xs
xsm
sm
md
lg

รัฐขู่ขึ้นค่าไฟ อ้างไม่สำรวจก๊าซฯเพิ่ม ต้องนำเข้าLNGราคาแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ประยุทธ์” เรียกผู้บริหารกระทรวงพลังงานถกเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 หลังโดนฟ้องศาลฯ “อารีพงศ์” เปิดชี้แจง อ้างแค่ยื่นสิทธิ์ขอสำรวจการให้สัมปทานต้องรออีก 8 เดือน ยอมรับรอว่าศาลฯจะรับฟ้องหรือมีคำสั่งศาลฯออกมาอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติแจงเร่งจัดหาเพราะการใช้ก๊าซฯเพิ่มขึ้นแต่การจัดหาในประเทศที่ถูกกว่าน้อยลงการนำเข้าLNGจะส่งผลให้ค่าไฟต้องปรับขึ้นแน่ “ปิยสวัสดิ์”หนุนรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปราคาพลังงาน เดินหน้าสัมปทาน21 ต่ออายุสัมปทานที่จะหมดลงของเอราวัณ บงกช จวกประชานิยมพลังงานงามหน้าไม่น้อยกว่าจำนำข้าว 3 ปีผลาญแล้ว 5.4 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้เรียกหารือนอกรอบกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เช่น นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ห้องรับรองภายในตึกสันติไมตรี

โดยภายหลังหารือ นายอารีพงศ์ และนายคุรุจิต ร่วมให้ข้อมูลโดยยืนยันว่าการดำเนินการ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21ไม่ได้ทำไปด้วยความเร่งรีบ เพราะมีการเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการยื่นสิทธิ์เพื่อขอสำรวจ ยังไม่ใช่การให้สัมปทาน คาดว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 8 เดือน ทั้งนี้ การดำเนินการถือเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีข้อเสนอเพิ่มเติมก็สามารถส่งต่อให้กระทรวงพลังงานได้ แต่ข้อเสนอเหล่านั้น ควรอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อ

“การที่เรามองว่าไทยเข้าสู่วิกฤตการใช้พลังงานเพราะเราพึ่งก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากเกือบ70%และสถิติการใช้ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีแต่การจัดหาก๊าซฯในประเทศกลับลดน้อยลง การนำเข้าในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือLNG มีราคาแพงมากกว่าก๊าซฯในอ่าวไทยถึง 2 เท่าหากเรายังคงเช่นนี้อยู่ค่าไฟฟ้าของไทยจะสูงขึ้นอย่างมากเพราะสัดส่วนLNG ที่ราคาแพงจะถูกไปทดแทนก๊าซฯที่ผลิตในประเทศที่มีราคาต่ำกว่า การสัมปทานก็เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ไทยค้นพบแหล่งพลังงานเพิ่มซึ่งจะมีราคาต่ำกว่าการนำเข้าLNG แน่นอน”นายอารีพงศ์กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องระงับเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นายอารีพงศ์กล่าวว่า กระทวงพลังงานกำลังรอดูว่าศาลจะรับฟ้อง และมีจะมีคำสั่งอะไรออกมาหรือไม่ โดยหลังจากนี้ไปผู้บริหารกระทรวงพลังงานจะพยายามชี้แจงต่อสื่อ สังคม รวมถึงกลุ่มต่อต้านถึงกรณีนี้ ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้รีบร้อนดำเนินการเพราะระยะห่างระหว่างรอบที่ 20 กับรอบล่าสุดห่างกันถึง 7 ปี และในฐานะที่กระทรวงพลังงานมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศต้องดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการบริหารด้านพลังงาน เพื่อให้ประเทศมีพลังงานที่เพียงพอ หากไม่ทำอะไรเลยในอีก 6-7 ปีข้างหน้าไทยเริ่มมีความเสี่ยงในด้านพลังงาน

กรณีที่มีข้อเรียกร้องชะลอการเปิดสัมปทานและให้รอการปฏิรูปจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ว่า การปฏิรูปพลังงานของสปช.น่าจะเป็นการมองในภาพใหญ่ ซึ่งการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง และไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างไรก็ตามหากสปช.มีข้อสรุปใดๆ ออกมาเรื่องสัมปทาน สามารถนำมาปรับแก้ได้จนกว่าจะมีการเสนอรายชื่อบริษัทที่ผ่านคัดเลือกเข้าสู่ครม.ในช่วงปีหน้า

สำหรับข้อกังวลในการเรียกเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐนั้น นายคุรุจิต ชี้แจงว่า ระบบแบ่งปันผลผลิต กับระบบสัมปทานปิโตรเลียมมีความไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และการออกแบบเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งธรรมชาติ หากพบเจอในปริมาณที่มาก ย่อมจะได้ค่าตอบแทนสูง แต่แหล่งก๊าซธรรมชาติของไทย อาจจะไม่มากเหมือนกับประเทศมาเลเซีย หากมีการเรียกเก็บในอัตราที่สูง อาจจะสุ่มเสี่ยงไม่มีบริษัทเข้ามาขอสำรวจ เนื่องจากการสำรวจแต่ละครั้ง ใช้เครื่องมือและต้นทุนสูง ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ การมีแหล่งก๊าชธรรมชาติใช้ในประเทศมากกว่าความต้องการหารายได้เข้ารัฐ

นายคุรุจิต ยังได้กล่าวยืนยันด้วยว่า การพิจารณาให้พื้นที่สัมปทานจะไม่อยู่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ เขตอนุรักษ์รักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงแหล่งอุทยานแห่งชาติ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างแน่นอน รวมทั้ง การกำหนดแปลงสัปทานในรอบที่ 21 ในแปลง G1/57 ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนในเขตแดนไทย-กัมพูชา แต่อยู่ในไหล่ทวีป ที่เป็นสิทธิอธิปไตยของไทย นอกจากนี้แปลงสัมปทานในพื้นที่ภาคอีสาน จะไม่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร แต่จะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยกระทรวงพลังงาน จะมีการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนได้เข้าใจต่อไป

**โฆษกฯระบุ'นายกฯ'เผยต้องดำเนินการเปิดสำรวจ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวานนี้ (28 ต.ค.) ว่า นายกฯ ยังเป็นห่วงเรื่องการปฏิรูปพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องการเชิญชวนให้บริษัททั้งหลายเข้ามาสำรวจเพื่อขุดเจาะปิโตรเลียม ก๊าซ ใน 29 แปลง โดยมีรองปลัดกระทรวงพลังงานมาชี้แจงให้นายกฯ ฟัง ซึ่งเคยชี้แจงแล้ว1 รอบ คิดว่าน่าจะสร้างความเข้าใจได้มากขึ้นว่า ทำไมจะต้องดำเนินการในช่วงนี้ ทำไมรอคอยการปฏิรูปไม่ได้ ตนขอเท้าความว่าที่ต้องทำในช่วงนี้ เพราะต้องการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน มันไม่ใช่เรื่องการลงทุนเรื่องพลังงานอย่างเดียว แต่มีการลงทุนหลากหลายรูปแบบ ถ้าเขารู้ว่า เราโลเล โลเล ก็จะหนีไปประเทศต่างๆ หมด มันไม่แน่ว่าจะมีอะไรดึงดูดใจเขากลับมาได้ในวันข้างหน้า ประกอบกับการเปิดให้บริษัทเข้ามาสำรวจ ลงทะเบียน เพื่อใครอยากจะสำรวจจะได้มีเวลา 120 วัน นายกฯ ได้เร่งรัดให้นำเรื่องนี้เข้าสู่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นเรื่องแรก และอยากให้ได้ข้อยุติในเบื้องต้น ในช่วงระยะเวลา 2-3 เดือน เพื่อจะได้เห็นว่า เราไม่ได้ทิ้ง หรือละเลยคำร้องของบรรดาผู้เคลื่อนไหว ที่ไม่เห็นด้วย

อนึ่ง นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ระบุก่อนหน้านี้ ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประเทศกัมพูชา โดยส่วนหนึ่งจะมีการเจรจาเพื่อร่วมกันพัฒนาโรงไฟฟ้าจากถ่านหินในกัมพูชา เพื่อแบ่งบางส่วนที่เหลือจำหน่ายขายกลับมาไทย เนื่องจากปัจจุบันไทยได้พัฒนาระบบสายส่งไปยังกัมพูชาบ้างแล้ว

ทั้งนี้ ไทยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเป็น 30% ตามแผนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ โดย เตรียมเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่อีกหลายแห่งในไทย รวมถึงการเจรจา ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในเมียนมาร์ และกัมพูชาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ มีมติรับทราบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ การแต่งตั้งประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงานและกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 95/2557 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 จำนวน 7 ราย ดังนี้ นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย นายไกรสีห์ กรรณสูต นางดวงมณี โกมารทัต นางปัจฉิมา ธนสันติ นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ นางสาววิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ และนายวีระพล จิรประดิษฐกุล

***ปิยสวัสดิ์จวกประชานิยมพลังงานแค่3ปีสูญ5.4แสนล.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวในงานสัมนา IRPC Business Forum 2014 เปิดโลกเศรษฐกิจปรับแนวคิดสู่ความยั่งยืน ซึ่งจัดโดยบมจ.ไออาร์พีวี ว่า คาดหวังว่ารัฐบาลนี้จะใช้โอกาสราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงเร่งปฏิรูปราคาพลังงานให้เหมาะสม เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้ความชัดเจนถึงนโยบายการต่ออายุสัมปทานของแหล่งเอราวัณ(เชฟรอน)และบงกช(ปตท.สผ.) และเดินหน้าเรื่องพลังงานทดแทนเพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

“ราคาน้ำมันโลกที่ลดลงเวลานี้ผมเห็นว่าภาษีสรรพสามิตดีเซลควรจะปรับขึ้นได้ทันที่ 4 บาทต่อลิตร โดยจะไม่ทำให้ราคาขายปลีกดีเซลเปลี่ยนแปลงเลย เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเองก็เก็บเงินเข้าสะสมได้มาก ส่วนราคาอื่นๆก็อาจต้องปรับขึ้นเพราะยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริง ซึ่งอาจบอกได้ว่าไม่เคยมียุคไหนในประวัติศาสตร์ไทยที่มีการบิดเบือนราคาพลังงานมากเท่ากว่ายุคนี้แต่ก็ดีขึ้นบ้างที่รัฐบาลนี้มาเริ่มปรับบ้างแล้วแต่จะต้องเดินหน้าต่อไป”นายปิยสวัสดิ์กล่าว

ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าพลังงานปีละ 1 ล้านล้านบาทแม้ว่าไทยจะผลิตและสำรวจพลังงานในประเทศมากกว่า 40 ปีแต่ไทยก็ยังหาไม่เพียงพอกับความต้องการต้องนำเข้าการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงจึงจำเป็น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าที่ไทยพึ่งก๊าซธรรมชาติถึง 68% ดังนั้นก๊าซฯมีบทบาทสำคัญในเชิงพาณิชย์มากกว่าน้ำมันในขณะนี้แต่ก๊าซฯสำรองของไทยกลับลดลงต่อเนื่องในช่วง5-6 ปีที่ผ่านมาการผลิตในประเทศไม่สามารถเพิ่มขึ้นเพราะมีแต่กลุ่มคนคอยคัดค้านจึงหวังว่ารัฐบาลนี้จะไม่หวั่นไหวไปชะลอการเปิดสัมปทานตาม

ทั้งนี้เพราะการต่อต้านนโยบายรัฐโดยให้ข้อมูลที่บิดเบือนทำให้การเมืองต้องกำหนดนโยบายประชานิยมด้านพลังงานช่วง4-5 ปีที่ผ่านมาทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียเงินไม่น้อยไปกว่าการจำนำข้าวโดยเฉลี่ยต้องอุดหนุนราคาพลังานถึงปีละ 1.8 แสนล้านบาท และเฉพาะ 3 ปีคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์สูงกว่าที่ควรจะเป็นเพราะถูกจัดเก็บเงินจากกองทุนน้ำมันฯเพื่อไปอุดหนุนราคาLPG โดยLPG กองทุนฯต้องจ่ายเงินอุดหนุนราคาปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท โรงกลั่นปีละ 5.7 พันล้านบาทและปตท. ส่วนที่กำหนดราคาโรงแยกไว้ต่ำอีก 9 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่ราคา NGV ก็ต่ำโดยปตท.ขายขาดทุน 4.50 บาทต่อกก.มีการอุดหนุนราคา NGV ปีละ 1.67 หมื่นล้านบาท และภาษีสรรพสามิตดีเซลและNGV ที่รัฐบาลไม่เก็บอีก 1.4 แสนล้านบาทต่อปี และจากการที่ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาผลิตไฟทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงเฉลี่ย 10 สตางค์ต่อหน่วยหรือคิดเป็น 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น