“กฟผ.” เลื่อนเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจาก 22 ก.ค. เป็น 5 ส.ค. อ้างเอกชนที่จะมายื่นสอบถามเข้ามามากแต่ไม่ทัน และเอกสารก็ไม่พร้อมจึงต้องเปิดทางเพื่อให้เกิดทางเลือกมากขึ้น ยันไม่เกี่ยวกับม็อบต้าน เผยหากเกิดไม่ทัน ม.ค. 62 ไฟใต้เสี่ยงความมั่นคง
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยระหว่างที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ว่า ขณะนี้ กฟผ.ได้เลื่อนกำหนดการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จ.กระบี่ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ จากเดิม 22 ก.ค.นี้ไปเป็นวันที่ 5 ส.ค.แทน เนื่องจากมีผู้ประกอบการเอกชนได้สอบถามข้อมูลมาเพิ่มเติมและบางรายยังเตรียมเอกสารไม่พร้อม ซึ่ง กฟผ.เห็นว่าหากมีทางเลือกจำนวนมากจะเป็นผลดีกว่า โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับกรณีการประท้วงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ กฟผ.ในฐานะเป็นผู้กำหนดเทคนิคการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจึงทำควบคู่กันไปกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบเทคนิคของผู้ที่ยื่นข้อเสนอว่าสอดคล้องกันหรือไม่เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะได้เทคโนโลยีที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมได้ตาม EHIA อย่างแท้จริง
“เราเองในฐานะผู้กำหนดเทคนิคหลังจากนั้นสู้ด้วยราคาเราก็เชื่อว่าสิ่งที่เราทำดีที่สุดแล้วที่เราต้องทำควบคู่ไปกับ EHIA ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลา4-5 เดือน แต่ถ้ารอให้ EHIA ผ่านจะใช้เวลาเกือบปีเศษก็จะใช้เวลานานนับปีอาจไม่ทันกำหนดจ่ายไฟฟ้า ม.ค. 2562 แต่การดำเนินงานก่อสร้างจริงก็ต้องรอให้ EHIA ผ่านก่อนอยู่แล้วไม่ใช่จู่ๆ จะไปสร้างก่อนได้เลย” นายสุนชัยกล่าว
ทั้งนี้ หากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่เกิดไม่ทันกำหนดจ่ายไฟ ม.ค. 2562 ภาคใต้จะเสี่ยงกับความมั่นคง เนื่องจากการหยุดซ่อมท่อก๊าซฯ จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) จะเกิดขึ้นทุกปีเป็นเรื่องปกติ ขณะที่การใช้ไฟภาคใต้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ซึ่งเกิดจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยประเมินว่าปี 2662 ความต้องการใช้ไฟภาคใต้จะอยู่ที่ 3,062 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตจะอยู่ที่ 3,115 เมกะวัตต์ แม้ว่าจะรวมกับกำลังการผลิตพลังงานทดแทนจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และเล็กมาก (VSPP) 202 เมกะวัตต์ก็ไม่เพียงพอ
“แม้ว่าภาคใต้จะมีพลังงานทดแทน แต่หากพิจารณาจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นการขายไฟเข้าระบบแบบไม่กำหนดการจ่ายไฟที่แน่นอน (Non Firm) เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติ จึงไม่สามารถจะเป็นพลังงานหลักได้ รัฐบาลจึงส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และเทพา จ.สงขลา 2 แห่งที่จะรองรับความต้องการใช้ในปี 62 และปี 64 ตามลำดับ ขณะที่การก่อสร้างสายส่ง 500 เควีจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไป จ.สุราษฎร์ธานีจะแล้วเสร็จปี 2562 ขณะที่ไปภูเก็ตจะเสร็จปี 2565 หากเป็นไปตามแผนทั้งหมดก็จะทำให้ระบบไฟภาคใต้มีความมั่นคงอย่างมาก และที่สำคัญจะทำให้ลดความเสี่ยงค่าไฟฟ้าแพงเพราะถ่านหินมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติ” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว