xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กฎอัยการศึก - บิ๊กตู่อุ้มสม เปิดสัมปทานพลังงานรอบ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มแปลงในอ่าวไทย
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การใช้อำนาจปิดปากประชาชนที่เรียกร้องให้ปฏิรูปพลังงานแล้วหันมาเอาใจกลุ่มทุนพลังงาน ทั้งการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมใหม่ รอบที่ 21  และการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีของรัฐบาลทหารที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปิดไฟเขียวอนุมัติ เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมายเท่าใดนัก หากย้อนกลับไปต่อจิ๊กซอว์ตั้งแต่คลิปฉาวเรื่อยมาจนถึงการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน

งานนี้ จึงเหมือนตอกย้ำให้รู้กันชัดๆ ไปเลยว่า รัฐบาลทหาร รัฐบาลเลือกตั้ง กลุ่มอำมาตย์ กลุ่มอำนาจใหม่ กลุ่มทุนพลังงาน ที่เกี่ยวโยงไปถึงสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ การต่ออายุสัมปทาน การปรับขึ้นราคาพลังงาน ขุมทรัพย์ปิโตรเลียมในเขตทับซ้อนทางทะเลหรือเจดีเอไทย-กัมพูชา และอะไรอีกสารพัดที่จะตามมานั้น มันเป็นเรื่องสะท้อนว่าผลประโยชน์ต้องมาก่อนเหนือสิ่งอื่นใดล้วนๆ
ถือเป็นการปฏิรูป ปฏิเลือกเพื่อเครือปตท.และทุนข้ามชาติ เรียบร้อย อยากได้อะไร ขอให้บอก “กพช.บิ๊กตู่”  จะจัดให้

ส่วนประชาชน ไม่เกี่ยว ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานไม่เกี่ยว กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานก็ไม่เกี่ยว ประชาชนนอกจากจะถูกปิดปากห้ามพูดห้ามวิพากษ์วิจารณ์แล้วยังถูกมัดมือมัดเท้ารอให้ผู้มากบารมีในบ้านนี้เมืองนี้บรวมหัวกับโจรใส่สูทปล้นกลางแดดโดยไม่มีทางเลือกอีกด้วย  
การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่ได้รับการอนุมัติในที่ประชุมกพช.เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2557 นั้น นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน อ้างถึงความสำคัญในการจัดหาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อความมั่นคงในอนาคตตามสูตรสำเร็จ

ตามมาด้วยคำอธิบายจากนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่เอ่ยอ้างว่า ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานมูลค่าปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยนำเข้าน้ำมันดิบ ประมาณ 85% และก๊าซธรรมชาติประมาณ 15% ของความต้องการใช้ภายในประเทศ และการใช้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบที่ 21 ซึ่งมีทั้งหมด 29 แปลง

แปลงสัมปทานรอบนี้ ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง ภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง พื้นที่ 5,458.91 ตารางกิโลเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง พื้นที่ 49,196.40 ตารางกิโลเมตร และแปลงในทะเลอ่าวไทย จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 11,808.20 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกรมฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้รมว.ลงนามอนุมัติแนวทางการเปิดให้ยื่นสัมปทานแล้ว โดยผู้สนใจยื่นคำขอได้ภายในวันที่ 18 ก.พ. 2558

รองปลัดกระทรวงพลังงาน ยังโอ่ด้วยว่า การเปิดสัมปทานครั้งนี้ หลีกเลี่ยงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A เขตอนุรักษ์และรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และใช้ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส (Thailand (III) Plus) ซึ่งเพิ่มผลประโยชน์จากระบบไทยแลนด์ทรีเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2532 คือ การเก็บค่าภาคหลวงในอัตรา 5 - 15 % จากรายได้การขายปิโตรเลียม, เก็บเงินภาษีเงินได้ 50% จากกำไร, การเรียกเก็บเงินผลตอบแทนพิเศษเมื่อมีกำไรหลังคืนทุนแล้ว

นอกจากนี้ ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัสจะจัดเก็บผลประโยชน์เพิ่มถึง 2 ส่วนสำคัญ คือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือ Signature Bonus เมื่อมีการลงนามกับเอกชนที่ได้รับสัมปทาน แม้จะสำรวจพบปิโตรเลียมหรือไม่ และการเรียกเก็บผลประโยชน์เพิ่มเติม เมื่อเอกชนสามารถผลิตได้ตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด หรือ Production Bonus ซึ่งหากมีผู้มายื่นขอทุกแปลงที่เปิดให้มีการยื่นขอครั้งนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนประเทศไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

การอนุมัติเปิดสัมปทานดังกล่าว สะท้อนชัดว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ฟังเสียงของภาคประชาชนที่ให้ศึกษาเปลี่ยนแปลงระบบจากการให้สัมปทาน เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแม้แต่น้อย แล้วเหตุใดทำไมไม่ศึกษาเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับระหว่างสองระบบนี้เสียก่อน มิหนำซ้ำ ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ ด้วยว่า ทำไมถึงไม่รอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ามาพิจารณาเรื่องนี้ก่อนที่จะชี้ขาด

ท่านผู้นำอย่าหงุดหงิด หากทำเช่นนี้แล้ว จะมีเสียงครหานินทาตามมาว่า เร่งรีบและงุบงิบสนองความต้องการของกลุ่มทุนพลังงานเป็นที่ตั้ง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่มีความหวังใดๆ หลงเหลืออยู่สำหรับการปฏิรูปพลังงานที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปประเทศ คำโฆษณาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และคสช. ที่มุ่งหวังให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสงบสุข เป็นเพียงคำลวงหลอกล่อให้ชาวประชามโนกันไปเท่านั้น

ไม่ใช่แค่การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน กพช. ยังไฟเขียวให้ปรับราคาก๊าซแอลพีจีโดยทยอยขึ้นไปตามขั้นบันได โดยให้เหตุผลว่าต้องปรับไปให้ได้ราคาที่แท้จริง (ราคาตลาดโลก) ไม่อย่างนั้นจะบิดเบือนราคากลไกของน้ำมันเชื้อเพลิงหมด

“ต้องยอมรับกันบ้าง ไม่อย่างนั้นมันจะเสียหาย วันหน้าไปไม่ได้ วันนี้ถ้ารัฐบาลดูแลไปเรื่อยๆ อุดหนุนกันหมด วันข้างหน้าประเทศจะไปกันอย่างไร เดินหน้าไม่ได้เลย” พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน กพช. อธิบายเหตุผล เป็นเหตุผลที่เหมือนดังคำกล่าวอ้างของกลุ่มทุนพลังงานและนอมินีมิผิดเพี้ยน

ทันทีที่ กพช. ไฟเขียวเปิดสัมปทานรอบใหม่ ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ก็ซัดเปรี้ยงเข้าให้ว่า การให้สัมปทานปิโตรเลียมของไทยตลอด 20 ครั้งที่ผ่านมา มีลักษณะปกปิดซ่อนเร้นผลการประมูล ใครจ่ายเท่าไร สัญญาสัมปทานเป็นอย่างไร รายได้รายจ่ายแต่ละแปลงสัมปทานมากน้อยแค่ไหน ตัวเลขที่นำมากล่าวอ้างว่า รัฐได้ร้อยละ 70 ไม่มีใครรู้นอกจากผู้รับสัมปทานและเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเท่านั้น ถามว่าผู้มีอำนาจหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 เคยเห็นรายละเอียดเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่ก็ไม่ควรอนุมัติเปิดสัมปทานรอบที่ 21  

ทั้งนี้ ก่อนที่ “กพช.บิ๊กตู่” จะอนุมัติเปิดสัมปทานรอบนี้ และนายณรงค์ชัย จะเร่งต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุประมาณปี พ.ศ. 2565 - 2566 ซึ่งเชฟรอนและปตท.สผ.ถือครองอยู่ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ มีเรื่องประจวบเหมาะพอดิบพอดีที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานได้จดจำ

นั่นก็คือ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2557 สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอนางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนพ.ย.นี้ นำคณะไปเยือนแท่นผลิตน้ำมันและก๊าซฯ ณ แหล่งปลาทอง กลางอ่าวไทยของบริษัทเ ชฟรอน ซึ่งห่างจากชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 200 กม. เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา
เฟซบุ๊ก U.S. Embassy Bangkok ของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ยังอวดโอ่และทวงบุญคุณใหญ่โตด้วยอีกว่า เชฟรอนสนับสนุนการจ้างงานในประเทศไทยกว่า 2 แสนตำแหน่ง และก่อให้เกิดรายได้แก่รัฐบาลไทยรวมแล้วกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 300,000 ล้านบาท ในช่วง 32 ปีที่ผ่านมา แถมยังบริจาคเงินให้ทุนการศึกษาแก่เด็กไทยอีกหลายสิบล้าน
นั่นเป็นสิ่งที่เชฟรอนบอก แต่ข้อมูลอีกด้านที่ ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี บอกก็คือ ในความเป็นจริงแล้ว ค่าภาคหลวง ค่าภาษีของรายได้ปิโตรเลียมไทยที่ผู้รับสัมปทานควรได้รับ คือ 3 ล้านล้านบาท เพราะแค่สัมปทานแหล่งปลาทองแหล่งเดียวก็มีมูลค่าถึง 40,000 ล้านบาทต่อปีเข้าไปแล้ว      

 “บ่อขุดเจาะน้ำมันแหล่งปลาทอง เป็นพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีคอนเซนเทรตอยู่เยอะ ซึ่งก็คือม้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลที่พวกเราใช้กันอยู่ ดีกว่าน้ำมันเตา โดยแหล่งปลาทองสามารถสูบน้ำมันได้กว่า 9,000 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซ 336 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมมูลค่า 40,000 ล้านบาทต่อปีจากทั้งหมด” ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ

น่าสงสัยอย่างยิ่ง ระหว่าง 3 แสนล้านบาท แต่สิบเปอร์เซ็นต์ของ 3 ล้านล้านบาท ห่างกันลิบลับเช่นนี้ แล้วชาวประชาจะเชื่อใครดี?

สำหรับยักษ์ใหญ่เชฟรอนจากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ, ปลาทอง และแหล่งสตูล โดยเป็นผู้ลงทุนต่างชาติด้านพลังงานอันดับหนึ่งในไทย รองลงไปคือยักษ์ใหญ่พลังงานของไทย ปตท.สผ. ในเครือปตท. ซึ่งทั้งเชฟรอนและปตท.สผ.ที่ถือครองสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกชตามลำดับนั้น ทั้งสองแหล่ง มีกำลังการผลิตก๊าซฯ คิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตก๊าซทั้งประเทศที่ 3.8 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

จะเรียกว่างานนี้ “ขาใหญ่” กดดันให้ “กพช.บิ๊กตู่” รีบตัดสินใจคงไม่ผิดนัก และเชื่อแน่ว่าคงมาพร้อมเงื่อนไขต้องไม่นำเอา “ระบบแบ่งปันผลผลิต” มาใช้เป็นอันขาด การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จึงใช้ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส (Thailand (III) Plus) อย่างที่เห็น และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็แน่เสียยิ่งกว่าแช่แป้งว่า จะมีการต่ออายุด้วยระบบสัมปทานแบบเดิม ไม่มีเรื่อง “ระบบแบ่งปันผลผลิต” หรือ “รับจ้างผลิต” ดังที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้ต้องระคายเคืองกลุ่มทุนพลังงานเป็นอันขาด โปรดมั่นใจ

แต่การใช้อำนาจบาตรใหญ่เดินหน้าไม่ฟังเสียงใครท่ามกลางข้อสงสัยต่างๆ นาๆ ครานี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบรัฐบาลทหารก็อาจเป็นได้ เพราะหลังจาก “กพช.บิ๊กตู่” ไฟเขียวสัมปทานเท่านั้นแหละ กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน ก็ออกโรงแถลงเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2557 พร้อมออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้รัฐบาลอย่างแน่นอน ทั้งที่สถานการณ์ตอนนี้ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) จะยังประกาศใช้กฎอัยการศึก ที่ทหารมีอำนาจเต็มอยู่ก็ตาม

น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชี้ให้เห็นการหมกเม็ดในการเปิดสัมปทานรอบนี้ว่าเร่งรีบไม่ยอมรอ สปช. พิจารณาก่อน ซ้ำยังบิดเบือนข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าแหล่งปิโตรเลียมจะหมดภายใน 8 ปี หากไม่สำรวจเพิ่ม ทั้งที่จริงเป็นเรื่องของแหล่งสัมปทานเดิมคือ แหล่งเอราวัณและบงกชจะหมดอายุสัมปทานลง

ที่สำคัญคือ สัมปทานรอบใหม่นี้มีการเพิ่มแปลงสำรวจเพิ่ม โดยเฉพาะแปลงใหม่ 1/57 ที่ใกล้กับพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าจะเป็นการวางหมากให้ไทยยอมรับเส้นแบ่งเขตที่ยังเป็นปัญหาข้อพิพาทอยู่หรือไม่ และจงจงใจให้กลุ่มผู้รับสัมปทานเดิมได้รับประโยชน์หรือไม่

แต่ที่ดุเดือดเห็นจะเป็นถ้อยแถลงของ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ซึ่งนอกจากจะตั้งคำถามกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ว่า ทำตามสิ่งที่รัฐบาลเดิมวางเอาไว้จนหมดสิ้นทั้งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และขึ้นราคาแอลพีจี แล้ว ยังเตรียมเคลื่อนไหวโดยไม่หวั่นกฎอัยการศึกด้วย

“...ถ้ายังดื้อดึงไม่รอการปฏิรูปพลังงานจะเห็นการชุมนุมกลับมาอีก ซึ่งครั้งนี้เป็นระหว่างทหารกับคนที่รักชาติ” น.ส.บุญยืน ท้าทายอย่างไม่หวั่นเกรง

"กพช.บิ๊กตู่" เลือกแล้วว่ายืนอยู่ข้างกลุ่มทุนพลังงาน นับจากนี้ขึ้นอยู่กับว่ามวลมหาประชาชนจะยังมโนอยู่ต่อไปอีกหรือไม่ หรือจะตื่นจากฝันหันมามองความจริงกันได้แล้ว
ลุ่มแปลงในภาคเหนือและภาคกลาง
กลุ่มแปลงในภาคอีสาน
ซัดโยนเศษเงินคืนแค่10%จาก3ล้านล้าน ‘รสนา’ขู่ก่อม็อบต้านทุรังสัมปทานรอบ21
ซัดโยนเศษเงินคืนแค่10%จาก3ล้านล้าน ‘รสนา’ขู่ก่อม็อบต้านทุรังสัมปทานรอบ21
รสนาแกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ขู่กลับมาชุมนุมอีกครั้ง หากรัฐบาลยังดันทุรังเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หวังประเคนขุมทรัพย์ให้กลุ่มทุนพลังงาน จวกนโยบายเดินตามก้นระบอบแม้ว หมกเม็ดเปิดแปลงสัมปทานใหม่พื้นที่ใกล้กัมพูชาเสมือนให้ยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนพื้นที่พิพาท ด้านมล.กรกสิวัฒน์ เผยรายได้สัมปทานตลอด 32 ปี มูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท จ่ายให้รัฐแค่ 10% แนะครม. ถ้าไม่ทราบรายละเอียดสัมปทาน ไม่ควรเปิดประมูล อภิสิทธิ์เตือนลอยตัวราคาพลังงานอิงตลาดโลกฉุดกำลังซื้อประชาชน ยิ่งทำเศรษฐกิจทรุด
กำลังโหลดความคิดเห็น