กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ย้ำหยุดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ยกเลิกพิจารณา EHIA รวมท่าเทียบเรือ ลั่นทั้งจังหวัดใช้พลังงานหมุนเวียนได้ โดยเฉพาะจากปาล์ม แต่ถ่านหินต้องนำเข้าจากอินโดนีเซีย ผูกขาดแค่สองบริษัท ถามจะให้พ่อค้าถ่านหินได้ประโยชน์ ชาวบ้านตายหรือ ตอกกลับปากพล่อยบอกอดข้าวสามวันก็ตายแล้ว บอกอดอาหารไม่ได้อดน้ำ ไม่เคยเสียสัจจะแอบกินข้าวกลางคืน
วันนี้ (21 ก.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน นำโดย นายอัครเดช ฉากจินดา และชาวบ้านจาก จ.กระบี่ ประมาณ 80 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องข้อเสนอต่อการยกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยมี พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง
โดยนายอัครเดชกล่าวว่า ทางเครือข่ายอดอาหารมาเป็นเวลา 12 วันแล้ว โดยได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ 1. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการพิจารณา EIA และ EHIA ทั้งสองฉบับของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว 2. ขอให้หยุดการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ละท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วโดยไม่มีกำหนด และ 3. ขอให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อเสนอของทางกลุ่ม โดยขอเวลา 3 ปี เพื่อทำโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถ้าหากรัฐบาลทำสองข้อแรกได้ก่อน ตนและพวกก็จะกลับมากินอาหารทันที
ขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน นำโดยนายเดช พุ่มคชา ประธานที่ปรึกษาสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ตัวแทนของ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส และ ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เคลื่อนย้ายกลุ่มจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) มายังประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อประชาชนร่วมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษา ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี รับมอบหนังสือจากตัวแทนกลุ่ม โดยนายกมลกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมยืนยันว่าจะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา
นายเดชกล่าวว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สภาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มารับหนังสือจากทางกลุ่มเมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) และในวันนี้ก็มีการส่งตัวแทนมารับหนังสือเพิ่มเติม โดยนายกรัฐมนตรีจะรับเรื่องไว้พิจารณา สำหรับการยื่นหนังสือในครั้งนี้เพราะต้องการแสดงความห่วงใยในการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ จึงอยากเสนอให้มีการพิจารณาใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่บริสุทธิ์กว่า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานผลิตน้ำมันปาล์ม รวมถึงพิจารณาพื้นที่อื่น พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ของทางเครือข่ายว่าไม่ได้ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้า อีกทั้งยังสนับสนุนการสร้างพลังงานที่ยั่งยืน แต่มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ถ่านหินในพื้นที่ท่องเที่ยวที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน ซึ่งล่าสุดในวันที่ 5 ส.ค. นี้ จะมีการประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้าน ทั้งที่ยังไม่ผ่านประเมินจาก EHIA หรือแนวทางการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment : EHIA) ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาโครงการใหญ่มักจะสามารถเปิดดำเนินการได้ ซึ่งในครั้งนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ้างว่าจะจัดทำการประมูลควบคู่ไปกับการประเมินของ EHIA ซึ่งไม่เป็นธรรม
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่าย กล่าวว่า ถ้าเราไปดูการใช้ไฟฟ้าของทั้งโลก เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบัน เราสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่าพลังงานฟอสซิลแล้ว ซึ่งเมื่อมามองที่จังหวัดกระบี่ กรมพลังงานทดแทนกระทรวงพลังงานได้ทำการศึกษามาว่า จังหวัดกระบี่สามารถผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 1,000 เมกกะวัตต์ ตอนนี้จังหวัดกระบี่สามารถนำน้ำเสียจากโรงงานปาล์มมาพัฒนาเป็นพลังงานได้แล้ว โดยมีโรงงานไฟฟ้าจากน้ำเสียที่ผลิตไฟฟ้าได้แล้วถึง 11 โรง ซึ่งถ้าหากรัฐบาลมีการขยายสายส่ง แต่ละโรงงานจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ และถ้าหากมีการเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไป ก็จะสามารถผลิตได้ 40 เมกะวัตต์ ต่อหนึ่งโรงงาน นั่นหมายความว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ที่รัฐกำลังจะสร้างด้วยงบประมาณ 50,000 ล้านบาทนั้นไม่มีความจำเป็นเลย เพราะว่าถ้าหากเรามาพัฒนาโรงไฟฟ้าจากปาล์มเพิ่มขึ้นไปสี่เท่าตัว ก็สามารถผลิตไฟฟ้าในปริมาณเท่ากันแล้ว แต่สิ่งที่ชาวบ้านจะได้รับก็คือ ราคาปาล์มจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าเป็นถ่านหิน เราต้องไปซื้อถ่านหินมาจากประเทศอินโดนีเซีย และมีเพียงแค่สองบริษัทที่ทำสัมปทาน แต่หากเราใช้พลังงานจากปาล์ม เกษตรกรชาวไทยนับแสนรายจะได้ประโยชน์ และรัฐบาลก็ไม่ต้องแก้ปัญหาเรื่องราคาปาล์มอีกต่อไป
“ทางเครือข่ายได้เรียกร้องเรื่องนี้มา 3 ปีแล้วแต่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และรัฐบาลก็ไม่เคยรับฟังตน จนตอนนี้พวกตนต้องเอาชีวิตมาแลก ด้วยการอดอาหารมาแล้วกว่า 12 วัน ซึ่งก็อยากถามทางรัฐบาลว่าจะเลือกให้พ่อค้าถ่านหินได้ประโยชน์และปล่อยให้พวกตนตาย หรือจะเลือกอยู่เคียงข้างประชาชนชาวอันดามัน” นายประสิทธิชัย กล่าว
จากนั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชนฯ ได้ขอให้เครือข่ายฯ ส่งตัวแทนเข้าหารือร่วมกันภายในห้องประชุมสำนักงาน ก.พ. โดยใช้เวลาหารือประมาณ 5 ชั่วโมง โดยเมื่อเวลา 16.00 น. นายประสิทธิ์ชัยแถลงผลการหารือว่าเครือข่ายฯ จะปักหลักจนกว่าจะได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรี ที่เห็นด้วยให้ยกเลิกการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ซึ่หากยังไม่ได้คำตอบอย่างเป็นทางการ เชื่อว่าชาวอันดามันจะเดินทางเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านจากทุกฝ่าย เพราะสิ่งที่ชี้แจงนั้น ถือเป็นข้อมูลเก่า และอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับหน่วยงานอื่นที่จะเข้ามาหาผลประโยชน์ได้ ทั้งนี้ ยังยืนยันข้อเรียกทั้ง 3 ข้อ คือ ให้ยกเลิกรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโรงงานผลิตไฟฟ้า และท่าเรือขนส่งถ่านหิน พร้อมขอให้ชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไปอีก 3 ปี เพื่อขอเวลาพิสูจน์ว่าแนวคิดในการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานจากน้ำมันปาล์มเพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งมองว่ากระบวนการของรัฐบาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจมีการทุจริตเข้าแทรกแซง
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งข้อสังเกตว่าการอดอาหารเกิน 3 วันไม่สามารถทำได้นั้น นายประสิทธิชัยยืนยันว่า ตนเพียงอดอาหาร แต่ไม่ได้อดน้ำ สามารถอยู่ได้ถึงเดือน และไม่เคยละเมิดสัจจะแอบรับประทานอาหารช่วงกลางคืน หากผิดสัจจะก็ขอให้ไม่ได้รับชัยชนะครั้งนี้ ตนขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้สติก่อนให้ข่าว เพราะมันเป็นเรื่องของความเป็นอยู่และชีวิตประชาชน