ASTVผู้จัดการรายวัน-"บิ๊กตู่"ลั่นเดินหน้าปรับโครงสร้างพลังงาน ส่งสัญญาณประชาชนยอมรับการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มอีก หวังให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รัฐจะอุ้มตลอดไปไม่ได้ กพช.ไฟเขียวเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้เอกชนยื่นถึง 18 ก.พ. กางแผนที่มี 29 แปลงทั้งบนบกและในทะเล ด้านเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชนบุกทำเนียบ ยื่นหนังสือ "บิ๊กตู่" เบรกให้สัมปทาน พร้อมจี้ปลด "ณรงค์ชัย-อารีพงศ์-คุรุจิต-พรชัย" เหตุไม่ได้ทำงานให้ประเทศและประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปิดเผยหลังการประชุมกพช.ว่า กระทรวงพลังงานได้รายงานถึงแนวทางการจัดหาพลังงานในอนาคตที่จะต้องมาวางหรือจัดระเบียบให้ชัดเจนทั้งพลังงานที่ผลิตได้เอง การนำเข้า โดยเฉพาะพลังงานทดแทนในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากขยะจะต้องสอดรับกับการกำจัดขยะของรัฐบาลที่ต้องมีโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อได้ทิศทางชัดเจนก็จะมองไปยังโครงสร้างราคาพลังงานต่างๆ ที่จะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงโดยเฉพาะก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จะต้องทยอยขึ้นไปตามขั้นบันไดเพื่อให้ไปสู่ราคาที่แท้จริง
“แอลพีจี ต้องทยอยขึ้นไปตามขั้นบันได เพราะต้องไปเจอราคาที่แท้จริง ไม่อย่างนั้นจะบิดเบือนราคากลไกของน้ำมันเชื้อเพลิงหมด ดังนั้น ต้องยอมรับกันบ้าง ไม่อย่างนั้นมันจะเสียหาย วันหน้าไปไม่ได้ วันนี้ถ้ารัฐบาลดูแลไปเรื่อยๆ อุดหนุนกันหมด วันข้างหน้าประเทศจะไปกันอย่างไร เดินหน้าไม่ได้เลย"
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจเรื่องพลังงาน เห็นว่ารัฐมนตรีพลังงานจะต้องดำเนินการพูดคุย หรือแก้ปัญหาให้เกิดรูปธรรมต่อไป เพราะทิศทางการใช้พลังงานในประเทศไม่แน่นอน ดังนั้น ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมมือกันส่งเสริมการใช้พลังงาน ทั้งจากขยะ และพืชพลังงาน เพื่อที่จะลดการนำเข้าพลังงาน ทั้งแก๊สหรือน้ำมัน
***กพช.รับทราบเปิดสัมปทานรอบ21
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กพช.ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) การจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน รวมถึงการเปิดให้ใช้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการจัดหาแหล่งพลังงานในประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อความมั่นคง
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบอัตราเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริงหรือ FIT (Feed in Tariff) ใช้แทนระบบการให้เงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้าหรือ ADDER แต่รายละเอียดอัตราจะเป็นเท่าใด ขอให้กระทรวงพลังงานกลับไปหารือรายละเอียดกับเอกชนอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ยังได้เห็นชอบการขยายรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากเป้าหมายเดิม 2,000 เมกะวัตต์เป็น 3,000 เมกะวัตต์ รวมถึงขยายระยะเวลาจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) จากเดิมภายในสิ้นปีนี้เป็นมิ.ย.2558 เป็นต้น
***เปิดให้สำรวจ29แปลงทั้งบนบก-ทะเล
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้รมว.พลังงานลงนามแนวทางการเปิดให้เอกชนยื่นสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ส่วนการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ของเชฟรอน และบงกช ของปตท.สผ.ที่จะหมดอายุประมาณปี 2556-2557 ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ I
ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ยังอยู่ขั้นตอนพิจารณารายละเอียดต่างๆ ว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดแน่
สำหรับสัมปทานรอบที่ 21 นี้ จะเปิดให้เอกชนที่มีคุณสมบัติตามกฏหมายยื่นสำรวจภายในวันที่ 18 ก.พ.2558 รวมระยะเวลาเปิดให้ยื่น 120 วัน โดยแปลงที่เปิดให้สำรวจมีทั้งสิ้น 29 แปลง ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง ภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง พื้นที่ 5,458.91 ตารางกิโลเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง พื้นที่ 49,196.40 ตารางกิโลเมตร ส่วนแปลงในทะเลอ่าวไทย จำนวน 6 แปลง พื้นที่ 11,808.20 ตารางกิโลเมตร ซึ่งยืนยันว่าการเปิดให้สำรวจจะหลีกเลี่ยงพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A เขตอนุรักษ์และรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ โดยใช้ระบบไทยแลนด์ทรีพลัส (Thailand (III) Plus) ซึ่งเพิ่มผลประโยชน์จากระบบไทยแลนด์ทรีเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2532
ประกอบด้วยการเก็บค่าภาคหลวงในอัตรา 5-15% จากรายได้การขายปิโตรเลียม, เก็บเงินภาษีเงินได้ 50% จากกำไร, การเรียกเก็บเงินผลตอบแทนพิเศษ เมื่อมีกำไรหลังคืนทุนแล้ว หรือเมี่อราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด การสนับสนุนเงินเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น (ช่วงสำรวจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ล้านบาท และช่วงผลิตจะได้ไม่น้อยกว่าปีละ 2 ล้านบาท), เสนอให้บริษัทไทยเข้าร่วมประกอบกิจการในอัตราไม่น้อยกว่า 5% และที่สำคัญต้องใช้สินค้าและบริการในประเทศของเราเป็นอันดับแรก
นอกจากนี้ ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส จะจัดเก็บผลประโยชน์เพิ่มถึง 2 ส่วนสำคัญ คือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือ Signature Bonus เมื่อมีการลงนามกับเอกชนที่ได้รับสัมปทาน แม้จะสำรวจพบปิโตรเลียมหรือไม่ และการเรียกเก็บผลประโยชน์เพิ่มเติม เมื่อเอกชนสามารถผลิตได้ตามเกณฑ์ที่รัฐกำหนด หรือ Production Bonusซึ่งหากมีผู้มายื่นขอทุกแปลงที่เปิดให้มีการยื่นขอครั้งนี้จะก่อให้เกิดการลงทุนประเทศไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
“เราต้องยอมรับว่าถ้าเราตั้งเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนให้กับรัฐมากเกินไป ก็จะทำให้ความสนใจที่เอกชนจะมายื่นลงทุนก็ไม่มีด้วย และกรณีที่เปิดแล้วมีเอกชนมายื่น ก็จะต้องเสนอกลับไปที่ ครม. อนุมัติ ซึ่งหากพบว่าข้อเสนอที่ยื่นมาน้อยเกินไป ก็มีสิทธิที่จะไม่ให้สัมปทานได้ ไม่ได้ยื่นมาแล้วต้องให้ทุกราย โดยการเปิดครั้งที่ 20 ให้ยื่นสำรวจ 28 แปลงก็ยังคืนมา 18 แปลง พบแหล่งปิโตรเลียมแค่ 1 แปลงเท่านั้น ซึ่งมีปริมาณแค่ 0.05 ล้านล้านลูกบาศ์ฟุต”นายคุรุจิตกล่าว
***จี้ปลด"ณรงค์ชัย-อารีพงศ์-คุรุจิต-พรชัย"
เมื่อเวลา 09.00 น. วันเดียวกันนี้ ที่บริเวณ หน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน กว่า 50 คน นำโดย พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ได้รวมตัวเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอยับยั้งการให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 และการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ก๊าซเอ็นจีวี
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังเรียกร้องขอให้ปลดนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีและสารสนเทศ เนื่องจากไม่ได้ทำงานให้ประเทศชาติ และประชาชนอย่างโปร่งใส
อย่างไรก็ตาม น.ส.วรรณาภรณ์ สวัสดอมงคล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิง เป็นตัวแทนออกมารับเรื่อง พร้อมระบุว่า ข้าราชการทุกคนทำงานเพื่อประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ขอให้ประชาชนเชื่อใจและจะรีบนำเรื่องไปแจ้งต่อนายกฯ ที่กำลังเป็นประธานประชุม กพช. ทันที
ทั้งนี้ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 2 กองร้อยเข้าควบคุมดูแลความเรียบร้อย ซึ่งได้เตรียมรถขยายเสียงและรถผู้ต้องขังจำนวน 2 คัน เข้ามาจอดในพื้นที่ ส่วนสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือให้ติดตามสถานการณ์บริเวณฝั่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเจรจาให้กลุ่มดังกล่าวข้ามมาอยู่ฝั่ง ก.พ.แต่ทางกลุ่มไม่ยินยอมโดยอ้างว่า อยู่ระหว่างการรวมกลุ่ม
***เหนือ-ใต้ค้านเปิดสัมปทานรอบ21
วันเดียวกัน เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากน้ำมันแพงจ.เชียงใหม่ นำโดยนางนิตยาพร สุวรรณชิน ผู้ประสานงานเครือข่าย นำสมาชิกยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านทางนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด
ขณะที่ในภาคใต้ "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" ที่เคยปฎิบัติการเดินเท้า "เดินวันละโยชน์ เพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ" จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร แต่ต้องยุติลงกลางคัน เมื่อมาถึงจ.ชุมพร เมื่อฝ่ายทหารสั่งให้ยุติการเดินนรณรงค์โดยเด็ดขาด หากต้องการนำเสนอประเด็นใด ให้ทำหนังสือเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เช่นกัน โดยยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ชุมพร พัทลุง
ต่อมาเมื่อ กพช. มีมติให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า กพช. ไม่ฟังเสียงท้วงติงจากภาคประชาชน ที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ทางเครือข่ายจึงต้องเคลื่อนไหวต่อไป โดยจะเรียกจะประชุมเครือข่ายขาหุ้นทั้งหมดเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกัน ซึ่งจะต้องทำกันในเชิงรุกมากขึ้น
ขณะเดียวกันเฟซบุ๊คขาหุ้น ยังประกาศเชิญชวนผู้ที่ไม่เห็นด้วย กับมติ กพช. ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กรณีรัฐบาลเห็นชอบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และให้ปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งจัดโดยกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ 23 ต.ค. เวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซอยราชวิถี 7 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้ร่วมเวที ประกอบด้วย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาปฏิรูปสายพลังงาน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตส.ว.สมุทรสงคราม และประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมทั้งนักวิชาการด้านพลังงาน อาทิ นายเดชรัต สุขกำเนิด รศ.ประสาท มีแต้ม นายศุภกิจ นันทะวรการ และนางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเซียตะวันออกเฉียงใต้