xs
xsm
sm
md
lg

“คุรุจิต” ย้ำไม่เลื่อนประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ 22 ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คุรุจิต” ย้ำ กฟผ.เดินหน้าเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 22 ก.ค.นี้ไม่เปลี่ยน โดยจะต้องรอ EHIA จึงก่อสร้างได้ เผยรับฟังความเห็นและปรับแผนให้สอดคล้องกับข้อกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ไม่กระทบท่องเที่ยวแน่ แนะให้ดูประเทศพัฒนาพึ่งพิงถ่านหินมากกว่าไทย ขณะที่แผนซ่อม JDA เลื่อนออกไป 3 วันหลังคลื่นลมแรง

นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงานและในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เปิดเผยหลังแถลงความคืบหน้าและผลสำรวจของการดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงานและผลิตพลังงานทดแทนร่วมกับหน่วยงานความมั่นคงว่า กฟผ.จะยังคงเดินหน้าโครงการซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ตามกำหนดเดิมวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ได้มีการรับฟังความเห็นไปแล้ว 3 ครั้ง และมีการปรับแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

“การก่อสร้างโรงไฟฟ้ายังไง EHIA ก็ต้องผ่านก่อน ยืนยันว่าการดูแลมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยนั้นมาตรฐานเทียบชั้นของประเทศญี่ปุ่น และสามารถปฏิบัติได้จริง กรณีความกังวลเรื่องผลกระทบการท่องเที่ยวก็ไม่มีเพราะการขนส่งเป็นระบบปิดและมีกำหนดเส้นทางขนส่งที่เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันเดิมอยู่แล้ว และกำหนดแค่ 2 เที่ยวต่อวัน” นายคุรุจิตกล่าว

ทั้งนี้ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือ PDP ที่รัฐบาลเห็นชอบเพื่อลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟจาก 67% ด้วยการเพิ่มสัดส่วนถ่านหินเป็น 25% ในปี 79 ซึ่งหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งสัดส่วนการใช้ถ่านหินยังสูงถึง 30% ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ก็เพื่อความมั่นคงในการกระจายเชื้อเพลิง ตัวอย่างญี่ปุ่นกรณีที่นิวเคลียร์ดับยังมีปัญหาทั้งที่พึ่งพิงเพียง 30% หากไทยมีปัญหาก๊าซฯ ทั้งระบบอะไรจะเกิดขึ้น และก๊าซเองก็มีราคาแพงหากต้องนำเข้าก็จะต้องกระทบค่าไฟฟ้าให้แพงขึ้น ประชาชนเดือดร้อน การท่องเที่ยวเองก็ลำบากเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ตามแผน PDP ก็ยึดหลักคิดที่ว่าโรงไฟฟ้าก็ควรจะอยู่ในพื้นที่ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้า เพราะภาคใต้มีการเติบโตของการใช้ไฟค่อนข้างมากกว่าทุกภาคเพราะมีการท่องเที่ยวและบริการเติบโตต่อเนื่อง การใช้พลังงานทดแทนทั้งหมดไม่สามารถรองรับได้เพราะไม่ได้พร้อมจ่ายตลอดเวลาขึ้นอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งขณะนี้ภาคใต้ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพิงไฟจากภาคกลางส่งเข้าไป อดีตจะเห็นว่ามีความเสี่ยงเมื่อสายไฟมีปัญหาจึงเคยดับ 14 จังหวัดภาคใต้มาแล้ว รวมทั้งเกาะสมุยด้วย

สำหรับการหยุดซ่อมบำรุงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA A18) ที่เดิมกำหนดไว้ระหว่าง 19-23 ก.ค.นี้ได้รับการแจ้งว่าจะเลื่อนออกไปเป็นระหว่าง 21-25 ก.ค.แทนเนื่องจากคลื่นลมกำลังแรงส่งผลกระทบให้เรือขนอุปกรณ์ในการซ่อมเข้าไปลำบาก อย่างไรก็ตาม แผนการรองรับการหยุดจ่ายก๊าซฯ ยังคงเป็นไปตามเดิม ทั้งการสำรองน้ำมันเตา การขอความร่วมมือประชาชนประหยัด เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น