xs
xsm
sm
md
lg

ปรับระบบใหม่ ขีดเส้น1ปีสรุป"เอราวัณ-บงกช" เบรกปตท.ลงทุน2แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-กพช.เคาะ 4 แนวทาง วางกรอบบริหารสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุช่วงปี 65-66 ทั้งเอราวัณและบงกช เสนอให้รัฐเข้าถือหุ้น แย้มอาจเป็นคลังก็ได้ ขึ้นอยู่กับการศึกษา พร้อมดันเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐที่เหมาะสม เปิดกว้างทั้งผู้ลงทุนใหม่และเก่า ขีดเส้นภายใน 1 ปีต้องได้ข้อยุติ "บิ๊กตู่"ลั่นห้ามใครดอดไปเจรจานอกกรอบ รองโฆษกรัฐสารภาพแก้กฎหมายปิโตรเลียมส่อแววไม่เสร็จตามกำหนด ด้าน PDP ฉบับใหม่ฉลุย แต่ ปตท. เจอเบรกลงทุน 2 แสนล้าน ให้ล็อตแรกเพียง 1.39 หมื่นล้านเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (14 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า มีความเข้าใจในการทำงานของข้าราชการ ที่ต้องทำงานภายใต้นโยบายของรัฐบาล เพราะบางอย่างถึงแม้จะมีปัญหา แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องทำ จึงขอให้ทุกคนทำงานด้วยความระมัดระวังที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความไว้วางใจจากประชาชน จะใช้อำนาจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหาจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงตนเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบและดูแลภาพรวม จึงขอให้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเร็ว

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า ทุกฝ่ายจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะต่างคาดหวังว่าผลที่จะออกมา จะลดความไม่เข้าใจของคนลงได้บ้าง จึงขอให้ทุกคนใช้ความอดทนในการทำงานและดำเนินการทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่นคง จากความร่วมมือของประชาชนทุกฝ่าย

***"บิ๊กตู่"ลั่นห้ามเจรจานอกกรอบ

ต่อมาเวลา 11.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า กพช.มีการหารือในหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์โดยเฉพาะในส่วนการอนุมัติแผนพัฒนาผลิตกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 เรื่องกฎหมาย การลงทุนพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก การวางแผนลงทุนในระบบสายส่ง การวางระบบท่อก๊าซ ซึ่งจะไม่มีการเอื้อประโยชน์ใคร ทุกอย่างไม่มีการเจรจาเอื้อผลประโยชน์ ทุกอย่างต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงาน รวมถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์)

"ทุกเรื่องเขาตกลงกันที่ กพช. เรกูเลเตอร์อีก คุณจะเจรจากับใครต้องเอามติที่ประชุมไปคุย ไม่ใช่คุยส่วนตัว ไปคุยส่วนตัว ผมก็ไม่รับ จะเอามาเสนอผม ก็ไม่อนุมัติ ต้องเป็นไปตามนี้หลักการในห้องนี้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

***ย้ำเปิดสัมปทานรอบ21ยึดกฎหมาย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 นั้น หลักการต้องมีการเตรียมการให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำลังแก้ไขอยู่ ซึ่งจะไม่พูดว่าเป็นระบบสัมปทาน หรือระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) จะทำอะไรได้ทั้งนั้น เมื่อกฎหมายออกมาแล้ว ก็ให้เดินหน้าทันที ส่วนอายุสัมปทานที่กำลังจะหมดลงต้องยอมรับว่าขณะนี้ก๊าซในอ่าวไทยที่ราคาถูก 8
ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูนั้นได้ปรับตัวลดลง ในขณะที่หากนำเข้าจากเพื่อนบ้านหรือต่างประเทศ ราคาอยู่ที่ 10-12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และประเทศเหล่านั้น ก็มีแนวโน้มจะลดการส่งออกและเก็บไว้ใช้มากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ทั้งเมียนมาและมาเลเซีย หากประเทศไทยดำเนินการช้า ก็จะไม่ทันส่วนที่ต้องมาทดแทน

"ยิ่งช้าก็ยิ่งไม่ทันทดแทน ปีหน้าเขาลดแล้วนะ เมียนมาเขาก็ มาเลเซียเขาก็ลด เราเองก็ต้องมาทดแทนโดยเรื่องโรงไฟฟ้าในประเทศ ถ้าเรายังใช้ก๊าซมาก็จะเป็นแบบนี้ ถ้าใช้ลิกไนท์ได้บ้าง ก็คงไม่มีปัญหา มาทดแทนการใช้ก๊าซลดลง มันพันกันไปหมด"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

***สั่งเดินหน้าพลังงานทดแทน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องพลังงานทดแทน ต้องเน้นว่ามีทั้งบ้านพักและชุมชน วันนี้ตนเร่งให้ดูเรื่องสหกรณ์การเกษตร ที่จะทำให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่ต้องใช้เทคโนโลยี แต่ถ้าเราไปทำให้ตอนนี้ก็ไม่ทัน ไม่คุ้มค่า เพราะไม่มีสายไฟ สายส่ง ตนจึงเร่งให้ทันในแผนกรอบหน้าหรือกรอบต่อไป ที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะใช้แสงอาทิตย์หรืออะไรก็แล้วแต่ เกษตรกรจึงต้องดูแลตัวเองกันไปก่อน วันหน้าถ้าโรงงานไฟฟ้าจากขยะเกิดขึ้นได้ ก็จะช่วยเสริมในส่วนนี้ได้ไปถึงทั่วประเทศ วันนี้เราลงทุนด้านสายส่ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณหลายหมื่นล้าน โดยต้องวางแผนเส้นทางการดำเนินการเชื่อมต่อล่วงหน้า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ก็สามารถเปลี่ยนได้ แต่ต้องวางไว้ก่อน เพื่อเป็นข้อมูลการลงทุนของภาคเอกชน และการขยายตัวของชุมชน

โดยที่ผ่านมา ในการอนุมัติโควตาไฟฟ้า ที่ไม่ได้ดูสายส่งไฟฟ้า ทำให้เกินมาตลอด วันนี้เราพยายามปรับลดให้เหลือ 15 เปอร์เซ็นต์ จาก 40 เปอร์เซ็นต์ โดยที่เกินนั้น ก็ไม่สามารถนำมาสร้างและขายได้ เพราะไม่มีสายส่ง ซึ่งได้มีการอนุมัติไปแล้ว ก็ต้องไปไล่ตรงโน้น วันนี้เราเอาทุกอย่างมาแก้ไขหมด ถ้าต้านทุกอย่างก็ไปไม่ได้ ตนไม่ได้รู้จักใครสักคน การทำงานจึงอยู่ตรงนี้เท่านั้น

"ถ้าจะทำไฟฟ้าให้เข้าถึงทุกชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ต้องรู้เรื่องว่าพื้นที่ตรงไหน ทำได้อย่างไร และเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะวางสายส่งอย่างไรให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัย และให้บริการประชาชน รวมทั้งเตรียมแผนสำรองอนาคต และวางระบบโรงไฟฟ้าให้ได้"

***ไฟเขียวปรับลดสำรองน้ำมัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงการปรับลดปริมาณการสำรองน้ำมันของภาคเอกชน จาก 12 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะเก็บสต็อกทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เพราะต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บจำนวนมาก และวันนี้ราคาน้ำมันก็ถูกลง หากสำรองไว้มาก แล้วราคาตกลงก็จะเสียหายเปล่าๆ โดยทั้งหมดนี้ไม่ได้ประโยชน์ใคร เราปรับลดทุกบริษัท ไม่ใช่เฉพาะ ปตท. เท่านั้น ทุกอย่างอย่าไปจ้องแต่ ปตท. แต่ในมุมมองรัฐบาล ปตท. คือหนึ่งในบริษัทที่รัฐบาลมีสัดส่วนลงทุนเท่านั้น และปริมาณน้ำมันสำรองทุกบริษัท ต้องจัดเก็บไว้อยู่แล้ว

***ตามคาดศึกษาต่ออายุสัมปทาน 1ปี

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กพช. ได้เห็นชอบกรอบการพิจารณากรณีสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงในช่วงปี 2565-66 ซึ่งเป็นส่วนของแปลงสัมปทานเอราวัณ และบงกช ไว้ 4 แนวทางได้แก่ 1.ให้ความสำคัญการจัดหาระดับการผลิตและการลงทุนในแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว 2.คัดเลือกผู้ดำเนินงานด้วยการเปิดกว้างให้ผู้ที่ลงทุนปัจจุบันและรายใหม่เข้ามาโดยต้องแก้ไขกฏหมายปิโตรเลียม ซึ่งอาจเป็นระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC ) หรือรับจ้างผลิต 3.เพิ่มสัดส่วนของรัฐในแหล่งนี้จากเดิมไม่มีเลย 4.ศึกษาเรียกเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐที่เหมาะสม โดยมอบกระทรวงพลังงานคณะกรรมการปิโตรเลียมนำกรอบไปศึกษาและหาข้อยุติภายในระยะเวลา 1 ปี

สำหรับแปลงที่จะหมดอายุมี 3 สัมปทานกับ 5 แปลงสำรวจ คือ แหล่งเอราวัณของบริษัท เชฟรอน และคณะ หมดอายุมี.ค.2565 และแหล่งบงกช ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิต หมดอายุเม.ย.2566 รวมกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันคิดเป็น 76% ของการผลิตทั้งหมดในอ่าวไทย ซึ่งกรอบดำเนินการ ไม่ได้ระบุว่ารัฐที่จะเข้าไปถือเพิ่มเป็นใคร ซึ่งก็อาจจะเป็นกระทรวงการคลังก็ได้

"ทั้งหมดต้องรอผลศึกษาก่อน ส่วนสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่ได้มีการคุยในครั้งนี้ เพราะได้หารือกันในสภาอยู่แล้วในเรื่องของกฏหมายต่างๆ แต่ทุกฝ่ายก็เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำต่อ"นายคุรุจิตกล่าว

ทั้งนี้ กพช.ได้รับทราบรายงานถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ชี้แจงว่าแปลงสัมปทานดังกล่าวเมื่อหมดอายุลงตามกฏหมายจะต่อสัญญาไม่ได้จะกลายเป็นของรัฐ ดังนั้น ถ้าไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อ จะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม เพราะแหล่งก๊าซฯ อ่าวไทยเป็นกระเปราะ ต้องขุดหลุ่มจำนวนมาก เพราะหลุมมีอายุเพียง 3 ปี ลงทุน 80,000-100,000 ล้านบาทต่อปี ก็จะกระทบให้ปริมาณก๊าซทยอยลดลงจนถึงปี 2555-56 และหายไปทั้งหมด 2.1-2.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทน ซึ่งมีราคาแพง ก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) 85 สตางค์ต่อหน่วย

***เผยมติเกิดขึ้นหลังถูก "ปิยสวัสดิ์"ขู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติของ กพช. ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ได้ออกมาระบุว่า รัฐจะสูญรายได้ 7.15 แสนล้านบาท รวมถึงค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น 90 สตางค์ต่อหน่วย หากสิ้นปี 2558 นี้ รัฐบาลไม่มีความชัดเจนต่ออายุสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งก๊าซบงกช

***แย้มแก้กฎหมายปิโตรเลียมส่อไม่เสร็จ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมพ.ศ.2514 และกฎหมายรายได้ภาษีปิโตรเลียม อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งได้หารือกันในรายละเอียดต่างๆ และคงจะต้องมีการนำเสนอให้กฤษฏีกาพิจารณาก่อนเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดที่เคยกำหนดไว้ ต้องให้เสร็จภายใน 3 เดือน แต่มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ทัน

ส่วนการเปิดสัญญาเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ก็จะต้องรอกฏหมายที่หลักการจะมีรูปแบบทั้งสัมปทาน PSC และรับจ้างผลิต

***เห็นชอบแผนพีดีพีปี2558-79

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ.2558-79 (PDP2015) หรือแผนไฟฟ้าระยะ 21 ปี ซึ่งกำหนดการผลิตไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดแผนหรือปี 2579 ไว้ที่ 70,335 เมกะวัตต์ โดยมีสัดส่วนเชื้อเพลิงจากต้นแผนเทียบเมื่อสิ้นสุดแผน ดังนี้ ลดใช้ก๊าซฯ จาก 65% เหลือ 40% ถ่านหินจาก 18% เป็น 20-25% พลังงานหมุนเวียนจาก8% เป็น 19-20% นิวเคลียร์ 5% เป็นต้น และรักษาระดับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุของแผน PDP ฉบับนี้อยู่ที่ 4.587 บาท/หน่วย

***เบรกปตท.ลงทุน2แสนล้าน

นายชวลิตกล่าวอีกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแผน PDP 2015 ฉบับใหม่ กพช. ได้พิจารณาวงเงินลงทุนที่ บมจ.ปตท. จะลงทุนโครงข่ายระบบท่อก๊าซฯ ซึ่งมีวงเงินรวม 208,500 ล้านบาท แยกเป็นส่วนที่ 1 วงเงิน 143,000 ล้านบาท ได้อนุมัติการลงทุนระยะที่ 1 จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 13,900 ล้านบาท กำหนดเสร็จ 2560-2562 ได้แก่ 1. การปรับปรุงแท่นผลิตอุปกรณ์และระบบท่อส่งก๊าซให้โรงไฟฟ้าขนอมใหม่ 2.ระบบท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลเชื่อมแหล่งอุบล (อ่าวไทย) และ3.สถานีเพิ่มความดันก๊าซฯบนระบบท่อส่งก๊าซวังน้อย-แก่งคอย

ส่วนระยะที่ 2 ที่มีเงินลงทุน 117,100 ล้านบาท กำหนดเสร็จปี 2564 ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 5 จากระยองไปไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ-ใต้ ระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบกจากสถานีควบคุมความดันก๊าซฯราชบุรี-วังน้อยปีที่ 6 ไปจ.ราชบุรี และระยะที่ 3 เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท กำหนดเสร็จปี 2564ได้แก่ การลงทุนสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ บนระบบท่อส่งก๊าซฯราชบุรี-วังน้อย และสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ กลางทางบนระบบท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 5 ไม่ได้อนุมัติ

นอกจากนี้ ยังไม่อนุมัติการลงทุนในส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกับการจัดหา นำเข้า LNG เงินลงทุน 65,000 ล้านบาท กำหนดเสร็จปี 2565-66 ได้แก่ คลังLNGแห่งใหม่ และคลังลอยน้ำ (FSRU) ในพื้นที่ภาคใต้

"โครงการที่ไม่ได้อนุมัติ กพช.ได้รับทราบหลักการ และมอบให้ไปศึกษารายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 3 การไฟฟ้าในรายละเอียดเพื่อที่จะได้นำกลับมาเสนอใหม่ต่อไป"นายชวลิตกล่าว

***SPRCเลื่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

นายชวลิตกล่าวว่า กพช.เห็นชอบขยายระยะเวลาการจำหน่ายหุ้นของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ให้แก่ประชาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกไปจากกำหนดเดิมภายในมิ.ย.2558เป็นภายในสิ้นปี 2558 โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานเจรจากับ SPRC เพื่อกำหนดระยะเวลาเข้าจดทะเบียนและจำหน่ายหุ้นที่เหมาะสม และดำเนินการแก้ไขสัญญาต่อไป โดยหลักการจะกระจายหุ้นไม่ต่ำกว่า 30%

***ลดสำรองน้ำมันช่วยให้ราคาลง9สต.

นายชวลิตกล่าวว่า สำหรับการลดอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายให้เหลือจำนวนวันสำรองประมาณ 25 วัน จากเดิม 43 วัน โดยแบ่งเป็นน้ำมันดิบ 6% และน้ำมันสำเร็จรูปจากเดิม 6% ลดเหลือ 1% พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่เหมาะสมต่อไปนั้น จะส่งผลดีต่อประชาชน เพราะทำให้ต้นทุนในการสำรองของประเทศลดลง และคาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง 9 สตางค์ต่อลิตร โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีผลไม่เกินเดือนมิ.ย.นี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เลื่อนกำหนดวันออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ FiT (Feed-in Tariff) ภายใต้กลไกการแข่งขันด้านราคา จากเดิมภายในไตรมาสแรกของปี 2558 เป็นภายในเดือนก.ค.2558 โดยไม่รวมพลังงานน้ำและขยะในการประกาศรอบนี้ และสำหรับพลังงานน้ำและขยะจะไม่ดำเนินการด้วยกลไกการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่และควรดำเนินการส่งเสริมเป็นการเฉพาะตามนโยบายรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น