xs
xsm
sm
md
lg

ท้ากาง2พรบ.ปิโตรฯเปรียบเทียบ ซัดรัฐปิดข้อมูล พลังงานโยน’บิ๊กตู่’ชี้ขาดอ้างก่อนวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ณรงค์ชัย" แนะสื่อให้ไปถาม"บิ๊กตู่"กรณีคปพ.เคลื่อนไหวให้ถอนร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับกระทรวงพลังงาน 9 ก.ค.นี้ ขณะที่ปลัดกระทรวงพลังงานยืนยันทำตามกรอบนโยบายของรัฐ หากสนช.เห็นชอบก็พร้อมเดินหน้าเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ทันที ย้ำรัฐบาลต้องตัดสินใจเดินหน้าก่อนวิกฤติพลังงาน เหตุสำรองก๊าซที่พิสูจน์แล้วเหลือไม่ถึง 6 ปี ด้าน”รสนา”จี้รัฐเปิดเวทีเปรีบเทียบพรบ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ที่ผ่านอนุมัติหลักการจากครม. แต่รัฐกลับไม่เผยแพร่ให้ประชาชนทราบก่อน ปูดมีการแก้ไขให้ขอสัมปทานครั้งเดียวได้รวม 39 ปี จากเดิมแบ่งเป็นช่วงๆ แนะตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ดูแล แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช เพิ่มประสิทธิภาพ

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) จะมีการเคลื่อนไหวด้วยการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ถอนร่างพระราชบัญญํติ(พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันที่ 9 ก.ค. ว่า เรื่องดังกล่าวที่สุดจะเป็นอย่างไรคงจะต้องไปสอบถามพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานยืนยันว่าได้ดำเนินการเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. 2 ฉบับตามระเบียบแบบแผนของราชการและนโยบายของรัฐบาลโดยได้เสนอร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อเห็นชอบแล้วก็เข้าสู่ผ่านความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจากนั้นก็จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หากเห็นชอบตามที่เสนอก็สามารถเตรียมประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ตามกรอบนโยบายของรัฐบาล

"เราล่าช้ามานานแล้วสำหรับการเปิดสำรวจปิโตรเลียมและกรอบที่กระทรวงพลังงานเสนอ มองประโยชน์ที่จะเข้ารัฐไว้ดีพอสมควรไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC ) และการที่ออกมาวิจารณ์อยากให้เห็นร่างที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้วเป็นอย่างไรก่อน เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งทั้งหมดยืนยันว่าไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติให้มีใช้ต่อเนื่อง เพราะประเทศกำลังก้าวสู่วิกฤติพลังงาน ขณะนี้ปริมาณก๊าซฯที่พิสูจน์ทราบแล้วมีใช้ได้ไม่ถึง 6 ปีแล้วเราคงรออีกไม่ได้ เรารับฟังมามากแล้วรัฐบาลต้องตัดสินใจเดินหน้า"นายคุรุจิตกล่าว

สำหรับกรณีที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เอาบรรษัทน้ำมันแห่งชาติตามที่ภาคประชาชนเสนอเรื่องดังกล่าว ไม่ทราบ เนื่องจากตนไม่ได้อยู่ในกรรมาธิการยกร่างดังกล่าว

อย่างไรก็ตามเรื่องต่างๆ สังคมจะต้องมีการตกผลึกก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ด้วยการสอบถามทุกฝ่ายว่าจำเป็นหรือไม่

ส่วนร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานนั้น ไม่ได้มีการนำร่างอื่นมาประกบ และหลักการที่เขียนไว้ก็ไม่ได้มีการใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีที่จะไปตัดสินใจยกแหล่งปิโตรเลียมให้ใคร เพราะที่สุดการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการให้สิทธิ์เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมคือคณะรัฐมนตรี(ครม.)

"ขั้นตอนมีอยู่จะต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาอย่างไรในการให้สิทธิ์เอกชนสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งหลักๆจะต้องผ่านคณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและจากนั้นก็ต้องเสนอครม.ขั้นสุดท้ายในการให้สิทธิ์ฯ ส่วนกรณีที่ระบุว่าระบบPSC ของกระทรวงพลังงานมีการยกสิทธิ์สำรวจผลิตให้ถึง 39 ปีนั้นข้อเท็จจริงไม่ว่าระบบใดก็ทำเช่นนั้นแม้แต่ระบบสัมปทานคือ ระยะเวลาสำรวจ 9 ปี ระยะเวลาผลิต 20 ปี และต่อสัญญาได้อีก 10 ปีสัมปทานปิโตรเลียมตลอด 40 ปีก็ทำมาเช่นนี้"นายคุรุจิตกล่าว

รีดเงินเข้ากองทุนฯราคาLPGก.ค.ไม่ลด

นายณรงค์ชัย กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาต้นทุนก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เดือนก.ค. 58 เพื่อกำหนดราคาขายปลีกให้สะท้อนกลไกตลาดโลกพบว่าราคาแอลพีจีตลาดโลกได้ปรับลดลงจากเดือนมิ.ย.ที่อยู่ระดับ419 เหรียญสหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ 407 เหรียญสหรัฐต่อตันในเดือนก.ค. หรือคิดเป็นประมาณ 0.1205 บาทต่อกก. ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเงินดังกล่าวส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ก.ค. คงเดิมที่ 23.96 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)

" การลดราคาขายปลีกให้ประชาชนอาจจะไม่มีผลอะไรมากนักเพราะน้อยมากดังนั้นจึงให้นำเข้ากองทุนฯเพื่อที่จะเก็บสะสมไว้ใช้ดูแลระดับราคาช่วงขาขึ้น "นายณรงค์ชัยกล่าว

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯในส่วนที่แยกเป็นบัญชีแอลพีจีมีเงินสะสมอยู่ 7,395 ล้านบาท โดยกองทุนฯเก็บเงินจากแอลพีจีอยู่ที่ 0.952 บาทต่อกก.เมื่อมีการเก็บเงินเพิ่มทำให้เงินส่งเข้ากองทุนฯเป็น 1.0725 บาทต่อกก. ส่งผลให้กองทุนฯจะมีรายรับเพิ่มอีก 314 ล้านบาทต่อเดือน

ทั้งนี้ ทิศทางราคาพลังงานจะอ่อนตัวตลอดทั้งปี ซึ่งในส่วนของก๊าซธรรมชาติจะอ่อนตามหลังราคาน้ำมันเนื่องจากใช้ราคาน้ำมันอ้างอิง ดังนั้นกระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อตัดสินใจดำเนินการในส่วนของการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) ที่ขณะนี้ยอมรับว่าต้นทุนเริ่มลดลงบ้างเฉลี่ยที่ 14-15 บาทต่อกก.แต่ก็ยังต่ำกว่าราคาขายปลีกที่เป็นอยู่ โดยราคาจะปรับขึ้นเมื่อใด คงต้องดูราคาตลาดโลกก่อน ส่วนแอลพีจียังเหลือในส่วนของการปรับภาษีสรรพสามิตแอลพีจีภาคขนส่งให้เท่ากับน้ำมัน

เปิดเวทีกลางเปรียบเทียบพรบ.ปิโตรฯ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชะลอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ .. พ.ศ. ....และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมฉบับที่ .. พ.ศ. ....ของกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านการอนุมัติโดยหลักการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะเปิดเวทีกลางเพื่อเปรียบเทียบร่างกฎหมายดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ระหว่างร่างของภาคประชาชนกับร่างของกระทรวงพลังงาน ที่ ครม.อนุมัติในหลักการ เพราะช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้ชะลอการการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดสัมปทาน คือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ โดยให้แก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้ทั้งฝ่ายกระทรวงพลังงาน และภาคประชาชน ร่วมร่างและแก้ไขกฎหมายสมบูรณ์ทันสมัย และปิดจุดอ่อน โดยให้ประเทศไทยได้ผลประโยชน์มากที่สุด

" เราสงสัย ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ของกระทรวงพลังงานที่ผ่านการอนุมัติหลักการของ ครม.กลับไม่เคยมีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบก่อน และไม่มีการรับฟังเสียงของประชาชน แต่กลับพยายามผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย เพื่อเร่งรัดให้มีการสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งน่าสังเกตว่า ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีการแก้ไขเพียง 7 มาตรา ที่น่ากังวลคือ มีการแก้ไขเกี่ยวกับการให้สัมปทานแหล่งผลิตน้ำมัน จากเดิมที่เคยระบุให้เวลา 9 ปี ในการเจาะสำรวจ แบ่งเป็น 3 ช่วงๆ ละ 3 ปี เมื่อเจอแหล่งพลังงานแล้วให้สัมปทานขอได้ครั้งแรก 20 ปี และขยายครั้งต่อไปอีก 10 ปี แต่มีการแก้ไขให้ขอสัมปทานครั้งเดียวได้เลยรวมเวลา 39 ปี"

อีกประเด็นคือ แหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุกรรมสิทธิ์สัมปทานคือ แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ควรจะมีองค์กรรัฐอย่างบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เข้ามาบริหารจัดการ แทนที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่ไม่คล่องตัว จึงมักให้สัมปทานกับเอกชนโดยไม่ติดตามควบคุมเท่าที่ควร ซึ่งมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วคือ ปิโตรนาสของประเทศมาเลเซียที่จะมีคอนโทลรูม ตรวจสอบปริมาณการผลิตของเอกชนว่าตรงตามที่รายงานเป็นตัวเลขมาหรือไม่อย่างไร เพื่อที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ได้ตามสัดส่วนมี่ควรจะเป็น แต่ในร่าง พ.ร.บ.ของกระทรวงพลังงาน ไม่มีการเอ่ยถึงเรื่องเหล่านี้เลย และขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความจริงใจ ด้วยการปฏิบัติตามสัญญาว่า ทำด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ในเรื่องพลังงานของชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น