากเกินไปเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจึงกระทบโดยตรง ดังนั้น สิ่งที่จะเร่งดำเนินการประกอบด้วย 1. มาตรการเร่งด่วนในการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และ SMEs 2. มาตรการที่วางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตข้างหน้า
นายกรัฐมนตรีกำชับให้ผมทำใน 2 เรื่องนี้ก็จะต้องมีมาตรการออกมา โดยเฉพาะท่านกังวลมากถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยลำบากจึงมอบคลังและสำนักงบประมาณไปดูว่าจะออกมาตรการอะไรซึ่งคงจะเข้า ครม.เร็วๆ นี้ โดยจะมอง 2 ส่วน คือ กลไกเงินทุนที่จะเข้าถึงให้เร็วสุด และ 2. การสร้างความเข้มแข็งที่มองในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงการจูงใจให้มีการเบิกงบประมาณเล็กๆ ให้ออกมาเร็วสุด 2-3 เดือน ส่วนมาตรการ SMES อีก 2 สัปดาห์จะออกมาให้เห็นในระยะแรกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันการเงินไปพิจารณา” นายสมคิดกล่าว
สำหรับมาตรการในการวางรากฐานประเทศในอนาคต คือ 1. ต้องยอมรับการเติบโตเศรษฐกิจโลกประเทศหลักๆ จะไม่มีการเติบโตเศรษฐกิจโลก 5% ได้อีกต่อไป เราจึงต้องหันมามองเศรษฐกิจภายในประเทศให้มากขึ้นจากที่พึ่งส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นที่ต้องหันมาเน้นเศรษฐกิจพอเพียงต้องใช้กลไกกองทุนหมู่บ้านให้เกิดศักยภาพในการสร้างวิสาหกิจชุมชน ต้องพัฒนาสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องมีบทบาทมากขึ้น
2. ต้องโฟกัสการสร้างแบรนด์สินค้าไทย ซึ่งเรื่องนี้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการในการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ต้องกำหนดการพัฒนาให้เป็น Cluster และโปรดักต์แชมเปียน รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรม 7 อุตฯ เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ไอที อาหาร และมีการดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยและระดับโลกเข้ามาร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรในการรองรับการพัฒนาเหล่านี้ เป็นต้น