xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 ต.ค.2557

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.ไม่พลิกโผ “เทียนฉาย” นั่งประธาน สปช. “บวรศักดิ์-ทัศนา” รอง ปธ. ด้าน “บิ๊กตู่” นัดถก ครม.-คสช.เลือก กมธ.ยกร่าง รธน. 4 พ.ย.!
(ซ้าย) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ได้รับเลือกเป็นประธาน สปช. (ขวา) นายอลงกรณ์ พลบุตร  ถูกเสนอชื่อเป็นประธาน สปช.เช่นกัน แต่ถอนตัว
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ได้มีการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) นัดแรก เพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปช. โดยนายชัย ชิดชอบ ได้เสนอชื่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน สปช. ขณะที่นายชาลี เจริญสุข เสนอชื่อนายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นประธาน สปช.เช่นกัน แต่นายอลงกรณ์ขอถอนตัว โดยอ้างว่ามีประธานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอยู่ในใจแล้วคือนายเทียนฉาย เมื่อไม่มีใครเสนอชื่อแข่ง จึงถือว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เลือกนายเทียนฉายเป็นประธาน สปช.

หลังจากนั้น ที่ประชุมได้ให้นายเทียนฉายแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนเลือกรองประธาน สปช.คนที่ 1 ซึ่งนายเสรี สุวรรณภานนท์ เสนอชื่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อไม่มีใครเสนอชื่อคนอื่นแข่ง จึงถือว่านายบวรศักดิ์ได้รับเลือกเป็นรองประธาน สปช.คนที่ 1 โดยเอกฉันท์ จากนั้นที่ประชุมได้ให้นายบวรศักดิ์แสดงวิสัยทัศน์ ก่อนเลือกรองประธาน สปช.คนที่ 2 โดยนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา เสนอชื่อ น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธาน สปช.คนที่ 2 ขณะที่นายนิมิต สิทธิไตรย์ เสนอชื่อนายประชา เตรัตน์ เป็นรองประธาน สปช.คนที่ 2 เช่นกัน

หลังจากที่ประชุมให้บุคคลทั้งสองแสดงวิสัยทัศน์แล้ว ที่ประชุมได้ให้สมาชิกลงคะแนนลับ ผลปรากฏว่า น.ส.ทัศนา ได้รับเลือกเป็นรองประธาน สปช.คนที่ 2 ด้วยคะแนน 151 ต่อ 88 งดออกเสียง 3 บัตรเสีย 1

ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า สปช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หรือไม่ ก็ได้ความชัดเจนจาก ป.ป.ช.แล้วว่า ไม่ต้องยื่น เนื่องจาก สปช.เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการ ซึ่งใช้ความรู้ความสามารถในการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป ทำงานเพื่อบ้านเมืองให้มีผลดียิ่งขึ้น และไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ใดๆ

สำหรับการสรรหากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน หลังการประชุมนัดแรกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้สั่งให้มีการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี(ครม.) และ คสช.ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เพื่อเสนอชื่อกรรมาธิการยกร่างฯ ในส่วนของ คสช. 5 คน + ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ อีก 1 คน ขณะที่ ครม.เสนอรายชื่อกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ 5 คน ส่วนที่เหลืออีก 25 คนนั้น แบ่งเป็นการเสนอชื่อโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 5 คน และ สปช.เสนอรายชื่อได้ 20 คน ซึ่ง สปช.ได้นัดประชุมเพื่อรับรองรายชื่อในวันที่ 28 ต.ค. โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. เผยว่า ที่ประชุมวิป สปช.มีมติว่า รายชื่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ สปช.จะเสนอ 20 คนนั้น จะเป็นคนใน 15 คน และคนนอก 5 คน โดยจะนำมติดังกล่าวให้ที่ประชุม สปช.วันที่ 27 ต.ค.เห็นชอบ เมื่อเห็นชอบแล้ว จะให้ สปช.ทั้ง 11 ด้าน และ 4 ภาค ไปประชุมเพื่อเสนอชื่อบุคคลเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ในแต่ละสาขา โดยเสนอชื่อได้มากกว่า 1 คน สำหรับบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และต้องอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ที่มายกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิทำงานด้านการเมืองเป็นเวลา 2 ปี

2.“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะ กพช.เคาะเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 อ้างเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะที่ภาค ปชช.จี้ทบทวน เล็งฟ้องศาล ปค.!

(บน) กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.แถลงค้านเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 (ล่าง) นางคริสตี้ เคนนีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำไทย นำคณะทูตสหรัฐฯ เยือนแท่นผลิตแหล่งปลาทองในอ่าวไทยของเชฟรอนเมื่อ 15 ต.ค.
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย หลังประชุม นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการออกกฎกระทรวงของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เชิญชวนผู้สนใจยื่นคำขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ในแปลงสำรวจพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทยจำนวน 29 แปลง โดยกำหนดยื่นสัมปทานจนถึงวันที่ 18 ก.พ.2558

นายคุรุจิต เผยด้วยว่า เหตุที่ต้องเปิดสัมปทานแหล่งปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 เนื่องจากไทยต้องนำเข้าพลังงานปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะที่การผลิตไฟฟ้าต้องพึ่งก๊าซธรรมชาติเกือบร้อยละ 70 หากไทยไม่สามารถจัดหาปริมาณสำรองเพิ่มเติมได้ ในปี 2561 จะประสบปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ และจำเป็นต้องเสียเงินตราในการนำเข้าพลังงาน จึงต้องมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

ส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์จากการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 นี้ นายคุรุจิต บอกว่า ได้แก่ การเก็บค่าภาคหลวงในอัตราก้าวหน้า ร้อยละ 5-15 ,การเก็บภาษีเงินได้ ร้อยละ 50 จากกำไรสุทธิ และภาษีการเรียกเก็บเงินผลตอบแทนพิเศษ ร้อยละ 75 กรณีที่พบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ หรือเมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด นอกจากนี้ผู้ขอรับสัมปทานจะต้องเสนอผลตอบแทนพิเศษอื่นๆ ด้วย เช่น การสนับสนุนเงินเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น โดยแต่ละแปลงที่ได้สัมปทานจะต้องเสนอเงินไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านบาท ในช่วงสำรวจ หากสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ ต้องเพิ่มเงินสนับสนุนการศึกษาและบำรุงท้องถิ่นในแต่ละแปลงไม่ต่ำกว่าปีละ 2 ล้านบาท เงินให้เปล่าในการลงนาม 10 ล้านบาท ในทุกแปลง ยกเว้นแปลงในทะเล 3 แปลงที่เคยเจาะพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ ได้กำหนดที่แปลงละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนั้นยังจะมีการเรียกเก็บผลประโยชน์เพิ่มเติมในกรณีที่เอกชนสามารถผลิตได้ตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด โดยผู้สำรวจต้องจ่ายเงินให้เปล่าหากสามารถผลิตสะสมครบ 10 ล้านบาร์เรล ต้องจ่ายให้รัฐ 400 ล้านบาท ในแปลงบนบก และ 200 ล้านบาทในแปลงทะเล และเมื่อครบ 20 ล้านบาร์เรลต้องจ่ายเพิ่มอีกในอัตราดังกล่าวไปเรื่อยๆ นอกจากนี้หากผู้สำรวจพบแหล่งก๊าซปิโตรเลียมที่มีความสามารถในการผลิต ต้องเปิดให้บริษัทไทยเข้าไปร่วมทุนประกอบกิจการในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และที่สำคัญต้องใช้สินค้าและบริการในประเทศไทยเป็นอันดับแรก

นายคุรุจิต เผยอีกว่า ผู้ขอสำรวจสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 นี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เคยลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ,บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ,บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่(ประเทศไทย) นอกจากนี้ยังมีบริษัทใหม่ที่ไม่เคยลงทุนในไทย ซึ่งมีทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่การประชุม กพช.จะเริ่มขึ้น ได้มีภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวด้านพลังงาน ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน นำโดย พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 โดยเห็นว่า ขณะนี้มีคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ และมีแผนแม่บทปฏิรูปพลังงานแล้ว ควรชะลอการให้สัมปทานปิโตรเลียม ออกไปก่อน นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการเร่งรีบปรับขึ้นราคาก๊าซและน้ำมันในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน รวมทั้งเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปลดนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ,นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เนื่องจากไม่ได้ทำงานให้ประเทศชาติและประชาชนอย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม

ทั้งนี้ หลังทราบผลการประชุมว่า กพช.มีมติเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 เครือข่ายภาคประชาชนฯ ได้เดินทางไปยื่นถวายฎีกาที่พระบรมมหาราชวัง รวมทั้งเตรียมฟ้องต่อศาลปกครองในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านพลังงาน ,น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ,นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ,กลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน และนักวิชาการด้านพลังงาน ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านกรณีที่ กพช.มีมติเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21

โดย น.ส.รสนา ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเสียของการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รวมทั้งกังขาการกระทำของกระทรวงพลังงานว่าต้องการเปิดสัมปทานเพื่อเอื้อกลุ่มทุนรายเดิมหรือไม่ “ที่กระทรวงพลังงานระบุว่า ต้องเร่งให้สัมปทานเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เพราะปิโตรเลียมของประเทศไทยจะหมดภายในเวลา 8 ปี อันนี้เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและจงใจที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน เพราะข้อมูลที่อ้างนั้นเป็นการหมดอายุสัมปทานไม่ใช่ปิโตรเลียมทั้งหมด ซึ่งแหล่งสัมปทานที่จะใกล้หมดมี 2 แหล่งใหญ่ คือแหล่งบงกชของ ปตท.สผ.กับเอราวัณของเซฟรอน ที่ให้สัมปทานมาตั้งแต่ พ.ศ.2515 และจะหมดอายุปี 2565 ซึ่งเมื่อหมดอายุสัมปทาน แหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งต้องกลับมาเป็นของประเทศไทยตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 แต่การที่กระทรวงพลังงานเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ซึ่งอยู่รอบแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ทางกลุ่มฯ ขอตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการวางหมากที่จะแก้กฎหมายในการต่อสัมปทานให้กับแหล่งเดิมหรือไม่”

น.ส.รสนา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม โดยเปิดในพื้นที่ใหม่ด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกาะอยู่บนพื้นที่พิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งอยู่ใกล้กับแหล่งนงเยาว์และแหล่งจัสมินของมูบาดาลา ของเพิร์ลออย เป็นการวางหมากที่จะยอมรับพื้นที่ระหว่างไทยกับกัมพูชาใช่หรือไม่ เพราะการเปิดสัมปทานตรงนี้ถือเป็นพื้นที่พิพาท ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน เท่ากับทำให้ไทยยอมรับเส้นแบ่งเขตเหล่านี้ใช่หรือไม่

ขณะที่พื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 23 แปลงที่จะเปิดสัมปทานด้วยนั้น น.ส.รสนา ก็เตือนว่า จะกระทบสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรง ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้สำรวจมาแล้วว่าเป็นแหล่งเชลล์ก๊าซ เป็นหินดินดานข้างใต้ การจะนำก๊าซเหล่านี้มา ต้องใช้วิธีแฟรคกิ้ง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เพราะเมื่อขุดเจาะจะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ออกมา และจะกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมทั้งภาค

ทั้งนี้ น.ส.รสนา ได้ขอให้มีการทบทวนและหยุดเปิดสัมปทานปิโตรเลียม เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นประโยชน์ที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่กระทรวงพลังงานที่จะตัดสินใจตามอำเภอใจ หาไม่แล้วภาคอีสานทั้งภาคจะได้รับผลกระทบแน่นอน

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ชี้แจงว่า การอนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานในการจัดหาแหล่งพลังงาน เพื่อให้มีใช้อย่างเพียงพอภายในประเทศ ซึ่งต้องฟังข้อมูลทั้งจากส่วนราชการและภาคประชาชน แต่ปัญหาวันนี้คือไม่ยอมฟังข้อมูลซึ่งกันและกัน แล้วไปบอกว่ามันผิดหรือถูกอย่างไร หากพูดคนละประเด็นอย่างนี้คงไปกันไม่ได้

ส่วนกรณีที่ น.ส.รสนา เรียกร้องให้ปฏิรูปพลังงานก่อน แล้วค่อยเปิดสัมปทานปิโตรเลียมนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณไม่สนใจ โดยบอกให้ น.ส.รสนาไปคุยเรื่องปฏิรูปพลังงานใน สปช. “ผมพูดไปแล้วว่า ขอให้ไปปฏิรูปในกลุ่มของท่าน ท่านบอกว่าน้ำมันเรามี ก็ต้องหาคำตอบมาให้ได้ก่อนว่ามีจริงหรือไม่ ในประเทศมีมากเพียงพอหรือเปล่า แล้วน้ำมันที่มีอยู่สามารถกลั่นใช้ได้พอภายในประเทศหรือไม่ ก็ต้องไปดูแล้วหาคำตอบมา ถ้ามีจริงก็ไปดูในเรื่องของโรงกลั่น จากนั้นก็ไม่ต้องซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ ถามว่าทำได้จริงหรือเปล่า แต่ระหว่างการไปศึกษาและพิจารณา จุดนี้ก็ต้องเดิน เพราะเราใช้น้ำมันต่อวันจำนวนมาก ยืนยันว่าผลประโยชน์ของรัฐไม่มีเปลี่ยน...”

ด้านนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ยืนยันว่า จะไม่มีการทบทวนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 แน่นอน เพราะเป็นมติ กพช.และผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว หลังจากนี้จะดำเนินการใน 2 ทาง คือชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจความจำเป็นในการเปิดสัมปทาน และเปิดให้เอกชนยื่นขอสำรวจสัมปทานอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม เพื่อคัดเลือกและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ขณะที่ น.ส.รสนา เผยว่า หลังจากนี้การเคลื่อนไหวพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม เป็นเรื่องของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยที่จะเคลื่อนไหวต่อไป ส่วนตนจะเสนอที่ประชุม สปช.เพื่อขอให้มีมติทบทวนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม และนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของการรัฐประหารของรัฐบาลชุดนี้

3.ครอบครัว 2 ผู้ต้องหาชาวพม่าคดีเกาะเต่าร้องขอความเป็นธรรม อสส.แล้ว พร้อมแฉ ลูกชายถูก ตร.ไทยขู่เผานั่งยาง-ฆ่าหั่นศพให้รับสารภาพ!

(บน) บิดามารดาของ 2 ผู้ต้องหาเดินทางมาไทยเพื่อพบลูกชาย พร้อมขอพระเมตตาในหลวงให้ช่วยเหลือลูกชาย และขอความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของไทยด้วย (ล่าง) นายวิน ซอ ตุน และนายซอ ลิน 2 ผู้ต้องหาชาวพม่า
ความคืบหน้าคดีข่มขืนและฆ่า น.ส.ฮันนาห์ วิทเธอร์ริดจ์ และนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. หลังจากนายวิน ซอ ตุน และนายซอ ลิน 2 แรงงานต่างด้าวชาวพม่า ตกเป็นผู้ต้องหา ขณะที่หลายฝ่ายกังขาว่าผู้ต้องหาทั้งสองอาจเป็นแพะ ซึ่งตำรวจได้ส่งสำนวนและพยานหลักฐานให้อธิบดีอัยการภาค 8 เพื่อส่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย แต่อัยการให้ตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มและสอบเพิ่มบางประเด็น จึงยังไม่ได้ส่งฟ้องผู้ต้องหา แต่ขอศาลสืบพยานล่วงหน้าแล้วเมื่อวันที่ 14 ต.ค. โดยอ้างว่ากลัวพยานหลบหนี ขณะที่มีรายงานว่า ทางครอบครัวของ 2 ผู้ต้องหาเตรียมเดินทางมาไทย เพื่อขอพบลูก เพราะไม่เชื่อว่าลูกฆ่าคนได้

ด้านทนายของผู้ต้องหา ได้ออกมาเผยก่อนหน้านี้ว่า 2 ผู้ต้องหาถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ แต่ตำรวจไทยยืนยันว่า ไม่มีการซ้อมแต่อย่างใด ขณะที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศอังกฤษ ได้เรียกอุปทูตไทยที่กรุงลอนดอนเข้าพบเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับการสืบสวนคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ จากนั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้เข้าชี้แจงเอกอัครราชทูตอังกฤษและเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ก่อนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ทางไทยจะรายงานความคืบหน้าของคดีให้ทั้ง 2 ประเทศทราบอย่างต่อเนื่อง และยินดีให้อังกฤษและพม่าส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาดูคดีนี้

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. สำนักข่าวเอพีรายงานว่า สำนักงานตำรวจลอนดอน ประเทศอังกฤษได้ออกแถลงการณ์ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของสกอตแลนด์ยาร์ดจะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อช่วยในเรื่องการสอบสวนคดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ และจะทำงานร่วมกับตำรวจไทยเพื่อให้แน่ใจได้ว่าคนที่ฆ่า น.ส.วิทเธอร์ริดจ์ และนายมิลเลอร์ ตัวจริงจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างยุติธรรมและโปร่งใส ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตำรวจอังกฤษเดินทางมาถึงไทยแล้วเมื่อวันที่ 22 ต.ค.

ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.พูดถึงกรณีที่รัฐบาลอังกฤษส่งตำรวจมาไทยว่า เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า ทางการไทยพร้อมและเต็มใจให้ทางอังกฤษส่งเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของตำรวจไทย แต่การดำเนินการทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน และว่า ไม่ใช่เฉพาะอังกฤษ ในส่วนของพม่า ก็ได้แจ้งไปว่าสามารถส่งเจ้าหน้าที่มาสนับสนุนหรือร่วมสังเกตการณ์ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำโดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ,พ.ต.อ.ประชุม เรืองทอง ผู้กำกับการ สภ.เกาะพะงัน หลังจากมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้ยื่นเรื่องขอให้ กสม.ตรวจสอบว่า 2 ผู้ต้องหาชาวพม่าถูกซ้อมทรมาณให้รับสารภาพหรือไม่

หลังประชุม นพ.นิรันดร์ แถลงว่า พ.ต.อ.ประชุม ยืนยันว่า เมื่อจับกุมผู้ต้องหาได้และนำตัวมาโรงพัก ไม่มีการซ้อมทรมาณ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการซ้อมและทรมาณเกิดขึ้นในขั้นตอนใด เพราะกระบวนการสืบสวนของแต่ละหน่วยงานที่ลงไป ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ ดังนั้นวันที่ 27 ต.ค.เวลา 10.00น.ทางอนุกรรมการจะเชิญตัวแทนจากชุดสืบสวนทั้งหมดมาชี้แจงข้อมูลอีกครั้ง

นพ.นิรันดร์ เผยด้วยว่า จากการลงพื้นที่เกิดเหตุกับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ และไปคุยกับ 2 ผู้ต้องหา ได้ข้อมูลตรงกันว่า เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมซ้อม ทุบตี ทำร้าย โดยใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว จากการตรวจร่างกายเบื้องต้นพบจุดกดเจ็บที่หน้าอกของผู้ต้องหา 1 ราย ยังไม่ทราบว่าเป็นการเจ็บของกระดูกหรือกล้ามเนื้อ และว่า อนุกรรมการจะทำจดหมายถึงผู้บัญชาการเรือนจำเกาะสมุย ขอให้เอกซเรย์ผู้ต้องหาเพื่อดูว่ามีร่องรอยบาดแผลหลงเหลืออีกหรือไม่

วันต่อมา(21 ต.ค.) นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ พร้อมด้วยทีมทนายความจากสภาทนายความ ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการจังหวัดเกาะสมุย เพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้นายวินและนายซอ 2 ผู้ต้องหา โดยระบุว่า ผู้ต้องหาถูกบังคับให้สารภาพ ,ถูกล่ามชาวพม่าใช้เท้าถีบหน้าอก และขอเปลี่ยนล่าม เพราะไม่มั่นใจในคำแปลภาษาของล่าม นายรัษฎา เผยด้วยว่า นายวินและนายซอปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

ขณะที่ทางครอบครัวของนายวินและนายซอได้เดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ต.ค. โดยพ่อแม่ของนายวินและนายซอมาพร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และป้ายกระดาษที่มีลายมือเขียนว่า “เรารักในหลวง” โดยทั้งหมดมีสีหน้าเคร่งเครียดและร้องไห้เมื่อเห็นสื่อมวลชน ก่อนพูดว่า ขอพระเมตตาจากในหลวงให้ช่วยเหลือลูกชายและขอความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมของไทยด้วย

จากนั้นวันที่ 24 ต.ค.ทั้ง 2 ครอบครัวได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำอำเภอเกาะสมุย หลังเข้าเยี่ยม นายทัน ทัน ไต บิดาของนายวิน ซอ ตุน เผยว่า ลูกพูดทั้งน้ำตาว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุ ที่รับสารภาพเพราะถูกซ้อมและบังคับให้สารภาพ จึงหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความเป็นธรรมกับลูก จากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของสถานทูตพม่า ได้นำนายทัน ทัน ไต และคณะเข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยยื่นผ่านอัยการจังหวัดเกาะสมุย

ขณะที่สื่อพม่าอย่างหนังสือพิมพ์ เดโมเครติก วอยซ์ ออฟ เบอร์มา รายงานว่า นายทัน ทัน ไต บิดาของนายวิน ซอ ตุน ย้ำว่า ลูกชายและนายซอ ลิน ไม่ได้ฆ่า 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ หรือข่มขืนแต่อย่างใด แต่ที่ยอมรับสารภาพ เพราะถูกเจ้าหน้าที่ที่สอบปากคำขู่จะฆ่า “ลูกชายของผมและเพื่อนบอกกับผมว่า พวกเขาถูกตำรวจไทยและล่ามแปลภาษาทรมาณทางร่างกาย เจ้าหน้าที่สอบปากคำบอกให้พวกเขายอมรับสารภาพ พร้อมกับขู่ตัดแขนขาเอาใส่ถุงและไปทิ้งลงแม่น้ำ หากไม่ยอมทำตาม นอกจากนี้ตำรวจยังขู่มัดเด็กชาย 2 คนติดกับยาง ราดเบนซินและจุดไฟเผา ลูกชายผมบอกว่าเขากลัวมาก เลยยอมรับสารภาพ แต่ตอนนี้พอครอบครัวและเจ้าหน้าที่พม่าปรากฏตัว พวกเขาจึงสามารถพูดความจริงได้แล้ว พวกเขาไม่ได้ก่อเหตุฆาตกรรม”

4.สุดอำมหิต! เมียเรียกผัวเก่าช่วยฆ่าหั่นศพครูญี่ปุ่น พบก่อนหน้าเคยผลักสามีชาวญี่ปุ่นตกบันไดดับ ก่อนรับเงินประกันหลายล้าน!

(บน) โฉมหน้านายสมชายและนางพรชนก ผู้ต้องหาฆ่าหั่นศพ (ล่างขวา) ชิ้นส่วนศพนายโยชิโนริ ครูสอนภาษาชาวญี่ปุ่น (ล่างซ้าย) บุตรสาวนายทานากะ อดีตสามีนางพรชนกที่ถูกผลักนายสมชายผลักตกบันไดเสียชีวิต
ความคืบหน้ากรณีนายเทสซึโอะ ชิมาโตะ ชาวญี่ปุ่น เข้าแจ้งความที่ สน.ห้วยขวางเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ว่า นายโยชิโนริ ชิมาโตะ อายุ 79 ปี บิดา ซึ่งทำงานเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นพบว่า นางพรชนก ไชยะปะ อายุ 47 ปี เพื่อนสาวคนสนิทนำบัตรเอทีเอ็มของนายโยชิโนริไปกดเงิน 14 ครั้ง ได้เงินไปกว่า 7 แสนบาท ตำรวจจึงแจ้งข้อหาลักทรัพย์ ก่อนยื่นขอประกันตัวในชั้นศาล และหลบหนีไป ซึ่งตำรวจได้เร่งติดตามตัวมาสอบปากคำเพิ่มหลังสืบสวนเชื่อว่านางพรชนกน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายโยชิโนริ

กระทั่งทราบว่าหลบหนีไปอยู่ที่บ้านนายสมชาย แก้วบางยาง อายุ 47 ปี สามีเก่า อาชีพขับรถแท็กซี่ อยู่ที่ จ.อ่างทอง ก่อนนำตัวมาสอบสวน ซึ่งเบื้องต้นนางพรชนกให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 21 ก.ย.นายโยชิโนริป่วยกระทันหันระหว่างเดินทางไปสอนภาษาญี่ปุ่นที่เคหะบางพลี จึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลบางนา 2 ก่อนพาไปส่งขึ้นรถไฟฟ้าที่สถานีอุดมสุข และไม่ได้เจอกันอีก

อย่างไรก็ตามนายสมชายรับสารภาพว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.นางพรชนกพานายโยชิโนริไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลบางนา 2 ขากลับเกิดมีปากเสียงกันรุนแรง เนื่องจากนายโยชิโนริต้องการให้นางพรชนกมาอยู่กินด้วย แต่นางพรชนกปฏิเสธ เนื่องจากมีสามีและลูกแล้ว ระหว่างนั้นนางพรชนกจึงให้นายโยชิโนริกินยา กระทั่งช็อกและหมดสติ จึงขับรถกลับมาที่บ้านออร์คิดวิลล่า ก่อนจะโทรศัพท์เรียกนายสมชายมาที่บ้าน และตัดสินใจฆ่าหั่นศพนายโยชิโนริ โดยชำแหละศพในห้องน้ำชั้น 2 ของบ้าน ก่อนนำชิ้นส่วนศพใส่ถุงปุ๋ยไปทิ้งที่คลองนางทิ้ม ใกล้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตบางนา อ.บางบ่อ จ.สมุทปราการ

ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ระดมชุดประดาน้ำลงพื้นที่ค้นหาถุงบรรจุชิ้นส่วนศพที่คลองนางทิ้ง กระทั่งพบถุงปุ๋ยบรรจุอวัยวะมนุษย์จำนวน 4 ถุง จากการตรวจสอบดีเอ็นเอพบว่าตรงกับนายเทสซึโอะ บุตรชาย จึงยืนยันได้ว่าชิ้นส่วนมนุษย์ที่พบในถุงปุ๋ยคือนายโยชิโนริจริง ด้านนายเทสซึโอะ บุตรชายนายโยชิโนริ บอกว่า รู้สึกช็อคและเสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะรู้สึกไม่พอใจในการกระทำของคนร้าย แต่ยังมีความรู้สึกที่ดีกับคนไทยและประเทศไทย

ทั้งนี้ หลังจากตำรวจได้แยกสอบปากคำนายสมชายและนางพรชนกอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ปรากฏว่า ทั้งคู่สารภาพแล้วว่า ได้ร่วมกันใช้หมอนปิดจมูกนายโยชิโนริจนขาดอากาศหายใจ ก่อนยกร่างไปชำแหละในห้องน้ำ ซึ่งตำรวจได้ตั้งข้อหานายสมชายและนางพรชนกฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ ก่อนนำตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพเมื่อวันที่ 24 ต.ค. จากนั้นวันที่ 25 ต.ค.ได้นำตัวทั้งคู่ไปขอศาลฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมีข่าวตำรวจจับกุมนายสมชายและนางพรชนกคดีฆ่าหั่นศพนายโยชิโนริ ครูสอนภาษาชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่า ได้มีนางเคโกะ มัสตา อายุ 31 ปี บุตรสาวลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นของนายคาชิโตะ ทานากะ อดีตสามีนางพรชนกที่เสียชีวิตจากการตกบันไดเมื่อปี 2546 เดินทางมาพบตำรวจ ขอให้รื้อคดีการเสียชีวิตของบิดาว่าเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรมกันแน่ เพราะรู้สึกคาใจมาตลอด และว่า ก่อนบิดาเสียชีวิตเคยบอกกับลูกๆ 6 คนว่า ได้ทำประกันให้กับลูกๆ ถ้าพ่อเสียชีวิต ลูกจะได้เงินประกันคนละ 1 ล้าน แต่หลังจากบิดาเสียชีวิต นางพรชนกนำเอกสารมาให้เซ็น อ้างว่าเป็นเอกสารมอบอำนาจจัดงานศพ กระทั่งมาทราบภายหลังจากบริษัทประกันว่า นางพรชนกเป็นผู้รับเงินประกันไปหมดแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากตำรวจตรวจสอบคดีนี้ใหม่ ปรากฏว่านายสมชายรับสารภาพแล้วว่า เป็นผู้ลงมือผลักนายทานากะ สามีคนที่ 2 ของนางพรชนกตกบันไดเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2546 ซึ่งตำรวจได้นำตัวนายสมชายและนางพรชนกไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพกรณีผลักนายทานากะตกบันไดเสียชีวิตที่อาคารพาณิชย์ย่านบางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. โดยพยานบุคคลในคดีนี้ก็คือ นายสมศักดิ์ แซ่ลิ้ม น้องชายของนายสมชาย ที่บอกว่า นายสมชายและนางพรชนกสั่งว่า หากใครถามก็ให้บอกว่า นายทานากะตกบันไดเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ ตำรวจจึงตั้งข้อหาทั้งคู่ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ สรุปสำนวนเสนออัยการเพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น