xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สัมปทานรอบที่ 21 ต่อยอด “แม้ว” ดีลใหญ่ที่ต้องรีบปิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใครจะทักจะท้วงอย่างไรก็รอช้าไม่ได้แล้ว งานนี้ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน ขอโชว์ผลงานชิ้นเอกอุ ออกประกาศให้เอกชนยื่นสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หลังจากปล่อยให้น้ำมันดีเซลและก๊าซฯขึ้นราคาไปเรียบร้อยโรงเรียนคสช. เป็นงานแรกประเดิมเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน
      
   จะให้อั้นต่อไปอย่างไรไหว ก็พรรคพวกเดียวกันส่งเสียงขู่ให้ประชาชนกลัวนำร่องมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่าก๊าซฯอ่าวไทยจะหมดในอีก 6-8 ปีข้างหน้านี้แล้ว

แต่ช้าก่อน คำว่าก๊าซฯหมดนี่บอกข้อมูลกันแค่ครึ่งเดียว เพราะไม่ได้หมายความว่าก๊าซฯจะหมดไปจริงๆ คำว่าหมดไปในทีนี้หมายถึงแปลงสัมปทานที่ได้อนุญาตให้ขุดเจาะ สำรวจ และผลิต จะหมดอายุลง และตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต่อสัมปทานหรือไม่ อย่างไร และยังใช้เป็นข้ออ้างถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องเปิดรีบสัมปทานรอบใหม่ รอช้าไม่ได้แล้ว
        
    ส่วนข้อทักท้วงของกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานฯ ที่ว่าพื้นที่สัมปทานเดิมที่ยังไม่ได้ทำการผลิต ตามข้อมูลจากรายงานประจำปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน หน้า54-55 จำนวน202,722.68ตารางกิโลเมตร (ส่วนพื้นที่ที่มีการผลิตมีเพียง 17,418.419 ตารางกิโลเมตร) ควรไปจัดการพื้นที่สัมปทานที่มีอยู่นั้นเสียก่อนแล้วค่อยเปิดใหม่นั้น เป็นคนละเรื่องกัน เปิดใหม่ก็คือเปิดใหม่ ส่วนที่สัมปทานไปแล้วและกอดเอาไว้ไม่ทำอะไรก็ปล่อยไว้ก่อน นั่นมันของตายอยู่แล้ว สัมปทานรอบใหม่หมายถึงเค้กก้อนใหม่ ถึงเวลาเอาทรัพยากรของชาติสมบัติของประชาชนมาแบ่งปันกันแล้ว 
        
    ในการเปิดให้สัมปทานคราวนี้ นายณรงค์ชัย บอกว่า ภายในเดือน ต.ค. 2557 กระทรวงพลังงาน จะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนผู้สนใจยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 โดยให้เหตุผลว่า จะต้องรีบเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในอนาคต

 “การที่ไทยจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศรวมถึงการจัดหาจากต่างประเทศสิ่งสำคัญก็คือจะต้องให้ราคาที่จะจัดหาและนำเข้ามาคุ้มค่าและคุ้มทุน” นายณรงค์ชัย อธิบายเหตุผล

ขณะนี้คณะกรรมการปิโตรเลียมได้เห็นชอบแนวทางการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่แล้ว โดยมีแหล่งที่จะเปิดสำรวจ 29 แปลงทั้งบนบกและทางทะเล ซึ่งเพิ่มจากแผนเดิมที่รวมกันมีเพียง 27 แปลง โดยขั้นตอนระหว่างนี้จะประกาศราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดพื้นที่เปิดสัมปทาน จากนั้นจะให้เอกชนมาพิจารณาเทคนิคการสำรวจว่าแปลงใดที่จะเสนอ คาดว่าจะมีการยื่นขอสำรวจจริงได้อีก 3 เดือนข้างหน้า

สำหรับการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุประมาณปี 2565-2566 นายณรงค์ชัย จะพยายามสรุปให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับ

ยังตามมาด้วยการเจรจาพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาด้วย ที่มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการดำเนินการร่วมกันอยู่ แต่เกิดปัญหาทางการเมืองส่งผลให้ไม่สามารถตกลงเรื่องเส้นเขตแดนได้ ถ้าหากปัญหานี้ยุติลงก็สามารถที่จะตกลงร่วมกันได้ง่ายขึ้นโดยก็จะพยายามสรุปข้อตกลงให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้

ชัดเจนว่า แต่ละเรื่องที่ยังเป็นปัญหาค้างคาอยู่ รัฐบาลทหารที่มีคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารประเทศ จะใช้อำนาจในมือจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อย

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21

ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่อยู่ในมือบริษัทยักษ์พลังงานข้ามชาติ คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ, ปลาทอง และแหล่งสตูล และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช

ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบโดยอิงราคาตลาดโลก ซึ่งเรื่องนี้วันที่ 22 ต.ค. 2557 จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีกครั้ง

เมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนรัฐบาลไหนก็ไม่กล้า หรือจัดการไม่เสร็จสักที เดี๋ยวรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารจะจัดการให้เรียบร้อย

เป็นการต่อยอดความหวังที่ผลักดันกันมาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว “แม้ว” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ลุล่วง และรีบชิงปิดดีลใหญ่ให้เสร็จสมอารมณ์หมายเสียที

นายณรงค์ชัย ยังพูดถึงเรื่องที่มีเสียงเรียกร้องให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมจะตกเป็นของรัฐแทนระบบสัมปทานที่ปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเอกชนด้วย

“ผมว่ามันไม่ต่างกันในเรื่องประโยชน์ที่จะได้จากรัฐ ตัวอย่างแหล่งก๊าซฯภูฮ่อม 6 ปีรัฐก็ได้ค่าภาคหลวง ภาษีรวมเป็นเงินถึงหมื่นล้านบาท 40% ก็ตกกับชุมชนในพื้นที่”

ที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่นายณรงค์ชัยมีทัศนคติว่า ระบบแบ่งปันผลผลิตกับระบบสัมปทาน ภาครัฐได้ประโยชน์ไม่ต่างกัน ภาคประชาชนกลับไม่เห็นเช่นนั้น

ดร.นพ สัตยาศัย” ประธานชมรม “วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมปฏิรูปประเทศไทย” (วศ.รปปท) ซึ่งติดตามข้อมูลมาอย่างต่อเนื่องให้ความเห็นว่า ระบบแบ่งปันผลผลิต จะช่วยให้การทำงานโปร่งใสขึ้น กล่าวคือ รัฐบาลจะต้องมีคนมอนิเตอร์ตลอดเวลาว่า มีน้ำมันเท่าไหร่ แต่เวลานี้ ไม่รู้เลยว่าสัมปทานแล้ว เอกชนเอาไปขายเท่าไร ขายเท่าไรก็เป็นเงินเอกชน เพราะรัฐ ได้เฉพาะค่าสัมปทาน ค่าภาคหลวง แต่ถ้าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เอกชนจะเอาปิโตรเลียมไปขายตามอำเภอใจไม่ได้

“สัมปทานได้เงินมาง่ายๆ 3-4 หมื่นล้าน เขาก็ว่าเยอะแล้ว แต่ผมคิดว่ายังน้อยไป”ดร.นพกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์ ดร.นพ สัตยาศัย หน้า 20-21)

คงต้องย้ำอีกครั้งว่า พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 มีอายุ 43 ปี แล้วสมควรมีเปลี่ยนแปลง แก้ไขให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการเปลี่ยนระบบจากสัมปทานที่ยกกรรมสิทธิให้เป็นของเอกชน มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ที่เป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิในปิโตรเลียม ข้อมูล และอุปกรณ์ กลับมาเป็นของประเทศอีกครั้ง ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกันหมดแล้ว

ถามต่อว่า ใช่หรือไม่ที่การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เท่ากับเป็นการทุบหม้อข้าวของเชฟรอนและปตท.สผ. และบรรดานอมินีทั้งหลาย ทั้งยังหมายรวมถึงกองทุนฝรั่งหัวดำที่ถือหุ้นในเครือปตท.และเชฟรอนด้วย เพราะนี่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมครั้งใหญ่ของประเทศที่ดึงเอากรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้จากมือเอกชนมาเป็นของรัฐแทน

ท่ามกลางแรงกดดันจากภาคประชาชนยิ่งมากเท่าไหร่ ก็หมายถึงความไม่มั่นคงของยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน ดังนั้น นอมินีของกลุ่มทุนพลังงานที่มีอยู่ในทุกองคาพยพจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ความกลัวว่าจะสูบผลประโยชน์ไม่เต็มอิ่มจากทรัพยากรที่เป็นสมบัติของประชาชนคนไทยของเชฟรอนและปตท.สผ.นั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยก่อนหน้านี้นายทรงภพ พลจันทร์ อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2557 ว่า บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ, ปลาทอง และแหล่งสตูล และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช เสนอว่า หากจะให้ผู้รับสัมปทานเดิมเป็นผู้ผลิตแหล่งดังกล่าวต่อ ควรจะใช้ระบบสัมปทานตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 หรือ Thailand I ที่ใช้อยู่เดิม คือให้ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่จำหน่าย และเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ

แต่ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต้องการให้ใช้ระบบสัมปทานตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2532 หรือ Thailand III มากกว่า ที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องเสียค่าภาคหลวงในอัตราแบบขั้นบันไดตามระดับการผลิตในอัตราร้อยละ 5-15 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขาย และจ่ายผลประโยชน์พิเศษในอัตราแบบขั้นบันไดระหว่างร้อยละ 0-75 ของรายได้ปิโตรเลียมรายปีก่อนหักภาษี ในกรณีผู้รับสัมปทานมีกําไรสูงกว่าปกติ (Windfall Profit) เช่น กรณีที่พบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ หรือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงมาก เป็นต้น ขณะที่ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจะจัดเก็บในอัตราเท่ากับ Thailand I ซึ่งจะทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับรัฐมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังศึกษาทางเลือกในการบริหารจัดการอื่นๆ เช่น ควรนำแหล่งสัมปทานดังกล่าวมาเปิดสัมปทานครั้งใหม่ หรือให้ภาครัฐนำมาบริหารเอง

แต่วันนี้ นายทรงภพ กระเด็นจากเก้าอี้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ ไปเป็นผู้ตรวจราชการตามคำสั่ง คสช.แล้ว โดย คสช.ได้ตั้งนายคุรุจิต นาครทรรพ มารับตำแหน่งแทน

แน่นอน เป็นนายคุรุจิต คนเดียวกันที่ถ่างขาควบตำแหน่งบอร์ดปตท. และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ด้านพลังงาน)

การที่จะต่ออายุสัมปทานให้กับเชฟรอนและปตท.สผ. หรือเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต มีความหมายและมีความสำคัญต่อเชฟรอน, ปตท.สผ. ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างยิ่งยวด เพราะแหล่งก๊าซฯที่ทั้งสองบริษัทได้สัมปทานมีกำลังผลิตก๊าซฯมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณก๊าซฯที่ผลิตทั้งหมดของประเทศ

กล่าวคือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมเชฟรอนมีกำลังผลิต 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งของ ปตท.สผ.มีกำลังผลิตประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือรวมกันเป็นกำลังการผลิต 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณก๊าซฯที่ผลิตได้ทั้งหมดของประเทศไทยที่ 3,766 ล้านลูกบาศก์ฟุต นั่นเป็นเหตุผลที่กระทรวงพลังงาน ยกขึ้นมาอ้างเสมอว่า หากไม่มีการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งดังกล่าวต่อเนื่อง จะทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงมาเป็นเชื้อเพลิงซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

ความจริงแล้ว การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ หรือการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม แม้กระทั่งการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ดูเหมือนกระทรวงพลังงานและนอมินีกลุ่มทุนจะเร่งร้อน เร่งเร้า เหลือคณา เมื่อเทียบกับความตั้งใจตั้งแต่แรกเริ่มของคสช. ที่จะขอพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ รอบด้านและขอฟังเสียงของทุกฝ่าย โดยแต่งตั้งสภาปฏิรูปฯขึ้นมาเดินหน้าปฏิรูปประเทศทุกภาคส่วน รวมทั้งด้านพลังงานด้วย

แล้วทำไมกระทรวงพลังงานถึงไม่รอสภาปฏิรูปฯ แม้จะเป็นสภาตรายางที่มีแต่กลุ่มทุนพลังงานและนอมินี ก็น่าจะรอกันหน่อย จะได้ดูเนียนใสไร้ที่ติ


กำลังโหลดความคิดเห็น