xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

3 รุม 1 ยังพ่ายหลุดลุ่ย แล้วจะเร่งสร้างโรงไฟฟ้า-เปิดสัมปทาน ไปสำมะหาอะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่มียุคสมัยรัฐบาลใดที่จะมีเวทีดีเบตเรื่องพลังงานมากเท่ากับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และน้อยครั้งนักที่ฝ่ายคัดค้านจะมีโอกาสได้ออกสื่อของรัฐ ถึงแม้ว่าจะเป็นเวทีแบบว่า 3 รุม 1 ก็เถอะ ต้องยกนิ้วให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่าใจกว้างรับฟังความคิดเห็นประชาชนจริงๆ

ส่วนว่าจะรับฟังแบบไหน และจะทำอะไรต่ออย่างไรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยๆ ภาคประชาชนก็มีโอกาสแสดงข้อมูลอีกด้านต่อสาธารณะก็แล้วกัน

และเมื่อยืนอยู่ในจุดที่เชื่อมั่นในข้อมูล เชื่อมั่นในความถูกต้อง และเชื่อมั่นว่าทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็บ่ยั่นว่าจะเป็นเวทีแบบไหน เมื่อไหร่ กับใคร ได้ทั้งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงเห็นนายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ เป็นผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) หนึ่งเดียวคนนี้ ขึ้นเวทีโซ้ยกับดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายวิบูลย์ คูหิรัญ ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. เสพเสวนากันในหัวข้อ “ปฏิรูปพลังงาน...ประชาชนได้อะไร” ในรายการ “เดินหน้าปฏิรูป” ออกอากาศทางช่อง 11 ช่อง 5 และนิวส์วัน เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. - 22.00 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา

ประเด็นสำคัญที่เวที 3 รุม 1 ดีเบตกัน มีอยู่ 2 เรื่องที่กำลังฮอตสุดๆ ในวงการพลังงานของประเทศไทย คือ หนึ่ง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ และ สอง การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งทั้งสองโครงการล้วนต่างค้างคาและผ่านมาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งทุกฝ่ายก็ต่างจดจ้องลุ้นระทึกกันว่าจะจบในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ และที่สำคัญคือ จบแบบไหน

เปิดประเด็นกันด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จำเป็นต้องสร้างหรือไม่?

ฝ่ายสนับสนุนให้สร้าง เริ่มจากนายพงษ์ศักดิ์ ร่ายยาว แต่แยกประเด็นได้ว่า

1)ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ที่เคยเกิดขึ้น

2)กำลังการที่ผลิตที่ขนอมกับจะนะมีเพียงพอต่อความต้องการ แต่สายส่งบางส่วนไม่พอ ต้องส่งจากกรุงเทพฯ บางคนบอกว่าภาคใต้ไม่ต้องผลิตเพิ่มแค่ส่งจากกรุงเทพฯ ก็ได้ แต่อย่าลืมว่าการส่งไประยะไกลเกิดการสูญเสียเยอะ เมื่อกระแสไฟวิ่งตามท่อไม่เต็ม วิ่งมากก็ร้อน เกิดปัญหาไฟขาด เลยต้องการทำโรงไฟฟ้าที่กระบี่ เพื่อให้เป็นสามขา คือ ที่จะนะ ขนอม และกระบี่ แล้วที่เลือกกระบี่เพราะมีโรงไฟฟ้าเก่าอยู่แล้ว แต่ของเก่ากระแสไฟฟ้าต่ำ

3)แล้วที่ต้องเป็นถ่านหินเนื่องจากให้ความมั่นคงทางไฟฟ้ามากกว่า เพราะการสต๊อกถ่านหินเก็บได้ที 6 เดือน รีรันได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากใช้แก๊สต้องทำถังเก็บมากมายมหาศาล ซึ่งถ่านหินราคาถูกสุด

4)เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องทำที่กระบี่ แต่คนต่อต้านมาก เพราะจากกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่อย่าลืมเมื่อก่อนเทคโนโลยีไม่ทันสมัย แต่ปัจจุบันทำระบบเก็บกักซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มลพิษลดน้อยลงมาก ฝุ่นที่เกิดจากการเผาหญ้าที่ภาคเหนือยังมีผลกระทบมากกว่า แล้วที่จะทำที่กระบี่ได้นำเอาเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมา ซัลเฟอร์ไดออกไซด์มีน้อยมาก

นายปานเทพ ได้ตอบประเด็นของนายพงษ์ศักดิ์ ดังนี้ ประเด็นที่ 1) จากการศึกษาของอนุกรรมการฯ วุฒิสภา พบว่าเหตุการณ์ไฟดับทั้งภาคใต้ที่เคยเกิดขึ้น เกิดจากฟ้าผ่าสายส่ง 500 กิโลโวลต์ วงจรที่ 1 ที่บ้านลาดเพชรบุรี ขณะที่สายส่งวงจร 2 ปิดซ่อม ซึ่งโอกาสอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นอีก

สรุปง่ายๆ ก็คือ ฟ้าผ่าสายส่ง ไม่ได้เกี่ยวข้องและเป็นเหตุที่จะต้องรีบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอแต่อย่างใด หากไม่มีเจตนาจับแพะชนแกะมั่วไปเรื่อย

ประเด็นที่ 2) และ 3) หากรัฐบาลกลัวว่าเราจะขาดพลังงาน กลัวไฟดับ จากกรณีที่แหล่งบงกชกับเอราวัณกำลังจะหมดสัมปทาน เลยต้องหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า หากปฏิรูปพลังงานด้วยการหยุดใช้พลังงานถ่านหินเพิ่มเติม ปฏิเสธพลังงานนิวเคลียร์ ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนก๊าซ ถ้าทำได้ก็ลดความเสี่ยงเรื่องความไม่มั่นคงประเทศ และลดความไม่ไว้ใจของประชาชนได้

นายปานเทพและคณะทำงาน คปพ. ได้ศึกษาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 ของกระทรวงพลังงาน พบว่า กำลังการผลิตสูงขึ้นเกินสำรองเยอะถึง 42-63% ทั้งที่ตามเกณฑ์เกินสำรองแค่ 15 % ก็พอ ผลคือต้องมีโรงไฟฟ้ามากเกินจำเป็น มลพิษมากขึ้น ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟมากขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินจำเป็น

เมื่อเอาข้อมูลจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน มาลบเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ ที่วางแผนเอาไว้ตลอด 20 ปี กำลังการผลิตสำรองก็ยังเกิน 26-59 % และลองลบไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศบ้าง ปรากฏว่าตลอด 19 ปีเราไม่ขาดก๊าซเลย สูงกว่าปริมาณสำรองขั้นต่ำ 15 % ด้วย ยกเว้น 2 ปีสุดท้าย คือปีที่ 20-21 ที่ขาดนิดหน่อย คือมีสำรองสูงไม่มากพอตามเกณฑ์ 15% ถ้าจะเพิ่มพลังงานทางเลือกให้พอ 2 ปีสุดท้าย เพิ่มเพียง 1-2 % เท่านั้นเอง

และที่รัฐบาลกลัวสุด คือ แหล่งบงกช และเอราวัณ ช่วงหมดสัมปทานคือปี 2565-2566 ซึ่งถ้าเราเอาปิโตรเลียม 2 แหล่งนี้มาให้รัฐทำเอง พลังงานก็จะขาดช่วงหนึ่งเพราะต้องใช้เวลากว่าจะผลิตจริงได้ ให้เวลา 4 ปี คือ 2565-2568 ปรากฏว่าแม้กำลังผลิตไฟฟ้าลดลงแต่ก็ยังเกินสำรองขั้นต่ำ 15%

ส่วนกรณีภาคใต้ ดูข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ โรงไฟฟ้าถ่านหินเราสามารถมีกำลังทดแทนได้ สมมติว่าปิดโรงไฟฟ้าที่ใหญ่สุดของภาคใต้ที่จะนะ ก็ยังเหลือกำลังสำรอง 31.9 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นที่ 4) นายปานเทพกล่าวแย้งว่า เทคโนโลยีลดมลพิษได้ คือ ลดให้น้อยสุดเท่าที่ทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าไม่อันตราย เมื่อสะสมมากขึ้นตามกาลเวลา เฉพาะโรงงานนั้นผ่านแต่รวมทั้งประเทศอาจไม่ผ่านก็ได้

ดร.ทองฉัตร กล่าวแย้งว่า ที่ข้อมูลการผลิตไฟฟ้าที่นายปานเทพ เอามา เป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น เป็นเรื่องอนาคต 20 ปี ไม่มีใครการันตีได้ว่าจะเป็นไปตามนี้ เพราะหากเศรษฐกิจดีขึ้นความต้องการไฟฟ้าก็จะขึ้นสูงกว่านี้ การที่มีพลังงานไฟฟ้าสำรองจึงสำคัญ เราเคยมีประสบการณ์ไฟฟ้าเกือบไม่พอใช้มาแล้ว เพราะการใช้เพิ่มขึ้นมากแล้วก็ไม่เป็นธรรมที่เอาข้อมูลเดิมมาพูดในฐานะปัจจุบัน

หากจะตอบประเด็น ดร.ทองฉัตร ก็ต้องบอกว่า การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเพื่อวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคตเป็นข้อมูลที่เป็นสมมุติฐานทั้งนั้น และในกรณีนี้นายปานเทพ ก็อ้างอิงข้อมูลจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 หรือแผนพีดีพี ของกระทรวงพลังงาน ถ้าหากดร.ทองฉัตร บอกว่าข้อมูลของนายปานเทพ เป็นเรื่องสมมุติ ก็หมายความว่าข้อมูลของกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ยกขึ้นมาอ้างเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ก็เป็นเรื่องสมมุติเช่นกัน เพราะเป็นข้อมูลชุดเดียวกันมาจากแหล่งเดียวกัน

แน่นอน เรื่องอนาคตข้างหน้าไม่มีใครการันตีได้ว่าจะเป็นไปตามนั้น ถึงแม้ว่าสมมุติฐานการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฯ จะอ้างอิงจากกรณีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับต่ำ กลาง และสูง เอาไว้ถึง 3 สมมุติฐาน ก็ตาม และนายทองฉัตร ซึ่งอยู่ในแวดวงพลังงานมาชั่วชีวิตก็ย่อมรู้ดีว่า แผนพีดีพีที่นำมาใช้อ้างผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นล้วนแต่อิงสมมุติฐานจากประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสูงทั้งนั้น

มีเรื่องจริงที่เป็นตลกปนเศร้าก็คือ ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แผนพีดีพีในเวลานั้นก็ยังอิงฐานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสูงเช่นเดิม ช่างทำไปได้และปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-หินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ผลักดันให้เกิดขึ้นหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและจบลงด้วยความตายของนายเจริญ วัดอักษร แกนนำคัดค้าน ที่ถูกสังหารในภายหลังมีการประกาศเลิกโครงการ ก็ล้วนแต่เป็นผลมาจากการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเกินจริงที่ “เป็นเรื่องสมมุติ” เชื่อไม่ได้อย่างที่นายทองฉัตรว่าไว้

ไม่มีใครปฏิเสธว่า กำลังไฟฟ้าสำรองสำคัญ แต่สำรองระดับไหนถึงจะพอดีไม่มากไปไม่น้อยไป ตามมาตรฐานโลกซึ่งนายทองฉัตร ก็รู้ดีว่าแค่ 15% ก็เกินพอแล้ว หากต้องมากกว่านี้อย่างล้นเหลือก็สะท้อนว่า การบริหารกำลังผลิตไฟฟ้าของหน่วยงานที่รับผิดชอบกิจการไฟฟ้าของไทยเข้าขั้น “ห่วยบรม” ?

การวางแผนการบริหารจัดการให้กำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการไม่ได้มีแค่ทางเลือกสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เท่านั้น แต่มีอีกหลายวิธีการ นักวางแผนพลังงานต่างรู้ดี เช่น การลดความสูญเสียของระบบ การใช้วิธีการประหยัดพลังงาน (DSM) หรือการใช้วิธีจูงใจคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบ time of use หรือหาพลังงานทดแทน ฯลฯ

เรื่องแบบนี้ถ้าคิดไม่เป็น ก็ถามนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ดูก็ได้ เพราะท่านเชี่ยวชาญเรื่องนี้ชนิดหาตัวจับยาก เว้นแต่ว่าเมื่อเปลี่ยนหมวกแล้ว ความคิดจะเปลี่ยนไป โรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นไม่ได้ ก็มาสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซฯดีกว่า ปตท.จะได้ลูกค้าเพิ่ม

สำหรับประเด็นจากนายวิบูลย์ ซึ่งกล่าวเสริมว่า ที่นายปานเทพพูดถึงเป็นแผนรวมทั้งประเทศกำลังสำรองพอ แต่ปัญหาอยู่ที่ภาคใต้ถ้ามีปัญหาก็จะดับหมดเลย โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงจำเป็น และถ้าไม่ใช้ถ่านหินค่าไฟจะสูง ส่วนเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมไม่มีปัญหา ตอนนี้คุมได้หมดแล้ว ห่วงเรื่องก๊าซฯเรือนกระจกมากกว่า แต่เราก็ควบคุมได้ต่ำกว่ามาตรฐานโลกด้วยซ้ำ

คำตอบชัดเจนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหากนายวิบูลย์ หาญกล้าการันตีว่ามลพิษจากถ่านหินคุมได้หมดไม่มีปัญหา เห็นท่าว่าจะต้องยุบทิ้งสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ที่ลุกขึ้นมาตอบแบบนิ่มๆ ว่า ในโลกนี้ไม่มีเทคโนโลยีถ่านหินที่สะอาดหมดจด จึงต้องหาทางลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด และระงับการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เอาไว้ก่อนจนบัดนี้

ส่วนประเด็นเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นายทองฉัตรกล่าวว่า สามารถใช้ได้ทั้ง 3 ระบบ ทั้งสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต และรับจ้างผลิต ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับผู้ประกอบการ ทุกระบบมีได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน

นายปานเทพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผลการศึกษาออกมาได้ว่าต้องให้แก้กฎหมายอะไรบ้าง ปรากฏว่าเสนอไปที่รัฐบาลทางกระทรวงพลังงาน ก็มี ร่าง พ.ร.บ. ของตัวเอง ซึ่งไม่สอดคล้องข้อเสนอของคณะกรรมการฯ เลย แล้วเราจะหาความจริงใจได้อย่างไร?

ล้อมกรอบ

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

คราวที่แล้วไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ ขณะนั้นผมเป็นรัฐมนตรีอยู่ ไฟฟ้าที่ผลิตที่ภาคใต้ที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพียงพอต่อความต้องการของภาคใต้ เพียงแต่ว่าสายส่งที่ไม่พอช่วงบิ๊กอาวร์ ต้องใช้สายส่งจากกรุงเทพส่งไปด้วยบางส่วน ฉะนั้น กระแสไฟฟ้าที่ส่งไปจากกรุงเทพฯ บางคนบอกว่าภาคใต้ไม่ต้องผลิตก็ได้จะส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางไปให้

จริงๆ ไฟฟ้าก็เหมือนกับท่อน้ำ เราส่งไปไกลๆ มันมีสูญเสียเยอะ สูญเสียแล้วกระแสไฟวิ่งตามท่อมันก็ไม่เต็ม แล้ววิ่งมากก็ร้อนทำให้ไฟมันขาด พอเกิดปัญหาไฟมันก็กระทบดับทั้งภาคใต้ เขาเรียกมันขาดสมดุล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พยายามทำโรงไฟฟ้าที่กระบี่ เป็นจุดหนึ่งที่เป็นสามขา ระหว่าง ขนอม จะนะ และกระบี่ กระบี่อยู่ฝั่งทะเลฝั่งภาคตะวันตกของอันดามัน ทำให้กระแสไฟฟ้ามันบาลานซ์กันได้ กระแสไฟไม่ตก ไฟไม่ดับ

ทำไมถึงเป็นที่กระบี่ ที่คนเขาถามกันทำไมไม่ทำที่อื่น มันเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำไมไม่ย้ายไปที่อื่น ถ้าไม่ทำตรงนั้นก็มีปัญหากับภูเก็ตในอนาคตอีก ภูเก็ตมีปัญหาเรื่องกระแสไฟไม่เพียงพอ หรือไฟดับๆ ติดๆ มีปัญหาเรื่องอุตสาหกรรมต่างๆ เรื่องของโรงแรมเรื่องของการท่องเที่ยวก็มีปัญหา เพราะว่ากระแสไฟไม่พอนะครับ ปัญหาใหญ่เหล่านี้ กฟผ. จึงมุ่งทำที่กระบี่ เพราะมีโรงไฟฟ้าเก่าอยู่แล้ว โรงไฟฟ้าเก่าที่ทำอยู่กระแสไฟฟ้ามันต่ำ การเปลี่ยนใหม่ที่อยากทำถ่านหิน เพราะว่าถ่านหินให้ความมั่นคงทางไฟฟ้ามากกว่า เพราะการสต๊อกถ่านหินสามารถเก็บได้ที 6 เดือน และสามารถรีรันได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยส่วนตัวมีความคิดเห็นว่าสมควรเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ อย่างยิ่ง มองว่าถ่านหินมีเสถียรภาพกว่าพลังงานทดแทนรูปแบบอื่นจำพวกสายลมแสงแดด หรือหากใช้แก๊สต้องทำถังเก็บมากมายมหาศาล ซึ่งถ่านหินราคาถูกสุด เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องทำที่กระบี่ แต่คนต่อต้านมากเพราะจากกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่อย่าลืมเมื่อก่อนเทคโนโลยีไม่ทันสมัย แต่ปัจจุบันทำระบบเก็บกักซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มลพิษลดน้อยลงมาก ฝุ่นที่เกิดจากการเผาหญ้าที่ภาคเหนือยังมีผลกระทบมากกว่า แล้วที่จะทำที่กระบี่ได้นำเอาเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมา ซัลเฟอร์ไดออกไซต์มีน้อยมาก

ในปัจจุบันคนจะต่อต้านถ่านหินมากเพราะอะไร (“กลัวครับ” พิธีกรพูดแทรก ) เพราะสร้างที่แม่เมาะที่เดียว แม่เมาะในอดีต อย่าลืมว่าเทคโนโลยีไม่ทันสมัยเลย ทำให้เกิดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ประมาณ 37 กรัมต่อกิโลวัตต์อาวร์ ซึ่งตรงนั้นทำให้เกิดภาวะทำให้คนทางเดินหายใจบกพร่อง เจ็บป่วยมากมาย แม้แต่วิศวะกรรุ่นผมเขาไปทำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเนี่ย ก็ยังป่วยหนักจนต้องย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ต้องใช้เงินรักษามหาศาล ซึ่งขณะนั้นเทคโนโลยีไม่ดีทำให้ฝุ่นละอองของซัลเฟอร์ไดออกไซด์มาก

ปัจจุบันเมืองเขาทำระบบเก็บกักซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แม่เมาะเหลือ 0.73 กรัมต่อกิโลวัตต์อาวร์ ซึ่งทำให้มลภาวะลดน้อยลงไป ซึ่งฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาหญ้าทางภาคเหนือ ฝุ่นควันยังมีผลกระทบมากกว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะทำในกระบี่ ผมทราบว่า กฟผ. เอาเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น เทคโนโลยีต้นแบบของ เจ พาวเวอร์ เมืองไอโซโก้ ประเทศญี่ปุ่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีปริมาณ 0.3 เท่านั้นเอง ซึ่งน้อยมาก แล้วก็เชิญคนท้องที่ไม่ว่านักต่อต้าน คนที่ไม่เห็นด้วย ผู้สื่อข่าว นักวิชาการต่างๆ และชาวบ้านไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นก็ไปดูมาแล้วว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด พอกลับมาก็ถูกตั้งคำถามว่าคนที่ไปดูรับเงินจาก กฟผ.

ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ข้อมูลการผลิตไฟฟ้าที่นายปานเทพนำเสนอมาทั้งหมดเป็นเรื่องสมมติทั้งนั้น ไม่เป็นธรรมที่เอาข้อมูลเก่ามาพูดในปัจจุบัน เรื่องอนาคตไม่มีใครการันตีได้ว่าจะเป็นไปตามนี้ เพราะหากเศรษฐกิจดีขึ้นความต้องการไฟฟ้าก็จะขึ้นสูงกว่านี้ การที่มีพลังงานไฟฟ้าสำรองจึงสำคัญ ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ไฟฟ้าเกือบไม่พอใช้มาแล้ว เพราะการใช้เพิ่มขึ้นมาก

การที่มีพลังงานไฟฟ้าสำรองก็มีความจำเป็น ในกรณีที่เศรษฐกิจดีขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ของภูมิภาคดีขึ้นความต้องการอาจจะเป็นไปเหมือน 10 - 20 ปีที่แล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่มีพลังงานไฟฟ้าสำรองมันก็เป็นความจำเป็น เราเคยมีประสบการณ์ การพัฒนาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ประเทศไทย (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี) ขึ้นปีละ 10% ไฟฟ้ามันเกือบจะไม่พอใช้ เพราะฉะนั้นผมว่าตัวเลขสำรองที่รับมรดกมาปัจจุบันเป็นตัวเลขซึ่งมาจากข้อมูลเดิม ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจดีขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจมันเพิ่มตัวเลขสองหลักทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเส้นความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นปัญหาส่วนเกินมันก็จะน้อยลง

ส่วนกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ดร.ทองฉัตร กล่าวว่า สามารถใช้ได้ทั้ง 3 ระบบ ทั้งสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต และรับจ้างผลิต ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับผู้ประกอบการ ทุกระบบมีได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน

นายวิบูลย์ คูหิรัญ

ประธานที่ปรึกษากรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สนับสนุนความคิดเห็นของ ดร.ทองฉัตร และนายพงษ์ศักดิ์ เห็นพ้องว่าควรเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่และวิพากษ์ข้อมูลของนายปานเทพ ซึ่งเป็นแผนรวมทั้งประเทศ แน่นอนว่ากำลังสำรองพอ แต่ปัญหาจริงๆ นั้นอยู่ที่ภาคใต้ ถ้ามีปัญหาก็จะดับหมดเลย ตนจึงเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงจำเป็น และถ้าไม่ใช้ถ่านหินค่าไฟจะสูง ส่วนเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมไม่มีปัญหา ตอนนี้คุมได้หมดแล้ว ควบคุมได้ต่ำกว่ามาตรฐานโลกด้วยซ้ำ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน (คปพ.)

เวลาเราพูดถึงแหล่งพลังงานที่จะมาผลิตกระแสไฟฟ้า ถ้าเราพูดถ่านหินอย่างเดียวบางทีมันอาจจะไม่ตอบโจทย์ เวลาพูดถึงมลภาวะ เทคโนโลยีสามารถลดมลภาวะได้ เพียงแต่ว่าลดมลภาวะมันเป็นการลดสารพิษที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ว่ามันจะไม่เป็นพิษต่อมนุษย์นะครับ

ยกตัวอย่างเช่น เวลาผ่านไปสะสมมากขึ้นต่อให้ปริมาณจะลดลงก็จะสะสมได้มากขึ้นตามเวลาบริบทของสภาพแวดล้อมถ้ามีสารพิษเดิมอยู่แล้ว จะเป็นการเติมสารพิษไปมากกว่าเดิม ถึงแม้โรงงานนนั้นจะผ่านแล้ว ประเทศอาจจะไม่ผ่านก็ได้เป็นมิติเรื่องการสะสมสารพิษ

ประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือการขาดแคลนพลังงาน “รัฐบาลเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าเราจะขาดพลังงาน และก็มีความคิดว่าต้องเปิดสัมปทานปิโตเลียมรอบที่ 21วันดีคืนดีรัฐบาลกลัวที่สุดคือแหล่งผลิตไฟฟ้า แหล่งเอราวัณ และบงกช จะหมดอายุใน 6-7 ปีข้างหน้า ก๊าซ2 แหล่งนี้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าปริมาณครึ่งหนึ่งของก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าอีก 6-7 ปีข้างหน้า ไม่มีการจัดการที่ดี หรือปล่อยให้หมดสัมปทานไปแล้วก็ไม่มีการคิดพลังงานทดแทนก็อาจจะขาดแคลนไฟฟ้าในช่วง 4 ปี ช่วงการหมดสัมปทาน มีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาสวมแทนก็ได้ การที่ไฟฟ้าขาดตอนทำให้รัฐบาลวิตกกังวลต้องหาแหล่งพลังงานมาผลิตไฟฟ้าโดยภาพรวมเพิ่มมากขึ้น นายกรัฐมนตรี วิตกกังวลมีความเป็นห่วงว่าไฟจะดับ ปัญหาก็คือว่ามันเป็นไปได้ไหม?

ถ้าสมมุติว่า ประการที่หนึ่ง เราบอกว่าเรามีปัญหาความมั่นคงทางพลังงานแต่เราเลือกนำน้ำเข้าก๊าซและถ่านหินจากต่างประเทศ และขณะเดียวกัน เรามีแหล่งสัมปทานที่มีก๊าซ น้ำมัน เป็นแหล่งสัมปทานที่ผลิตไฟฟ้าด้วย เรายกสัมปทานเรานี้ให้กับต่างชาติหรือว่าผู้รับสัมปทาน เอามาผลิตให้กับประเทศไทย รัฐไม่ถือกรรมสิทธิเลย ตกอยู่ในมือความมั่นคงของผู้ผลิตที่เป็นเอกชน ประการถัดมา เราบอกว่าก๊าซหุงต้มเราไม่พอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เรากลับเอาก๊าซในประเทศไปจัดทำเม็ดพลาสติกจนล้นเกินความต้องการในประเทศและส่งออกนอกประเทศ ซึ่งก๊าซผลิตไฟฟ้าได้ ประการที่สาม เราบอกว่าเรากลัวสิ่งแวดล้อมเป็นพิษแต่เราสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถึงแม้เราอาจจะลดมลพิษถ่านหินได้แต่ต้นทุนที่เราไปลดมลพิษจะกลับมาเป็นค่าไฟฟ้าของประชาชนอยู่ดี และประการสุดท้าย การรักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่เรากลับปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไปเป็นกรรมการบริษัทเอกชนทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในการตัดสินใจ หรือเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?

เรามาลองดูโมเดลกันว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?

หนึ่ง ถ้าสมมุติว่า เราจะหยุดใช้พลังงานถ่านหินเพิ่มเติมได้หรือเปล่า? สอง ปฏิเสธการใช้พลังงานนิวเคลียร์ได้หรือเปล่า? นี่เป็นสองสิ่งที่ประชาชนกังวล เทคโนโลยีจะเป็นอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง สาม คือเราจะลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศได้ไหม และสี่ เราเพิ่มพลังงานหมุนเวียนทดแทนก๊าซได้หรือเปล่า ถ้าเราทำได้จริงเราก็ลดความเสี่ยงในเรื่องของความไม่มั่นคงต่อประเทศ ลดความไม่ไว้วางใจของประชาชนได้

ข้อมูลจากหนังสือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 ของกระทรวงพลังงาน พบว่า กำลังการผลิตสูงขึ้นเกินสำรองเยอะถึง 42 - 63% ทั้งที่ตามเกณฑ์เกินสำรองแค่ 15 % ก็พอ ผลคือต้องมีโรงไฟฟ้ามากเกินจำเป็น มลพิษมากขึ้น ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟมากขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินจำเป็น หากนำเอาข้อมูลจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน มาลบเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ ที่วางแผนเอาไว้ตลอด 20 ปี กำลังการผลิตสำรองก็ยังเกิน 26-59% และลองลบไฟฟ้านำเข้าจากต่างประเทศบ้าง ปรากฏว่าตลอด 19 ปีเราไม่ขาดก๊าซเลย สูงกว่าปริมาณสำรองขั้นต่ำ 15% ยกเว้น 2 ปีสุดท้าย คือปีที่ 20-21 ที่ขาดนิดหน่อย คือมีสำรองสูงไม่มากพอตามเกณฑ์ 15% ถ้าจะเพิ่มพลังงานทางเลือกให้พอ 2 ปีสุดท้าย เพิ่มเพียง 1-2% เท่านั้นเอง และที่รัฐบาลกลัวสุด คือ แหล่งบงกช และเอราวัณ ช่วงหมดสัมปทานคือปี 2565 - 2566 ซึ่งถ้าเราเอาปิโตรเลียม 2 แหล่งนี้มาให้รัฐทำเอง พลังงานก็จะขาดช่วงหนึ่งเพราะต้องใช้เวลากว่าจะผลิตจริงได้ ผมให้เวลา 4 ปี คือ 2565-2568 ปรากฏว่าแม้กำลังผลิตไฟฟ้าลดลงแต่ก็ยังเกินสำรองขั้นต่ำ 15%

กรณีภาคใต้ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ โรงไฟฟ้าถ่านหินเราสามารถมีกำลังทดแทนได้ สมมติว่า ปิดโรงไฟฟ้าที่ใหญ่สุดของภาคใต้ที่จะนะ ก็ยังเหลือกำลังสำรอง 31.9 % อีกทั้งการศึกษาของอนุกรรมการฯ วุฒิสภา พบว่าเหตุการณ์ไฟดับทั้งภาคใต้ที่เคยเกิดขึ้น เกิดจากฟ้าผ่าสายส่ง 500 กิโลโวลต์ วงจรที่ 1 ที่บ้านลาดเพชรบุรี ขณะที่สายส่งวงจร 2 ปิดซ่อม ซึ่งโอกาสอย่างนี้ไม่ใช้เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นอีก

สำหรับปัญหามลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ้าอ้างอิงข้อมูลจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ระยอง รายงานจากกรมควบคุมมลพิษ รายงานครึ่งปีแรก 2558 ค้นพบว่าจุดนำน้ำเข้าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP เป็นจุดสูบน้ำทะเลของโรงไฟฟ้า BLCP มีการขนถ่ายถ่านหิน และกองถ่านหินริมฝั่งพบว่ามีปรอทเกิน และระบุว่าเสื่อมโทรมมาก อย่างนี้แล้วจะให้ประชาชนมีความสบายใจได้อย่างไร ถัดมาคำว่ามาตรฐาน ชีวิตคนกับโรงงานไม่เหมือนกัน

ส่วนเรื่องสัมปทานปิโตรเลียม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยผลการศึกษาออกมาได้เอกสารหนามากว่าต้องให้แก้กฎหมายอะไรบ้าง ซึ่งดีมากทั้งแก้เรื่องความโปร่งใส ประสิทธิภาพ ผลประโยชน์แบบทดแทนแก่รัฐและขจัดการผูกขาด ปรากฏว่าเสนอไปที่รัฐบาล แต่กระทรวงพลังงาน มีร่าง พ.ร.บ.ของตัวเองที่ไม่สอดคล้องข้อเสนอของคณะกรรมการ

ไม่ใช่ว่าภาคประชาชนไม่สนใจการผลิตไฟฟ้า เรารู้ว่าต้องเพิ่มขึ้น แต่จากข้อมูลเปอร์เซ็นต์การจัดหาก๊าซของประเทศไทย การผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 58.8 เปอร์เซ็นต์ ปิโตรเคมี 20.2 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าสร้างความมั่นคงได้โดยไม่ต้องพึ่งพลังงานถ่านหิน และหากจะแก้ปัญหาปิโตรเลียม ไม่ใช่แก้ที่ต้นทาง แต่ต้องแก้ทั้งระบบ ต้นทาง กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยคำนึงถึงประโยชน์ผลตอบแทนต่อรัฐสุดสุด และประโยชน์ต่อ ประชาชนสูงสุด


ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์
กำลังโหลดความคิดเห็น